ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ทำอย่างไรจึงจะสวดมนต์ได้อย่างมีความสุข



ถาม - ผมมักจะหาวในขณะสวดมนต์ เกิดจากสาเหตุใดและควรแก้ไขอย่างไรครับ



อย่างบางทีถ้าเรากินอากาศเข้าไปมากๆ
มันก็อาจจะหาวได้ อันนี้เป็นหลักธรรมชาติ
วิธีสวดมนต์ของแต่ละคนแตกต่างกันนะ เสียงเหมือนกันแต่ว่าวิธีสวดแตกต่างกัน
ความรู้สึกต่างกัน จิตก็ต่างกัน
ปฏิกิริยาตอบสนองที่ออกมาจากทางกาย มันก็ไม่เหมือนกันด้วย
อย่างเวลาบางคนสวดมนต์ไป สวดนาน
แล้วก็ในขณะสวดมีอาการเคลิ้ม เคลิ้มไป
พอมันมีความสุข มันมีความรู้สึกดี มันมีความรู้สึกสบาย
มันก็อาการเดียวกับอาการง่วงนั่นแหละ
อาการง่วง เวลาคนเราง่วงมันก็หาวเป็นธรรมดา


ทีนี้จะหาวด้วยสาเหตุอะไร บางทีเราจาระไนกันยาก
เพราะว่าต้องมาสวดให้ดูถึงจะรู้นะครับว่ากินอากาศเข้าไปด้วยหรือเปล่า
หรือว่าสวดไปแล้ว มีความสุขสบาย สุขใจสบายใจ อยากหลับแค่ไหน
แต่ละคนแตกต่างกัน เรายังไม่ต้องไปลงรายละเอียดเป็นบุคคล
แต่ว่าให้คำแนะนำกว้างๆ เลยละกันถ้าหากว่าสวดมนต์แล้วง่วง สวดมนต์แล้วหาว
ขอให้ลองสังเกตว่าจังหวะหายใจของเรามีความสัมพันธ์กับการสวดแค่ไหนด้วย
ถ้าหากว่าจังหวะหายใจของเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับการสวด ส่วนใหญ่มันจะเกิดสมาธิ
แล้วถ้าหากว่ามุมมองในการสวดของเรา มุมมองภายในในการสวดของเรา
เป็นการตั้งใจถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา ไม่ได้มีเจตนาอื่นใดเคลือบแฝง
ไม่ได้แอบแฝงไปด้วยความโลภโมโทสัน อยากจะได้โน่นอยากจะได้นี่
สวดๆ ไปแล้วมันจะเกิดความรู้สึกมีความสุข อันเป็นเหตุสนับสนุนให้เกิดสมาธิ
ผมพูดถึงความสุขในแบบที่สนับสนุนให้เกิดสมาธิ
ไม่ได้พูดถึงความสุขในแบบที่จะทำให้เคลิ้มแล้วก็ง่วงเหงาหาวนอน


ทำอย่างไรถึงจะมีความสุขในการสวด
แบบที่ปรุงแต่งสติให้เกิดความตื่นรู้ มีความเบิกบาน
วิธีง่ายๆ นะ ให้สำรวจท่านั่งก่อน
ดูว่าท่านั่ง จะพับเพียบหรือนั่งท่าเทพบุตร หรือนั่งขัดสมาธิก็ตาม
อย่างเวลาผมสวดผมชอบนั่งขัดสมาธินะ สวดอยู่ในห้องพระ ไม่เป็นไรหรอก
ดูว่าคอตั้งหลังตรงดีไหม
แล้วเวลาที่เราสวด จิตมีความตรงเหมือนกับกายหรือเปล่า

คือกายมันมีความปรุงแต่งนะ สภาพกายเป็นเหตุปรุงแต่ง
ให้จิตมันเกิดความตรง มันเกิดความตื่นได้
คือถ้าคอตั้งหลังตรง พนมมือสวด อย่างนี้ จิตจะมีลักษณะตรง
อันนี้เขาถึงบอกว่าทำไมคนเราถึงควรจะคอตั้งหลังตรง
ก็เพราะว่ามันปรุงแต่งจิตให้มีสติได้มากกว่าที่จะนั่งหลังงอคุดคู้
เสร็จแล้วเวลาที่เราเปล่งเสียง ให้สังเกตนะครับว่า
เสียง เราได้ยินแล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร
ถ้าหากว่าเราได้ยินเสียงตัวเองแล้วชวนง่วง สันนิษฐานว่าตอนนั้นน่ะอาจจะงึมงำๆ อยู่
คือพอเสียงมันเป็นแบบคนง่วงหรือพร้อมที่จะง่วง
จิตมันก็จะถูกปรุงแต่งให้พร้อมที่จะง่วงเช่นกัน



แต่ถ้าหากว่าเปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำ ด้วยเจตนาว่าเราจะถวายแก้วเสียงนี้เป็นพุทธบูชา
อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ
คุณจะสังเกตได้ว่าสตินี่มันตื่น แล้วก็ยิ่งสวดนาน มันจะยิ่งมีความสว่าง
อาจจะถูกคลื่นความฟุ้งซ่านรบกวนบ้าง
แต่ในที่สุดแล้วคุณจะเห็นนะว่าโดยความตั้งใจสวดถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา
แล้วก็ยังคอตั้งหลังตรงอยู่อย่างนี้
มันจะทำให้ย้อนกลับมาหาความสว่าง หาความมีสติตื่นได้อยู่เรื่อยๆ
คลื่นความฟุ้งซ่านจะมาแค่ไหน เราเห็นเป็นส่วนเกินได้

เราเห็นเป็นอะไรที่ผ่านมาผ่านไปได้

นี่ตัวนี้นะ ถ้าเราเริ่มรู้สึกว่าคลื่นความฟุ้งซ่านหรือความง่วง
เป็นเพียงของแปลกปลอมผ่านมาแป๊บหนึ่งแล้วหายไป
ยังมีความเป็นหลักเป็นฐานของอาการคอตั้งหลังตรง จิตสว่าง จิตมีสติ
แล้วก็ถวายแก้วเสียงออกไปเต็มปากเต็มคำ
ตรงนี้ พูดง่ายๆ ว่ามีการพัฒนาขึ้นของสติ
แล้วก็เราจะสามารถสังเกตนะว่า
รอบหนึ่งสวดอิติปิโส จบรอบหนึ่ง มันมีความฟุ้งซ่านแค่ไหน
พอขึ้นรอบใหม่ รอบที่สอง รอบที่สาม รอบที่สี่
มันมีความฟุ้งซ่านแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละรอบ
นี่แหละมันจะพัฒนาจากการสวดมนต์ธรรมดา กลายเป็นการนั่งสมาธิอย่างดีเลย
การนั่งสมาธิแท้ที่จริง ก็คือการทำให้จิตของเรามีความสว่างอย่างต่อเนื่อง
ด้วยจิตที่จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นโทษ


ถ้าใครมีประสบการณ์สวดมนต์แล้วไม่อยากเลิกสวด
อยากสวดไปเรื่อยๆเพราะว่ามันมีความสุขเหลือเกิน
มันมีความวิเวกราวกับปลีกตัวไปอยู่ในป่าในเขา
ที่มันเงียบ ปราศจากผู้คน แล้วก็ไม่ต้องมีความวุ่นวาย
อันนั้นแหละคือตัวอย่างของการสวดจนกระทั่งเกิดสมาธิ
แต่ถ้าสวดไปหาวไปหรือว่าสวดแล้วเกิดความรู้สึกอยากลุกขึ้นไปนอน
ไม่อยากสวดให้จบ อยากลุกขึ้นไปนอนเดี๋ยวนี้แหละกลางคันเลย
อันนั้นก็ให้สันนิษฐานนะครับ ว่าท่าทีหรือว่ามุมมองภายในที่จะสวดมนต์
มันยังใช้ไม่ได้นะครับ


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP