ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

เหตุใดจึงถูกผู้อื่นเบียดเบียนอยู่เสมอ



ถาม – ถ้าเราไม่เคยทำร้ายใคร แต่ถูกผู้อื่นเบียดเบียนด้วยการกระทำและคำพูดอยู่เสมอ
สิ่งนี้เกิดจากกรรมใด และควรดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะเหมาะสมครับ


จริงๆ แล้วถ้าเรามอง มองอย่างคนไม่รู้
เราจะมองอย่างคนที่สำคัญว่าเกิดครั้งเดียวตายหนเดียว
คือทางวิทยาศาสตร์บอกว่าคนเราจะเริ่มจดจำ
จากสิ่งที่ตัวเองเห็นผ่านรูปกระทบตา แล้วก็เสียงกระทบหู
เสร็จแล้ว ๕ ขวบนะ ที่เคยเห็นที่เคยได้ยินอะไรมา
จะถูกลบด้วยเซลล์ใหม่ๆ ที่มันเกิดขึ้นมามากมายมหาศาลเลย
ช่วงตอน ๕ ขวบ มันจะมีเซลล์ใหม่ๆ เกิดขึ้น
แล้วเป็นเซลล์แบบว่ามาคล้ายๆ กับมาดีลีท (
delete) ข้อมูลฮาร์ดดิสก์ (hard disk) ทิ้ง ข้อมูลเดิม


มันก็เลยทำให้เรารู้สึกเป็นจริงเป็นจังว่าเราเป็นอย่างไรมาตั้งแต่เกิด
ถือว่าตัดสินว่าเรามีความเป็นคนอย่างนั้น
พอมาเชื่อเรื่องกรรม เราก็รู้สึกว่าเราทำกรรมมาแค่นี้
ทำแบบที่มันเห็นๆ ว่าไม่ได้เบียดเบียนใคร
ไม่ได้คิดกลั่นแกล้งใคร ไม่ได้คิดที่จะไปให้โทษให้ร้ายอะไรใคร
แต่ทำไมมันเจอแต่เรื่อง มันเจอแต่อะไรที่มันโดนคนเขาด่าสาดเสียเทเสีย
หรือไม่ก็มาใส่ไคล้ ทำให้เกิดความเสียหาย หรือว่าทำให้ชื่อเสียงพินาศป่นปี้
การที่เรารับรู้ตามธรรมชาติ มันไม่ใช่ความผิดว่าเราเป็นแค่คนดี เราไม่เคยเบียดเบียนใครมา
แต่โดยธรรมชาติของสังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิดนี้
มันไม่สามารถที่จะบอกได้หรือรับประกันให้ตัวเองได้หรอกว่า
เราเป็นคนใสซื่อ สะอาดบริสุทธิ์ ไม่เคยทำร้ายใคร เหมือนกับในชีวิตนี้ทุกครั้ง


การเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ มันเหมือนกับโยนขอนไม้ขึ้นไป
ไม่รู้ว่าจะตกหัว ตกท้าย หรือว่าตกกลาง ตัวขอนไม้นั่นน่ะที่มากระทบพื้น
มันเสี่ยงมากๆ ในแต่ละชาติที่เกิดมา
เทียบกับโยนลูกเต๋าก็ได้ ไม่มีทางรู้ โยนแบบไม่มีทริก (trick) โยนแบบมั่วๆ จริงๆ
ไม่สามารถบอกได้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย
คือกรรมที่ทำมา ในแต่ละชาติที่หลงผิดทำไป
หรือแม้แต่ในชาตินี้ บางทีอย่างที่บอก คนเรามันจะถูกลบความจำไปเรื่อยๆ
บางทีเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เบียดเบียนใคร บางทีเรารู้สึกว่าเราเป็นคนดีมาตลอด
แต่ถ้านึกดูดีๆ เราอาจจะเคยทำกับพ่อแม่ อาจจะเคยทำกับผู้มีพระคุณไว้

ด้วยความเป็นเด็ก แล้วเรานึกว่าเป็นเด็กไม่นับ ไม่ใช่นะ
ตั้งแต่เริ่มรู้ความ ตั้งแต่เริ่มคิดอะไรเองได้ ตั้งใจอะไรเองได้
อย่างผมเห็นเด็กบางคนนะ อายุแค่ขวบกว่าๆ
มันมีเจตจำนงแบบเดียวกันกับผู้ใหญ่ได้ คือตั้งใจ คิดอะไรยอกย้อนได้
แล้วก็มีความมุ่งมั่นรุนแรงแบบเดียวกับผู้ใหญ่เลย นั่นน่ะนับหมด


เพราะตัวกรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่ากรรมคือเจตนา เจตนาคือกรรม
แล้วเจตนาเจตสิก หรือว่าความปรุงแต่งจิตที่เกิดจากความเล็งไว้
ว่าจะเอาให้ได้ผลลัพธ์อะไรอย่างหนึ่งกับใคร เกิดขึ้นเมื่อไร มันเป็นกรรมหมด
คือจริงๆ ถ้าเอาตามอภิธรรม บอกด้วยซ้ำ
บอกว่าเจตนาเกิดขึ้นกับทุกดวงจิต มันเกิดประกอบจิตทั้งหมด
แต่เอาแบบที่ว่าเป็นบาปเป็นกรรมหรือเล็งว่าจะทำร้ายใคร
ตรงที่คุณว่าว่ามีการเบียดเบียน หรือว่ามีการใส่ไคล้หรืออะไรก็แล้วแต่
ตรงนั้นถ้าทบทวนดูดีๆ แม้ช่วงต้นชีวิตที่เราไม่ได้ตั้งใจ
ว่าจะเป็นคนเลวว่าจะเบียดเบียนใคร
บางทีเราก็เผลอทำร้ายผู้มีพระคุณได้ นี่แค่ตัวอย่างว่าเรานึกไม่ถึง
หรือมองไม่เห็นว่ามันเคยเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ
ถ้าเราทบทวนดูดีๆ เออ ก็เคยทำนี่ ไม่ใช่ไม่เคยทำ


อย่างผมเอง พอมารู้หลักการเจริญสติแล้วก็จดจำอะไรได้
บางทีอยู่ในสมาธิ มันผุดขึ้นมาเป็นระลอกเลย
เหมือนกับที่เขาว่านิมิตคนใกล้ตายว่ามันจะผุดขึ้นมา
ที่นึกว่าฝังลืมไปแล้ว นึกว่ามันไม่เคยมีอยู่ในชีวิต มันกลับมาหมด
และนี่แหละคือความเสี่ยงในการเวียนว่ายตายเกิด
เรานึกว่าเราไม่ได้ทำ เพราะเท่าที่เราจำได้เราไม่ได้ทำ
แต่ทำไมเราถึงโดน ที่โดนนี่คือส่วนที่จำไม่ได้นั่นแหละ
และนั่นแหละคือโทษที่ร้ายแรงที่สุดของสังสารวัฏ
ตอนทำเราไม่รู้ว่าจะไปได้จะไปตกกับตัวตนไหน ชาตินี้หรือชาติหน้า
แต่ตอนได้รับผล เราจะงง เป็นสังสารสัตว์หนึ่งที่มีความงง ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร
จะให้เชื่ออย่างไร พระเจ้าเหรอหรือว่ากรรมเหรอ มันนึกไม่ออกจริงๆ
ตรงนี้แหละที่สังสารวัฏเขาปิดกั้นไว้ ไม่ให้เราเชื่อ



อย่าเข้าใจว่าสังสารวัฏจะมีความยุติธรรม ว่าทำอะไรไปแล้ว มันต้องได้เห็นผลทันที
หรือว่าทำอะไรไปแล้ว มันต้องเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น
ตามใจชอบที่เรานึกว่ามันจะเป็น ไม่ใช่
สังสารวัฏนะ เวลาเขาจะลงโทษหรือให้รางวัล มันเป็นไปตามที่ภาวะมืดหรือสว่าง
น้ำหนักของความมืด น้ำหนักของความสว่างที่เราทำต้นเหตุไว้
มันมีแค่ไหน มันให้ผลแค่นั้น อย่างยุติธรรมที่สุด



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP