ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

รู้สึกหายใจไม่อิ่มอยู่ตลอดเวลา ควรทำอย่างไร



ถาม - ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองหายใจไม่อิ่มอยู่ตลอด ควรทำอย่างไรดีคะ


เรื่องหายใจไม่อิ่มเนี่ย ผมก็เคยเจอมาก่อนนะ
แล้วบางทีมันไม่ได้แก้ด้วยการเจริญสติได้เสมอไปนะครับ
เพราะว่าบางคนคือมีโรคประจำตัวอยู่ เป็นภูมิแพ้อยู่
อย่างผมนี่อาการหนักเลย คือเข้าใจนะ คำว่าหายใจไม่อิ่ม
บางทีมันหายใจไม่ได้ทั่วท้อง ไม่ได้เต็มปอดนะครับ
ทีนี้ก็ต้องรักษา บางทีต้องเยียวยากันด้วยวิธีที่มันถูกต้อง
ทำให้โรคภัยไข้เจ็บมันทุเลาลง
ทีนี้ถ้าพูดถึงว่าหากว่าทำสมาธิได้
ถึงจุดหนึ่ง จริงๆ มันก็กลายเป็นยา มันจะหลั่งสารดีๆ ออกมา
ช่วยทำให้อาการแพ้ อาการภูมิแพ้อะไรทั้งหลาย มันบรรเทาลงได้
ก็ควบคู่กันไปกับเรื่องของยา


อันนี้ขอแนะนำเบื้องต้นก็แล้วกัน สำหรับคนที่บอกว่าหายใจไม่อิ่ม
หายใจแล้วมันรู้สึกอึดอัด หายใจแล้วรู้สึกว่ามันไม่มีความสุขกับการหายใจเลย
มีแต่ลมหายใจสั้น ลมหายใจยาวนี่ไม่ค่อยจะได้นะ จะทำอย่างไรดี
ผมเคยขนาดที่ว่าหายใจแต่ละครั้งนะมันปวดเสียว ร้าวไป
ก็คือรักษาหลายหมอ แต่ละหมอก็พูดไม่ตรงกันสักอย่าง
บางคนก็บอกว่าคุณเครียด ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้
คือยังไม่ทันตรวจอะไรเลยนะ บางทีพูดแล้ว แล้วบางคนก็บอกต้องไปเอกซเรย์ก่อน
ก็เจอว่ากระดูกมันคดมันงดข้อต่อตรงนี้อยู่นิดหนึ่ง
มันเลยรั้งให้กล้ามเนื้้อมันตึงอยู่ตลอดเวลา
แล้วบางคนก็คือใช้วิธีอะไรที่มันมีความลึกลับ ก็บอกอะไรไปต่างๆ ต่างกัน
จนคือก็ได้ข้อสรุปว่าจริงๆ แล้วคือถ้าร่างกายของเราถูกออกแบบมา
ให้ชดใช้ความทุกข์ที่เราไปเคยก่อให้คนอื่นไว้ มันจะรักษายากนิดหนึ่ง
ใครรักษาง่ายนี่อนุโมทนาด้วย แสดงว่ากรรมไม่ได้หนักมาก


แต่มันมีอยู่พอยต์ (point) หนึ่งคือถึงแม้จะยังรักษาไม่หาย
หรือยังไม่เจอหมอที่จะช่วยเราได้จริงๆ
เราสามารถที่จะเจริญสติ เพื่อให้การหายใจที่เป็นทุกข์
การหายใจไม่อิ่ม การหายใจไม่ทั่วท้อง
มันทำประโยชน์ให้เราได้ในเบื้องต้น
คือเวลาที่หายใจแล้วเป็นทุกข์ หายใจแล้วไม่อิ่ม
ให้ดูว่าอะไรที่มันกำลังเป็นทุกข์อยู่

จริงๆ แล้วร่างกายที่เขาหายใจแล้วเหมือนไม่อิ่ม เหมือนไม่พอ เหมือนจะตาย
เขาก็อยู่มาได้ของเขา แต่ตัวที่มันทรมานจริงๆ มันคืออาการปรุงแต่งทางใจ
ซึ่งมันเป็นของภายในของเรามากกว่า
อาการดิ้นปัดๆ ปัดๆ อยากจะหายใจให้มันสบายกว่านี้
มันยิ่งก่อให้เกิดความเกร็ง ก่อให้เกิดความคาดหวังที่เกินตัว
ยังไม่พร้อมจะได้แต่อยากจะได้เดี๋ยวนั้น มันเป็นทุกข์แน่นอน
ยิ่งทุกข์มันก็ยิ่งหายใจไม่อิ่ม หนักเข้าไปอีก


ทีนี้ถ้าเรามองว่าตัวผู้ทุกข์นี่มันคือจิต จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ร่างกาย
มันก็จะค่อยๆ แยกออกมาว่าผู้ทุกข์ผู้ที่ดิ้นรนอยู่
มันก็อยู่ของมันเป็นต่างหากจากอาการทางกาย
ถ้าผู้ทุกข์ไม่มี ผู้ดิ้นรนไม่มี มีแต่อาการทางกายที่บอกหายใจไม่ค่อยอิ่ม
แป๊บหนึ่งมันจะรู้สึกได้ว่าร่างกายมันไม่ได้ทุกข์อยู่ตลอดเวลา
มันไม่ได้หายใจไม่อิ่มอยู่ตลอดเวลา
บางทีมันมีช่วงของการผ่อนหนักผ่อนเบาบ้าง
บางทีลมหายใจมันยาวขึ้นได้นิดหนึ่ง
บางระลอกมันหายใจสุดได้สักครั้งสองครั้ง
อันนี้พูดจากประสบการณ์ตรง


เพราะฉะนั้นคือมันสามารถเห็นความไม่เที่ยงได้ ไม่เที่ยงของความทุกข์
แต่ถ้าเรายังมีความดิ้นรนอยู่นะ มันมีความทรมานใจ มันมีความอึดอัดอยู่นะ
มันจะทุกข์เท่าเดิมตลอด
มันจะมองไม่เห็นว่าทุกข์มันมีผ่อนหนักผ่อนเบาในแต่ละระลอกลมหายใจ
การมองไม่เห็นว่าความทุกข์ทางกายมันไม่เหมือนเดิม
มันก็เท่ากับสร้างความรู้สึกเป็นฐานความรู้สึกว่าความทุกข์มันเที่ยง
ความทุกข์มันจะต้องเกาะชีวิตเราตลอดไป
นี่ตัวนี้แหละทรมานใจที่สุดเลย
แต่ถ้าเรามาสังเกตตามจริงแล้วเห็นว่าทุกข์ในแต่ละลมหายใจ
มันไม่เหมือนเดิม มันต่างระดับไป ไม่มากก็น้อย
จิตใจ อาการปรุงแต่งของใจ มันจะค่อยๆ ผ่อนคลายออก

แล้วก็หายใจไปอย่างนั้นน่ะ ยังไม่ตายก็หายใจไป
หายใจไปเรื่อยๆ เห็นความต่างของความทุกข์ในการหายใจไปเรื่อยๆ


แล้วมันจะถึงจุดหนึ่งที่จิตมันใหญ่ขึ้น
มันเป็นสมาธิ มันรู้สึกผ่อนคลาย คงเส้นคงวามากขึ้น
ตรงนั้นนะร่างกายมันจะขยายออก มันจะเปิด ทางจะเปิด
อะไรที่มันกุมอยู่ อะไรที่มันคุมแน่นๆ อยู่ มันจะเริ่มปล่อย มันจะมีอาการปลดล็อก
ตรงนั้นคุณจะรู้สึกว่าหายใจได้ยาวขึ้น
ต่อให้คนเป็นโรคขั้นหนักขนาดไหนนะ มันก็จะมีจุดนี้
จุดที่จิตนี่เป็นจุดตั้งต้นของความสบาย
จิตทำตัวเป็นยารักษาโรคทางกายที่มันกำลังย่ำแย่อยู่
ให้มันมีความผ่องใส ให้มันมีความเปิด ให้มันมีความเบิกบานออกไป
แล้วมันจะหายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น หายใจได้เต็มอกมากขึ้น
แต่เสร็จแล้วพอมันกลับมาแย่ใหม่ก็อย่าไปเสียใจ
ให้ถือเป็นโอกาสมองเห็นเสียว่านั่นน่ะเรากำลังอยู่ในความจริง
อยู่ในช่วงเวลาชดใช้สิ่งที่เคยทำมา เคยทำให้คนอื่นทุกข์สาหัสอย่างไร
ตอนนี้เรากำลังเสวยผลนั้นอยู่
แต่เสวยผลแบบไม่ใช่ยอมแพ้นะ ไม่ใช่ยอมจำนน งอมืองอเท้า
เสวยผลทุกข์แบบนั้นเพื่อที่จะหลุดพ้นจากทุกข์
โดยการเห็นว่าความทุกข์มันไม่เที่ยง
แต่ละครั้งที่มันมากระหน่ำซ้ำเติม มาโจมตี มาจู่โจม
ก็ให้นับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง ดูมันใหม่ร่ำไปว่าความทุกข์มันมาเยือนแล้ว
แล้วก็เห็นความไม่เที่ยงของความทุกข์ อาการทุกข์
หรือว่าระดับความทุกข์ในแต่ละลมหายใจ


คือถือเป็นโอกาส อย่าท้อ แล้วก็อย่าสิ้นหวัง
อย่ามีความรู้สึกว่า โอ้โห
! มันทนต่อไม่ไหวแม้แต่วันเดียว
เพราะอาการที่บอกตัวเองว่าทนต่อไม่ไหวแล้วแม้แต่วันเดียว
มันเกิดขึ้นเป็นปีๆ มันก็ไม่เห็นจะไม่ไหวตรงไหนนะ มันก็ไหวต่อวันต่อวันนั่นแหละ
สำหรับคนที่ทนไม่ไหวจริงๆ คิดฆ่าตัวตายไปเสียก่อนนี่ น่าเสียดายนะ
คือจริงๆ ถ้ามีโอกาสพบวิธีการทางพุทธเป็นคนพุทธขึ้นมา เขาไม่ต้องฆ่าตัวตาย
คืออันนี้จริงๆ นะบอกจากประสบการณ์เลย
คือทุกข์แค่ไหน จะทุกข์สาหัสแค่ไหน
ถ้าหากรู้วิธีการทางพุทธที่จะทำให้ร่างกายมันผ่อนคลาย
รู้วิธีที่จะทำให้จิตแปรสภาพจากจิตเชื้อโรคเป็นจิตรักษาโรค
ทำจิตให้เป็นยาได้ มันรอดตายกันหมด

แต่ที่ไม่รอดตาย ต้องฆ่าตัวตายกัน
เพราะถึงจุดหนึ่งแล้วมันทนไม่ไหวจริงๆ แล้วก็เสร็จแล้ว
คือร่างกายมันยังไม่ได้ระเบิด ปุ้ง! ออกมา จิตยังไม่ได้ระเบิดเปรี้ยงปร้างนะ
แต่ไปเชือดตัวเอง หนี ตรงนั้นน่ะที่มันน่าเสียดาย


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP