จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

วิธีละอาสวะ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


157 destination


เราคงจะเคยได้ยินคำกล่าวที่บอกว่าให้เราละกิเลส
แต่ในการที่เราจะละกิเลสดังกล่าวนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
แถมเราอาจจะสงสัยว่าวิธีการที่จะละกิเลสนั้นมีอย่างไรบ้าง
โดยเราอาจจะเห็นแต่ละคนใช้วิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันไป
ในคราวนี้ ผมจะขอนำพระสูตรหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องวิธีละอาสวะมาแบ่งปัน
ซึ่งบางท่านอาจจะสามารถนำไปปรับใช้กับตนเองได้ตามที่เห็นเหมาะสม


ใน “สัพพาสวสังวรสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสอนว่า “อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นมีอยู่
ที่จะพึงละได้เพราะการสังวรก็มี ที่จะพึงละได้เพราะพิจารณาเสพก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้นก็มี ที่จะพึงละได้เพราะเว้นรอบก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะบรรเทาก็มี ที่จะพึงละได้เพราะอบรมก็มี”


(คำว่า “มนสิการ” แปลว่า การทำในใจ, ใส่ใจ, พิจารณา)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C1%B9%CA%D4%A1%D2%C3&original=1


(คำว่า “อาสวะ” แปลว่า กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน
ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D2%CA%C7%D0&original=1


จากคำสอนข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าวิธีการละอาสวะสามารถทำได้ ๗ วิธี
ตามแต่ละประเภทของอาสวะ ซึ่งในรายละเอียดของวิธีการ ก็มีดังต่อไปนี้
๑. อาสวะที่ละได้เพราะการเห็น
“อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการเห็น?
ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้เห็นสัปบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัปบุรุษ
ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนควรมนสิการ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนไม่ควรมนสิการ
เมื่อเขาไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ
ย่อมมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ


ธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ที่ปุถุชนมนสิการอยู่เป็นไฉน?
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่
กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น
นี้คือธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ที่เขามนสิการอยู่


ธรรมที่ควรมนสิการที่ปุถุชนไม่มนสิการอยู่ เป็นไฉน?
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่
กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป
นี้คือธรรมที่ควรมนสิการ ที่เขาไม่มนสิการอยู่
อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญแก่ปุถุชนนั้น
เพราะมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ


ปุถุชนนั้นมนสิการอยู่ โดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า เราได้มีแล้วในอดีตกาลหรือ
เราไม่ได้มีแล้วในอดีตกาลหรือ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไร ในอดีตกาลเราได้เป็นอย่างไร
ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรแล้วจึงเป็นอะไร ในอนาคตกาลเราจักมีหรือ
ในอนาคตกาลเราจักไม่มีหรือ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไร
ในอนาคตกาลเราจักเป็นอย่างไร ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรแล้วจึงจักเป็นอะไร
หรือว่าปรารภกาลปัจจุบันในบัดนี้มีความสงสัยขึ้นภายในว่า เรามีอยู่หรือ เราไม่มีอยู่หรือ
เราเป็นอะไร เราเป็นอย่างไร สัตว์นี้มาแต่ไหน และมันจักไป ณ ที่ไหน


เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้
บรรดาทิฏฐิ ๖ ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น
ทิฏฐิโดยจริงโดยแท้ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้นว่า
ตนของเรามีอยู่ หรือว่า ตนของเราไม่มีอยู่
หรือว่าเราย่อมรู้ชัดตนด้วยตนเอง หรือว่า เราย่อมรู้ชัดสภาพมิใช่ตนด้วยตนเอง
หรือว่าเราย่อมรู้ตนด้วยสภาพมิใช่ตน อีกอย่างหนึ่ง
ทิฏฐิย่อมเกิดมีแก่ปุถุชนนั้นอย่างนี้ว่า ตนของเรานี้เป็นผู้เสวย
ย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมทั้งดีทั้งชั่วในอารมณ์นั้น ๆ
ก็ตนของเรานี้นั้นเป็นของแน่นอนยั่งยืนเที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา
จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอด้วยสิ่งยั่งยืนแท้
ข้อนี้เรากล่าวว่าทิฏฐิ ชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ
ความดิ้นรนคือทิฏฐิ สิ่งที่ประกอบสัตว์ไว้คือทิฏฐิ


ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์
ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่พ้นจากทุกข์


ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ได้รับแนะนำด้วยดีในธรรมของพระอริยะ ผู้เห็นสัปบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ
ได้รับคำแนะนำด้วยดีในธรรมของสัปบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ
เมื่ออริยสาวกนั้นรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ
ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ


ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกไม่มนสิการ?
เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่
กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น นี้คือธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ที่อริยสาวกไม่มนสิการ


ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกมนสิการอยู่?
เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่
กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป นี้คือธรรมที่ควรมนสิการ ที่อริยสาวกมนสิการอยู่
อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว จะเสื่อมสิ้นไปแก่อริยสาวกนั้น
เพราะไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ


อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์
นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์
เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้
สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป
ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น”


บางท่านได้ฟังครูบาอาจารย์ท่านสอนให้มีสติรู้กายรู้ใจ
แล้วอาจจะเคยสงสัยว่าจะเป็นการปฏิบัติที่ได้ผลแน่หรือ
เพราะดูเหมือนไม่ค่อยได้ทำอะไร โดยทำเพียงแค่รู้กายหรือรู้ใจอยู่เท่านั้น
หากเราได้พิจารณาใน “สัพพาสวสังวรสูตร” แล้ว เราย่อมจะเห็นได้ว่า
การเจริญสตินั้นมีประโยชน์อย่างมาก เพราะย่อมจะทำให้เรารู้ทันใจ
และไม่หลงไปมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ
และช่วยให้เรามนสิการธรรมที่ควรมนสิการ
โดยหากเรามนสิการธรรมที่ควรมนสิการ และไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการแล้ว
เราย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์
นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์
ซึ่งเมื่อมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้
สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป


๒. อาสวะที่ละได้เพราะการสังวร
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว
เป็นผู้สำรวมแล้ว ด้วยความสำรวมในจักขุนทรีย์อยู่
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด
พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้สำรวมจักขุนทรีย์อยู่อย่างนี้


ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในโสตินทรีย์อยู่
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด
พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่สำรวมโสตินทรีย์
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้สำรวมโสตินทรีย์อยู่อย่างนี้


ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในฆานินทรีย์อยู่
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด
พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่สำรวมฆานินทรีย์
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้สำรวมฆานินทรีย์อยู่อย่างนี้


ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในชิวหินทรีย์อยู่
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด
พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่สำรวมชิวหินทรีย์
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้สำรวมชิวหินทรีย์อยู่อย่างนี้


ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในกายินทรีย์อยู่
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด
พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่สำรวมกายินทรีย์
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้สำรวมกายินทรีย์อยู่อย่างนี้


ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในมนินทรีย์อยู่
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด
พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่สำรวมมนินทรีย์
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้สำรวมมนินทรีย์อยู่อย่างนี้


ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการสังวร”


ในที่นี้ “จักขุนทรีย์” คือตาที่เห็นรูป “โสตินทรีย์” คือหูที่ได้ยินเสียง
“ฆานินทรีย์” คือจมูกที่ได้กลิ่น “ชิวหินทรีย์” คือลิ้นที่รับรู้รส
“กายินทรีย์” คือกายที่รับรู้สัมผัส และ “มนินทรีย์” คือใจที่รับรู้ธรรมารมณ์
ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าการที่เราฝึกเจริญสติรู้กายรู้ใจ
ก็ย่อมจะมีส่วนช่วยในการสำรวมอินทรีย์ทั้งหลายเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
เพราะเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรู้รส กายรับรู้สัมผัส
หรือใจรับรู้ธรรมารมณ์ก็ตาม เรามีสติรู้ทัน ซึ่งย่อมจะช่วยให้สำรวมอินทรีย์เหล่านี้ได้


๓. อาสวะที่ละได้เพราะการพิจารณาเสพ
“อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ?
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว
เสพจีวรเพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อน สัมผัส แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ
พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบิณฑบาตมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ
มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นไป
เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์
ด้วยคิดว่า จะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย
ความเป็นไป ความไม่มีโทษ และความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เรา
ฉะนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพเสนาสนะ เพียงเพื่อกำจัดหนาวร้อน
สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ในการหลีกออกเร้นอยู่
พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขาร คือ ยาอันเป็นปัจจัยบำบัดไข้ เพียงเพื่อกำจัด
เวทนาที่เกิดแต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง


ภิกษุทั้งหลาย อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้น
แก่ภิกษุนั้นผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนี้


ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ”


ในเรื่องของการพิจารณาเสพเครื่องอุปโภคบริโภคดังที่กล่าวข้างต้นนี้
การฝึกเจริญสติรู้กายรู้ใจก็ย่อมจะมีส่วนช่วยในการพิจารณาเสพเช่นกัน
เพราะเมื่อใจเราหลงไปต้องการเสพเพื่อมัวเมา เพื่อประดับ หรือเพื่อตกแต่งแล้ว
เราก็ย่อมจะสามารถรู้ทันใจ และพิจารณาอย่างแยบคายในการเสพนั้น ๆ ได้


๔. อาสวะที่พึงละได้เพราะความอดกลั้น
“ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน
หิว กระหาย สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
เป็นผู้มีชาติของผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวชั่วร้ายแรง
ต่อเวทนาที่มีอยู่ในตัว ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้า แข็ง เผ็ดร้อน
ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ชอบใจ อาจพล่าชีวิตเสียได้


อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด
พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นผู้ไม่อดกลั้นอยู่
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้


ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น”


ในเรื่องของความอดกลั้นต่อเวทนาที่กล่าวมาข้างต้นนี้
การฝึกเจริญสติรู้กายรู้ใจก็ย่อมจะมีส่วนช่วยในความอดกลั้นเช่นกัน
เพราะช่วยให้เราได้รู้ทันเวทนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในกายในใจเรา
ถ้าไม่รู้ทันเวทนา แต่ปล่อยให้เวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำใจแล้ว ก็ยากที่จะอดกลั้นได้


๕. อาสวะที่จะพึงละได้เพราะความเว้นรอบ
“ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว
เว้นช้างที่ดุร้าย ม้าที่ดุร้าย โคที่ดุร้าย สุนัขที่ดุร้าย งู
หลักตอ สถานที่มีหนาม บ่อ เหว แอ่งน้ำครำ บ่อน้ำครำ
เพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย พึงกำหนดลงซึ่งบุคคลผู้นั่ง ณ ที่มิใช่อาสนะเห็นปานใด
ผู้เที่ยวไป ณ ที่มิใช่โคจรเห็นปานใด ผู้คบมิตรที่ลามกเห็นปานใด ในสถานทั้งหลายอันลามก
ภิกษุนั้นพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นที่มิใช่อาสนะนั้น ที่มิใช่โคจรนั้น และมิตรผู้ลามกเหล่านั้น


อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด
พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่เว้นสถานหรือบุคคลอันใดอันหนึ่ง
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้เว้นรอบอยู่อย่างนี้


ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะความเว้นรอบ”


ในกรณีที่กล่าวข้างต้นนี้ นอกจากเราพึงเว้นห่างจากสัตว์ดุร้าย
สถานที่อันตราย และสถานที่ไม่สมควรไปแล้ว
ส่วนที่สำคัญก็คือ เราควรจะเว้นจากมิตรที่ลามกหรือคนพาลเสียด้วย
มิตรที่ลามกในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนที่สนใจเรื่องทะลึ่งหรือลามกเท่านั้นนะครับ
แต่หมายถึงคนพาล คนไม่ดี คนไม่มีศีล สมาธิ และปัญญา
หรือคนที่จะนำพาเราไปในทางเจริญอกุศลทั้งหลาย หรือเสื่อมจากกุศลทั้งหลาย


การเจริญสติรู้กายรู้ใจก็มีส่วนช่วยในการเว้นรอบดังกล่าวเช่นกัน
เพราะเมื่อใจเราหลงต้องการจะไปเข้าใกล้สัตว์ดุร้าย ไปในสถานที่ไม่สมควรไป
หรือไปเข้าใกล้มิตรที่เป็นคนพาล เราก็ย่อมจะมีสติรู้ทัน
นอกจากนี้แล้ว เมื่อเราไปในสถานที่แห่งไหน หรือคบหากับบุคคลเหล่าไหนแล้ว
อกุศลเจริญขึ้น และกุศลเสื่อมลง เราก็ย่อมพิจารณาเห็นได้เองว่า
สถานที่เหล่านั้นไม่สมควรไป และบุคคลเหล่านั้นไม่สมควรคบหา


๖. อาสวะที่พึงละได้เพราะความบรรเทา
“ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว
ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทากามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี
ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทาพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี
ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทาวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี
ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทาธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี


อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด
พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่บรรเทาธรรมอันใดอันหนึ่ง
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้


ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความบรรเทา”


คำว่า “กามวิตก” หมายถึงการตรึกในทางกาม
“พยาบาทวิตก” หมายถึงการตรึกในทางพยาบาท
และ “วิหิงสาวิตก” หมายถึงการตรึกในทางเบียดเบียน
โดยการฝึกเจริญสติรู้กายรู้ใจย่อมช่วยให้เรารู้ทันใจ
เมื่อได้ตรึกไปในทางกาม หรือทางพยาบาท หรือทางเบียดเบียนได้
ถ้าเราไม่รู้ทันใจว่าได้หลงไปตรึกในสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ใจก็ตรึกไปเรื่อย
ซึ่งก็จะทำให้กามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกดังกล่าวเจริญงอกงามขึ้นได้


๗. อาสวะที่ละได้เพราะการอบรม
“ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว
เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง
เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง
เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง
เจริญปิติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง
เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง
เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง
เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง


อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด
พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่อบรมธรรมอันใดอันหนึ่ง
อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อบรมอยู่อย่างนี้


ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะอบรม”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=238&Z=384&pagebreak=0


การละอาสวะโดยการอบรมโพชฌงค์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง
การไปเข้าห้องเรียนนั่งฟังอบรมเรื่องโพชฌงค์ หรือการไปนั่งสวดมนต์บทโพชฌงค์ให้มาก ๆ
แต่หมายถึงว่าการอบรมจิตใจให้เจริญหรือมีโพชฌงค์
โดยต้องอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง
ซึ่งเราก็ย่อมจะเห็นได้ว่าการฝึกเจริญสติรู้กายรู้ใจนั้น
ย่อมจะมีส่วนช่วยในการอบรมหรือเจริญโพชฌงค์ด้วยเช่นกัน
เพราะโพชฌงค์ข้อแรกนั้น ก็เริ่มด้วยสติ คือ “สติสัมโพชฌงค์” นั่นเอง


ในท้ายนี้ ขอเรียนว่าอาสวะแต่ละประเภทไม่ใช่ว่าจะใช้วิธีไหนละก็ได้นะครับ
แต่ในพระสูตรนี้ได้แยกว่าอาสวะประเภทไหนสมควรจะพึงใช้วิธีไหนละ
อย่างไรก็ดี หากเราอ่านแล้ว เห็นว่าวิธีการหลากหลายเหลือเกิน และจำได้ไม่หมด
วิธีการที่ดีที่แนะนำให้ปฏิบัติก็คือ การฝึกเจริญสติรู้กายรู้ใจนี่แหละครับ
เพราะว่าก็มีส่วนช่วยหรือสนับสนุนในทุกวิธีการดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +


หมายเหตุ ณ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ศาลาปฏิบัติธรรมที่อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ได้ประกอบโครงหลังคาเหล็กเสร็จแล้ว และกำลังเตรียมติดตั้ง
ได้ก่อกำแพงด้านในตรงฐานพระเสร็จแล้ว เริ่มทำบันไดด้านหน้าและด้านข้างศาลา
(บันไดด้านข้างศาลานี้สามารถใช้เป็นอัฒจันทร์สำหรับนั่งฟังบรรยายกิจกรรมได้)
และได้เริ่มสร้างฐาน และเสาของห้องน้ำด้านนอกศาลาแล้วครับ


โดย ณ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ได้มียอดร่วมทำบุญสะสมทั้งหมด
ประมาณ ๖.๓๑๕ ล้านบาท (ร้อยละ ๙๗.๑๕ ของงบประมาณ)
ยังขาดปัจจัยสำหรับก่อสร้างอยู่อีกประมาณ ๐.๑๘๕ ล้านบาท (ร้อยละ ๒.๘๕ ของงบประมาณ) ครับ
ก็ถือว่าญาติธรรมได้ร่วมช่วยเหลือทำบุญกันมาเกือบครบแล้ว ขาดอีกไม่มากครับ


ขอเรียนเชิญญาติธรรมท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
เพื่อประโยชน์ในการจัดค่ายศีลธรรมสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน
ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ดังต่อไปนี้
ชื่อบัญชี นายสันติ คุณาวงศ์ นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางพจนา ทรัพย์สมาน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 881-223306-7


ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการเรี่ยไรและสำเนาหน้าสมุดบัญชีรับบริจาคได้ที่
กระทู้ในเว็บไซต์ลานธรรมตามลิงค์นี้ครับ
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP