เข้าครัว Lite Cuisine

ศีลของชาววัด และน้ำปานะ ตอน ๑


Cuisine

โดย พิมพการัง


คุณดุจดาวเคยมาทำบุญตักบาตรที่วัดป่าหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยมาอยู่วัดถือศีลภาวนาจริงจัง

วันหนึ่งเกิดสนใจจะลองเป็นชาววัดป่าดูบ้าง จึงขอเดินชมสถานที่ แล้วถามถึงข้อวัตรปฏิบัติ
อยู่วัดต้องแต่งกายอย่างไร ถือศีลอะไร ทำอะไรบ้าง ถือศีลแล้วจะไม่หิวหรือ กินดื่มอะไรได้
น้ำปานะคืออะไร และอีกหลายคำถาม ฉันก็พาเดินชมไปพร้อมตอบคำถามเท่าที่ตอบได้

ชาววัดถือศีลอะไร

ชาววัด หมายถึงผู้ที่พักอาศัยอยู่ในวัด
หมายความรวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ เณร ผ้าขาว แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา

ศีล แปลว่าปรกติ

ปรกติแล้วพระภิกษุสงฆ์ถือศีล ๒๒๗ ข้อ เณร ๑๐ ข้อ ผ้าขาว แม่ชี ถือศีล ๘
อุบาสก อุบาสิกาถือศีล ๘ ก็มี ถือศีล ๕ ก็มีค่ะ ขึ้นอยู่กับปรกติของแต่ละท่าน

อย่างหนูแต๋มเป็นเด็กนักเรียน ตกเย็นตามคุณแม่มาภาวนาแล้วพักค้างคืน ตอนเช้าถึงไปโรงเรียน
หนูแต๋มถือศีลห้า ตกเย็นกลับจากโรงเรียนก็มาลวกมาม่ากินไป ทำการบ้านไปที่โรงครัว
หรือคุณยายทิพย์มีโรคประจำตัวที่อดอาหารเย็นไม่ได้ จึงกินอาหารสามมื้อ ก็ไม่มีใครว่าอะไรดอกค่ะ

ขอแค่ดูแลใจให้สบาย ไม่เครียด ไม่กดดันเกินไป
รักษากายให้สบาย ไม่รบกวนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตนเอง

เรามาภาวนาเพื่ออบรมขัดเกลาที่จิตใจตัวเองค่ะ อดอาหารแล้วปวดท้องก็หาอะไรดื่มกินได้
แต่อย่าขนาดตั้งเตาผัดกับข้าวส่งกลิ่นโชยไปรบกวนคนอื่นก็แล้วกันนะคะ อันนั้นบาปกรรมค่ะ

เท่าที่เคยเห็น หลายท่านก่อนมาอยู่วัดก็บ่นอย่างนี้ แล้วจะไม่หิวหรือ อย่างฉันไม่ไหวแน่ๆ
แต่พออยู่วัดด้วยจิตใจสงบจริงๆ ก็ไม่หิวไปเอง จากรักษาศีลห้าอยู่ก็อยากขยับไปรักษาศีลแปดเอง

ไม่ใช่เรื่องประหลาดอิทธิปาฏิหาริย์หรอกนะคะ
แค่จิตใจสงบลง การเผาผลาญอาหารก็เปลี่ยนแปลงไป
ที่เคยคิดว่าจะต้องหิวจนลมจับ หรือจะต้องปวดแสบกระเพาะแน่ๆ
เอาเข้าจริงอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ค่ะ

ขอฝากนิดหนึ่งว่าตามทฤษฎีทางการแพทย์แล้ว แค่การอดอาหารอย่างเดียว
ไม่ใช่สาเหตุของโรคกระเพาะนะคะ แต่เกิดจากมีปัจจัยอื่นๆ ที่รุกเร้ากระเพาะ
จนมากกว่ากลไกที่ปกป้องไม่ให้กระเพาะอักเสบเป็นแผลต่างหาก
การอดอาหาร ด้วยจิตใจสงบ ทำให้น้ำย่อยออกมามากก็จริง
แต่กลไกปกป้องตัวเองของกระเพาะก็ทำงานดีขึ้นค่ะ
บางท่านทานอาหารครบตรงเวลา แต่มีความเครียด
หรือกินอาหารที่กัดกระเพาะได้ก็ยังเป็นโรคเยอะแยะไปค่ะ

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นฐานที่เอื้อและส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ศีลเปลี่ยนไป สมาธิก็เปลี่ยนแปลงไป ปัญญาก็เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อการรักษาศีลไปเองค่ะ

ผู้ที่รักษาศีลแปดจนเป็นปรกตินิสัย
คือ มีความเบิกบานกับจิตที่สงบจนมากกว่าอยากชมละครการบันเทิง
มีความสงบสุขจากทางธรรมแล้ว ก็ไม่อยากดูโทรทัศน์ ไม่อยากชมละครไปเอง
ไม่อยากแต่งเนื้อแต่งตัวสวยนักจากการปล่อยวางไม่ยึดติดกับรูปลักษณ์
เรื่องอาหารก็ไม่อยากกินไปเอง ต่อให้หิวบ้างก็จิบน้ำหวานเอาก็สบายแล้ว ตัดความรุงรังและภาระไปได้มาก
ไม่ได้อยากนอนเบาะนุ่มนิ่ม ไม่ได้ขวนขวายหาที่นั่งที่นอนสบาย เพราะไม่ติดข้องกับสัมผัสแล้ว
อย่างนี้ถึงจะเป็นผู้ที่มีศีลแปดที่เป็นปรกติธรรมชาติของเขาค่ะ

อย่าทุกข์เพราะศีลเลยนะคะ
วันหนึ่งเมื่อมีธรรมชาติที่พร้อม ศีลจะขยับขึ้นเองโดยธรรมชาติล่ะค่ะ

คุณดุจดาวว่าไหนๆ ก็อุตส่าห์สละเวลามาอยู่วัดแล้ว ก็อยากทำให้เต็มที่ดีที่สุด
อยากลองรักษาศีลแปดดูสักตั้ง ใครๆ ก็ทำกันได้ทั้งวัด ทำไมเธอจะทำไม่ได้

ก็ต้องขออนุโมทนากับเธอ แล้วเธอจะสัมผัสได้ด้วยใจตนเองว่า
การภาวนาด้วยฐานของศีลห้า กับศีลแปดนี่ได้ผลต่างกันจริงๆ นะคะ

คุณดุจดาวถามว่าพระท่านขบฉันอะไรนอกเวลาได้บ้าง เผื่อจะนำมาถวาย
แล้วอะไรเป็นข้อห้ามของพระ โยมที่รักษาศีลแปดเป็นถือเป็นข้อห้ามด้วยหรือไม่

เมื่อมาอยู่ภาวนาที่วัด มีการกล่าวคำขอศีลแปดกับพระแล้ว ถือว่าเป็นอุโบสถศีลค่ะ
ส่วนข้อห้ามเรื่องวิกาลโภชน์ของพระ ก็เหมือนกับศีลข้อ๖ ของอุโบสถศีลค่ะ

ขอยกข้อมูลเต็มๆ จากคัมภีร์อุโบสถศีลมาฝากแทนนะคะ

วิกาลโภชน์มีองค์แห่งการเกิด ๔ ประการ
(องค์ที่ทำให้เกิดองค์อุโบสถที่ ๖ ต้องแตกทำลาย)

๑. วิกาโล เป็นเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้ว
๒. ยาวกาลิก ของนั้นเป็นของเคี้ยวของฉันที่ทรงอนุญาตให้กินได้ก่อนเที่ยงวัน
๓. อชฺโฌหรณํ มีการกลืนล่วงลำคอคงไป
๔. อนุมฺมตฺตกตา ไม่ใช่คนบ้า

หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว นอกจากน้ำเปล่าบริสุทธิ์แล้ว ผู้รักษาอุโบสถสามารถกลืนน้ำปานะดับกระหาย
หรือบรรเทาความหิวได้ โดยไม่ทำให้องค์อุโบสถศีลข้อที่ ๖ แตกทำลาย

น้ำปานะ ได้แก่ เครื่องดื่ม หรือ น้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้
ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่พระภิกษุให้รับประเคนแล้วสามารถเก็บไว้ฉันได้
ตลอด ๑ วัน ๑ คืน เรียกว่า ยามกาลิก ทรงอนุญาตไว้ ๘ อย่าง
นิยมเรียกว่า อัฏฐบาน หรือ น้ำอัฏฐบาน (ปานะ ๘ อย่าง)

๑. อัมพะปานะ น้ำมะม่วง
๒. ชัมพุปานะ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
๓. โจจะปานะ น้ำกล้วยมีเมล็ด
๔. โมจะปานะ น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
๕. มะธุกะปานะ น้ำมะทรางต้องเจือด้วยน้ำจึงควร
๖. มุททิกะปานะ น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น
๗. สาลุกะปานะ น้ำเหง้าบัว
๘. ผารุสะกะปานะ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

นอกจากน้ำปานะ ๘ อย่างแล้ว ท่านยังอนุญาตน้ำที่จะอนุโลมตามน้ำปานะไว้อีก
เรียกว่า กัปปิยปานะอนุโลม คือน้ำปานะที่สมควร ซึ่งฉันได้โดยไม่เป็นอาบัติในเวลาวิกาล ได้แก่

๑. น้ำปานะแห่งผลไม้เล็ก เช่น ลูกหวาย มะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ และเล็บเหยี่ยว เป็นต้น
๒. น้ำปานะเหล่านั้นผสมกับน้ำตาล แล้วเคี่ยวไฟจนเข้มข้น (ยกเว้นที่ทำจากถั่วและนม) สามารถฉันได้
จัดเป็น อัพโพหาริก เช่น น้ำอัดลมในสมัยนี้
แม้นน้ำผลไม้สำเร็จรูป เช่น น้ำองุ่นที่กรองเนื้อออกดีแล้วก็ดื่มได้

อกัปปิยปานะอนุโลม คือ น้ำที่ไม่ทรงอนุญาต ดื่มแล้วองค์อุโบสถต้องแตกทำลาย
หรือ เครื่องดื่มที่ไม่พึงดื่ม คือ น้ำปานะที่ไม่สมควร ภิกษุดื่มในเวลาวิกาลไม่ได้
ถ้าดื่มต้องอาบัติปาจิตตย์ ได้แก่

๑. น้ำแห่งธัญยชาติ (ข้าว) ๗ ชนิด
คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้า
๒. น้ำแห่งมหาผล (ผลไม้ใหญ่) ๙ ชนิด
คือ ผลตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท แตงโม ฟักทอง
๓. น้ำแห่งอปรัณณชาติ ได้แก่ ถั่วชนิดต่างๆ มีถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ และงา เป็นต้น
แม้นจะต้มจะกรอง ทำเป็น เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ก็ย่อมเป็นอาบัติปาจิตตีย์
๔. นม ท่านจัดเป็นอาหารอันประณีต
ภิกษุสามเณรไม่พึงฉันยามวิกาล แม้นจะผสมกับเครื่องดื่มต่าง ๆ ก็ไม่ควร
หากฉัน ก็ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์
(ข้อมูล : คัมภีร์อุโบสถศีล)

เรื่องนม น้ำเต้าหู้ ไมโล โอวัลตินนี่มีรายละเอียดมาก มีการถกเถียงกันมากด้วยค่ะ
ขอแยกเนื้อหารายละเอียดไปกล่าวถึงโดยเฉพาะไว้อีกบทหนึ่งนะคะ

เพราะทุกสิ่งขึ้นอยู่กับการตีความ ขออนุญาตแนะนำซ้ำอีกครั้งว่า
ผู้ที่จะไปศึกษาธรรมะที่วัดไหน ทำบุญที่วัดใด
ควรถามวัตรปฏิบัติของวัดนั้นๆ ว่าวัดนี้ขบฉันอะไร ดื่มปานะอะไรได้ ถามที่นั้นๆ จะดีที่สุดค่ะ
กรุณาอย่าใช้บทความนี้เป็นบรรทัดฐาน หรือ ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าใครเคร่งกว่า ถูกกว่า ตรงกว่าเลยนะคะ

ศีล ความเป็นปรกติของแต่ละท่านยังไม่เหมือนกันเลย
กฎ กติกา วัตรหรือระเบียบปฏิบัติ แต่ละที่ก็ไม่เหมือนกันเช่นกันค่ะ

น้ำปานะที่ทำจากผลไม้ทุกชนิด ต้องกรองผ่านผ้าขาวบางจนไม่มีเนื้อติดอยู่เลย
จากที่เคยอ่านตำราของคุณแม่ชีที่เคยอุปัฏฐากหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
คุณแม่ชีท่านเขียนไว้ชัดเจนว่า การกรองที่ถูกต้องคือต้องกรองผ่านผ้าขาวบางแปดรอบ
แต่ละรอบให้เอาผ้าขาวบางไปซักน้ำใหม่ทุกครั้ง เพื่อเอาเยื่อออกให้หมดด้วยค่ะ
ไม่ใช่เอาผ้าขาวบางมาพับซ้อนจนเป็นสี่ชั้นแล้วกรองสองรอบ หรือพับแปดชั้นแล้วกรองหนึ่งรอบนะคะ

ทั้งนี้และทั้งนั้น ขอเรียนอีกครั้งว่าตำรานี้เขียนโดยคุณแม่ชี
คุณแม่ชีทำแบบนั้นได้ และทำมาโดยตลอด เป็นความปรกติของคุณแม่ชี
หลายๆ ที่อาจจะปฏิบัติไม่เหมือนกัน จากการแปลไม่เหมือนกันก็ได้เช่นกันค่ะ

มีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งนะคะ ว่าปานะที่ทำจากผลไม้นี้
ควรเป็นผลไม้ที่สุกเองด้วยแสงอาทิตย์ ไม่ควรทำให้สุกด้วยไฟ ยกเว้นผลมะตูมค่ะ

ถามว่าทำไมไม่ควรทำให้สุกด้วยไฟ เคยอ่านพบตำราฉบับหนึ่งเคยพิสูจน์เอาไว้
โดยเอาน้ำมะม่วงมาต้มพบว่าน้ำข้นมาก จนดูเหมือนแป้งเหลวๆ ดูคล้ายอาหารเหลวค่ะ

น้ำปานะนี้พระท่านทำฉันเองได้ก่อนเที่ยงวัน ถ้าหลังเที่ยงไปแล้วไม่ควรจัดทำเอง
แต่รับประเคนได้ และถ้ารับมาแล้วจะเก็บไว้ได้แค่หนึ่งวันหนึ่งคืนเท่านั้นนะคะ

ส่วนประกอบอื่นๆ ที่ใช้ทำน้ำปานะ เช่น เกลือ ก็ต้องเป็นของที่แยกเอาไว้ว่าสำหรับทำปานะโดยเฉพาะ
ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร ที่รับไว้ฉันได้ไม่เกินเที่ยงวันของวันนั้นค่ะ
และจะใช้วิธีแบ่งอาหาร หรือน้ำผลไม้กล่องที่รับบาตรเช้ามา เอาไว้เก็บเป็นน้ำปานะ
ไว้ดื่มกินช่วงบ่ายไม่ได้นะคะ เพราะถือว่าเป็น กาลิกระคนกัน ค่ะ
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทกาละ กาลิกนะคะ)

รายละเอียดยังมีต่อค่ะ
โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP