ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ถ้าเราตั้งกองทุนเพื่อนำดอกผลมาทำบุญ เมื่อเราตายไปแล้วยังจะได้รับผลบุญต่อไปหรือไม่



ถาม – ขออนุญาตถามในเรื่องที่สงสัยเกี่ยวกับการทำบุญครับ
สมมติว่าผมและเพื่อนๆ ตั้งกองทุนตามวัดหลายๆ แห่ง
เพื่อเป็นค่าภัตตาหารและค่าอื่นๆ แล้วแต่ทางวัดจะนำไปใช้
แต่ละคนที่ร่วมบุญในกองทุนนี้ จะได้บุญเท่ากันหรือไม่
และในยามพวกเราได้ตายจากไปแล้ว แต่ดอกเบี้ยจากกองทุนยังงอกเงยต่อไปเรื่อยๆ
ผมและเพื่อนๆ จะได้บุญจากกองทุนนี้ต่อไปอีกหรือไม่ครับ



เอาตรงเรื่องดอกเบี้ยก่อน เพราะว่าหลายคนสงสัยกันเหลือเกินนะ
ว่าถ้าหากสิ่งที่เราทำ มันยังผลิดอกออกผลอยู่เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าตัวเราตายไปแล้วนะ
ผลนั้นจะยังให้ เป็นเหมือนกับทบทวีขึ้นไปให้กับเราด้วยหรือเปล่านะ
ในการทำบุญนั้น คือพวกเราเวลาที่คิดนะ จะคิดกันแบบเป็นรูปธรรมจับต้องได้
โดยเฉพาะในเรื่องของตัวเงิน ค่าของเงิน
สิ่งที่มันจะผลิดอกออกผลออกมา แบบที่นับจำนวนได้
แต่กฎแห่งกรรมเขาไม่นับจำนวนแบบเดียวกับที่เรานับ
เขาจะนับเป็นปริมาณความสว่างที่มันเกิดขึ้นนะครับ



ความสว่างนั้นมีความสว่างทั้งภายในและภายนอก
ความสว่างภายในก็คือเรามีจิตเจตนา
ตั้งใจในการทำบุญขึ้นมาด้วยความบริสุทธิ์แค่ไหน
สิ่งที่ได้มาทำบุญบริสุทธิ์แค่ไหน
แล้วก็ผู้ที่ได้รับผลของบุญน่ะ มีความบริสุทธิ์แค่ไหน

อันนี้มันก็จะคูณๆ คูณกันเข้าไปนะครับ
ถ้าหากว่าปัจจัยภายในนี้มีความสว่างมาก
ก็ถือว่าได้บุญมาก ยิ่งบริสุทธิ์มาก ยิ่งสว่างมากนะ
ยิ่งได้ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญมีความบริสุทธิ์มากๆ มารับ ก็จะยิ่งขยายผลออกไป



ทีนี้พูดถึงตัวความสว่างภายนอกบ้าง
ความสว่างภายนอกได้แก่การที่ผู้รับนำไปใช้ได้แค่ไหน
อย่างยกตัวอย่าง ถ้าเรามองกันเรื่องของถาวรวัตถุ
อย่างเช่นกุฏิหรือว่าโบสถ์ หรือว่าแม้แต่ส้วมหรือที่เรียกว่าถานของพระ
อย่างนี้เป็นสิ่งที่ผู้รับจะได้ใช้กันนานๆ ได้ใช้กันแบบที่เรียกว่าสิบปียี่สิบปี
ไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ สามารถที่ประมาณได้ตั้งแต่ต้นว่าใช้กันได้เป็นสิบๆ ปี
พอเทียบดูว่า เออ ถ้าถวายผงซักฟอกหรือว่าถวายยาสีฟันอะไรแบบนี้
อันไหนจะใช้ได้นานกว่ากัน เราก็รู้เลยนะว่าถาวรวัตถุย่อมใช้ได้นานกว่า
ความปลื้มหรือความปีติอะไรต่างๆ มันก็มีความยืนยาวกว่า
พอระลึกนึกถึงนะ สิบปีผ่านไปเราก็ยังรู้สึกได้ว่าของนั้นพวกท่านยังใช้ประโยชน์กันอยู่
ไม่เหมือนกับผงซักฟอก เราถวายไปแค่เดือนเดียว
พอนึกขึ้นมา ผงซักฟอกน่าจะหมดแล้ว
ถึงเวลาไปถวายใหม่ ไปเติมกันใหม่อะไรแบบนี้นะ


ตัวความสว่างภายนอก ถ้าหากว่าเรานำมาคิดถึงเรื่องของเงิน
เรื่องของดอกเบี้ย เรื่องของผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ในกาลต่อๆ มา
ก็อาจจะมองได้ว่า เออ ปริมาณความสว่างนั้นไปกว้าง ไปได้นาน แล้วก็มีความยั่งยืนนะ
คิดอย่างนั้นมากกว่าที่จะมาคิดเป็นตัวดอกเบี้ยที่จะติดตามเพิ่มไป


คือตัวบุญนี่นะ ลักษณะของบุญ มันวัดกันเดี๋ยวนั้นเลย
วัดกันว่าเราทำไป มันน่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน
วัดกันเดี๋ยวนั้นเลย ไม่ใช่มาเอาเป็นเงาตามตัวกันไป



แต่อย่างไรก็ตาม มันมีครับ ที่จะมีตัวขยายผลเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ชั้นที่สาม
เมื่อกี้พูดถึงแค่ความสว่างภายในกับความสว่างภายนอก
ที่เราสามารถที่จะรู้ได้ว่า ณ เวลาทำ มันจะประมาณใด
แต่ถ้าหากว่ากาลเวลาผ่านไปสักยี่สิบปี
เรามารับรู้ว่าบุญที่เราทำไปน่ะ เกิดผลกับใครในเวลายี่สิบปีต่อมาอีก
แล้วเราเกิดความปลื้มปีติ ตัวความปลื้มปีติ ตัวความโสมนัส
ตัวความรู้สึกว่าเราได้ทำบุญนี้และเขาได้รับผลนี้ เป็นประโยชน์กับเขา
เรามีความบริสุทธิ์ใจมาตั้งแต่ต้น
และ ณ บัดนั้น ยี่สิบปีผ่านมา
เราก็ยังรู้สึกดีกับความบริสุทธิ์แห่งบุญนั้นอยู่ เราเห็นคนได้ประโยชน์อยู่
ตัวนั้นแหละ ตัวที่มันไปอนุโมทนาตัวเองซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
ที่มันจะเพิ่ม ที่มันจะทบกำลังบุญเข้าไป
คือความสว่างเดิมมีอยู่แค่ไหน มันก็ไปเพิ่มความสว่างเข้าไป บวกเข้าไปอีก



แต่ถ้าตายไปแล้ว โอกาสที่จะมารับรู้ในเรื่องของผลของบุญ
ผลแห่งบุญที่เราทำไป ว่าจะได้อานิสงส์หรือว่าได้ผลอะไรกับใครไป
มันก็จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยด้วยนะ
ถ้าเป็นเทวดาส่องลงมา ก็ย่อมรู้ ย่อมทราบ ย่อมเห็น
ว่า เออ ความสว่างแห่งบุญ มีประมาณใด
มีรัศมีกว้างประมาณใด มีจำนวนผู้คนได้รับผลประมาณใด
ก็อาจจะเกิดความยินดี ความปลื้มปีติซ้ำเข้าไปอีก
ตรงนั้นก็เป็นบุญเพิ่ม เป็นบุญในฐานะของการมีความยินดี มีความปลื้มปีติ
เรียกว่าเป็นกาลที่สาม เป็นกาลแห่งที่จิตเป็นกุศลหลังทำบุญ
ซึ่งมีได้หลายครั้ง ไม่จำกัดจำนวน ตราบใดเท่าที่เรายังสามารถรับรู้ได้อยู่
เกี่ยวกับผู้ได้รับผลประโยชน์จากบุญที่เราเคยทำไป

แต่ถ้าหากไปเกิดเป็นมนุษย์ มันหมดสิทธิ์แล้ว
ถ้าระลึกชาติไม่ได้ ก็กลับมาดูบุญเก่าของตัวเองไม่ได้ แล้วก็ปลื้มปีติไม่ได้อีก
ถ้าปลื้มปีติไม่ได้ ก็เป็นอันว่าจบ ก็เป็นอันว่ากองบุญนั้นถือว่าสิ้นสุด
เราไม่สามารถจะไปตักตวงความสว่าง ไปเพิ่มความสว่าง ไปไขความสว่าง
ให้มันเพิ่มขึ้นไปยิ่งกว่านั้นได้อีก มันจบกันที่ตรงสิ้นสุดการรับรู้


ถ้าหากว่าจะมาถามมาคำนึงกันว่าที่ช่วยๆ กัน มีบุญเท่ากันหรือเปล่า
คือมันร่วมอยู่ในกระแสบุญเดียวกัน อยู่ในกองภูเขาบุญเดียวกัน
แต่จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนนะ
มีจิตเจตนา มีความหนักแน่น มีความประสงค์ชนิดใดในการทำบุญ
ถึงแม้ว่าทำบุญกองเดียวกันก็ไม่แน่ว่าใครจะมีกำลังใจหนักแน่นเท่ากัน
หรือว่ายิ่งหย่อนไปกว่ากันแค่ไหน ไม่มีอะไรเป็นประกันได้เลย
มันขึ้นอยู่กับแต่ละคนจริงๆ


แต่อย่างไรก็ตาม บุญนั้นที่ทำร่วมกันนะ จะทำให้เกิดกระแสความผูกพัน
คือลักษณะของการทำบุญด้วยกัน
ถ้าหากว่ามีความยินดี มีความสมัครใจร่วมกันนะ
มันจะเกิดความผูกพัน มันจะเกิดสายใย มันจะเกิดความสว่างแบบดีๆ ขึ้นมา

ถ้าหากว่าในหมู่คนที่ทำร่วมกันนั้น เคยมีปกติเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ก็จะกลับมีความรู้สึกดีขึ้นมาทีละนิดๆ
ถ้าหากว่าสะสมบุญต่อกันไปมากๆ
มันก็จะกลายเป็นความรู้สึกที่ดี สนิทไปเลย หลงลืมในความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันไปเลย
อย่างนี้นะ นี่คืออำนาจบุญ นี่คืออำนาจความสว่างที่มาขับไล่ความมืดได้
ต้องมองอย่างนี้มากกว่านะว่าคนทำบุญด้วยกัน จะทำให้รู้สึกดีต่อกันได้แค่ไหน
ยิ่งบุญบริสุทธิ์มาก ยิ่งมีความร่วมมือร่วมใจ
โดยปราศจากความขัดแย้ง โดยปราศจากข้อกังขาต่อกัน
ไม่มีการแข่งกัน ไม่มีการเอาหน้า เอาดีเอาเด่น ว่าใครเหนือกว่าใคร
ความรู้สึกที่ดีๆ ต่อกัน มันก็ต้องเกิดขึ้นแน่นอน


แม้ขนาดว่าคนแข่งกันทำบุญนะ แต่ว่าแข่งกันแบบมิตร
แข่งกันในแบบที่ว่า เออนี่ เราทำอย่างนี้เพื่อให้เกิดแรงผลักดัน
ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ตั้งหน้าตั้งตา มีความตั้งอกตั้งใจมากขึ้น อะไรแบบนี้
ก็อาจจะเป็นคู่แข่งที่มีความรู้สึกเป็นมิตรกัน เป็นเพื่อนกัน
แต่ถ้าหากว่ามาทำบุญกันในลักษณะหักหน้ากัน เข่นกันหรือว่าข่มกันนะ
ว่าใครเหนือกว่าใคร ใครได้ก่อน ใครได้หลัง
แบบนี้นี่นะเป็นประกันเลยว่าเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นศัตรู
อาจจะเป็นศัตรูแบบที่ว่าต่างฝ่ายต่างมีกำลังไล่เลี่ยกัน
แล้วก็กินกันไม่ขาด เอากันไม่ลงแบบนี้ งัดกันไม่ลง
ซึ่งมันก็ต้องยืดเยื้อต่อไปอีกนาน น่าเบื่อ เป็นเรื่องน่าเบื่อมาก
การแข่งเอาดีเอาเด่น เอาหน้า เอาใหญ่เอาโตอะไรกัน น่าเบื่อมาก



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP