สารส่องใจ Enlightenment

คุณค่าแห่งธรรม (ตอนที่ ๓)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
เทศน์ในงานพระราชทานเพลิงศพขุนศรีราชสุรากร
ณ วัดมหาชัย อ.เมือง จ.มหาสารคาม
เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๓



คุณค่าแห่งธรรม (ตอนที่ ๑) (คลิก)
คุณค่าแห่งธรรม (ตอนที่ ๒) (คลิก)



เพราะฉะนั้นศาสนธรรมคำสั่งสอนที่มีอยู่ในชาวพุทธของเรานี้
ก็ควรจะมีภาคปฏิบัติ อย่าให้มีแต่การศึกษาเล่าเรียนจดจำกันมาเปล่าๆ
จะไม่ค่อยเกิดประโยชน์เท่าที่ควร
การศึกษาการจำมานั้นไม่ใช่ตำหนิว่าไม่ดี
ถ้ามีแต่การศึกษาจดจำอย่างเดียว ไม่สนใจในภาคปฏิบัติแล้ว
ก็ไม่ผิดอะไรกับโลกที่เขาเรียนวิชาต่างๆ ทางโลกสงสารเขา
ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่ทางภาคปฏิบัติแล้ว วิชาที่เรียนมาเหล่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์
วิชาธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน
ถ้ามีแต่ศึกษาเล่าเรียนอย่างเดียว ไม่มีภาคปฏิบัติแฝงไปเลยนี้
ผลก็ไม่ค่อยมี ไม่ค่อยเกิดและไม่เกิด
ดีไม่ดีกิเลสยังแฝงเข้ามา แทรกเข้ามา สวมรอยเข้ามาได้
ในขณะที่ตนเรียนและเข้าใจว่าตนรู้หลักนักปราชญ์นั้นแล
อันเป็นเรื่องของกิเลสทะนงตัวอยู่ภายในจิตใจของเรา
จากการศึกษาเล่าเรียนของเรา โดยเจ้าตัวก็ไม่อาจรู้ได้



ภาคปฏิบัติคือยังไง ธรรมท่านสอนว่ายังไง
เช่นสอนพระ เวลาบวชแล้วท่านสอนว่ายังไง
พระพุทธเจ้าเป็นองค์เอกในความเฉลียวฉลาดสอนโลกสงสาร
เฉพาะอย่างยิ่งสอนพระที่บวชใหม่ท่านสอนว่าอย่างไร
ดังอุปัชฌาย์ท่านสอนอยู่ทุกวันนี้ ท่านสอนว่ายังไง
ขณะที่พระบวชใหม่ๆ คือบวชทีแรก ก็จับงานอันสำคัญนี้ให้เลยทีเดียวว่า
เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งมีอยู่ในร่างกายของเราด้วยกัน
เพราะโลกทั้งหลายหลงอันนี้ ติดอันนี้แล ไม่ได้ติดอะไรมากกว่าติดสิ่งนี้



ภูเขาทั้งหลายโลกไม่ติด ดินฟ้าอากาศหนาแน่นขนาดไหนไม่มีใครไปติดเขา
แต่เวลาจะติดก็ติด เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่แล
ติดผม ติดเล็บ ติดฟัน ติดหนัง ติดเนื้อ ติดเอ็น ติดกระดูก
ติดร่างกายของหญิงของชายของสัตว์ของบุคคลนี้แล
จึงทำให้เกิดความเดือดร้อน เพราะไม่มีสิ่งที่เปิดทางให้รู้ความจริงของมัน
พระพุทธเจ้าท่านมอบงานอันนี้ให้ เอ้า เอาไปกระจายเครื่องมือที่มอบให้นี้
ประหนึ่งว่าเป็นระเบิดเป็นปรมาณูที่จะทำลายกระจายภูเขาภูเรา
คือตัวของเขาตัวของเราให้แตกกระจัดกระจายออกไป
จากคำว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นหญิงเป็นชาย
ได้แปรสภาพลงไปสู่ธรรมชาติเดิมของตน
คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วไม่หลงกัน
ความไม่หลงก็ไม่ยึดไม่ถือ ความไม่หลงก็ไม่หึงไม่หวง
ความไม่หลงก็ไม่ทะเลาะกัน ความไม่หลงก็ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย
ปล่อยวางภาระทั้งหลาย คือภูเขาภูเราลูกใหญ่โตยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูกนี้ออกเสียจากใจ
แล้วใจก็ดีดผึงขึ้นมา ไม่ต้องถามหาพระนิพพานก็รู้เอง
นี่คือผลของการปฏิบัติธรรมของผู้บำเพ็ญอย่างแท้จริง
ย่อมได้เต็มสัดเต็มส่วนเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาลที่ยังทรงพระชนม์อยู่
สมกับธรรมเป็น อกาลิโก ไม่อ้างกาลเวลา



นี่แลธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนโลก ท่านสอนเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริงอย่างนี้
ไม่สอนแบบปาวๆ เพราะธรรมไม่ใช่เป็นตุ๊กตาเป็นตำรานำมาท่องบ่นสังวัธยาย
ได้ความรู้ชั้นนั้นชั้นนี้ แล้วก็ว่าตัวรู้ตัวเป็นบัณฑิตนักปราชญ์
นักปราชญ์อะไร นักปราชญ์แบกตั้งแต่ความสำคัญมั่นหมาย
ว่าเรารู้อย่างนั้นอย่างนี้ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ ถ้ารู้ก็ดูซิ
เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นยังไงมันถึงหลง
ถ้ารู้จริงๆ จะหลงอะไร ไม่หลง
พระพุทธเจ้าไม่หลง สาวกทั้งหลายท่านรู้จริงๆ ท่านไม่หลง
แต่พวกเราหลงมันเป็นยังไง มันกลับตาลปัตรกัน สวนทางกัน สวนลูกศรกัน
นี่แลคือกิเลสสวมรอยมันสวมอย่างนี้



เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้มีภาคปฏิบัติกลมกลืนกันไป
โดยยกให้เลยว่างานนี้เป็นงานชั้นเอก
ใครเรียนรอบงานนี้ รู้งานนี้ ปฏิบัติตามงานนี้ได้ตลอดทั่วถึงแล้ว
ผู้นั้นจะเป็นผู้ทำลายวัฏจักรวัฏจิต
ความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงในการเกิดตายนี้ให้หดย่นเข้ามาๆ จนกระทั่งพังทลาย
เรื่องความเกิดแก่เจ็บตายไม่มีในหัวใจดวงนั้นเลย
ท่านผู้บริสุทธิ์ท่านปฏิบัติอย่างนี้
แม้อุปัชฌาย์ทุกวันนี้ท่านก็สอนเวลาบวชกุลบุตรสุดท้ายภายหลังไม่เว้นแต่ละราย
ท่านบอกว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ บอกย่อๆ เท่านี้ก่อน
ให้นำธรรมนี้ไปประพฤติปฏิบัติให้รู้แจ้งตามความจริงไปโดยลำดับ



สถานที่อยู่ที่บำเพ็ญเป็นสถานที่เช่นใด
ซึ่งเป็นการเหมาะที่สุดกับการทำงานอันนี้ ให้สำเร็จลุล่วงไปตามความมุ่งหมาย
ท่านก็บอกว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย.
บรรพชาอุปสมบทแล้ว ให้ท่านทั้งหลายไปเที่ยวอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้
ชายป่าชายเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา อันเป็นที่สะดวกสบายแก่การบำเพ็ญนี้
ให้ถึงจุดหมายปลายทางคือความพ้นทุกข์
และจงทำความอุตส่าห์พยายามอย่างนี้ตลอดชีวิตเถิด
นี่คืองานของพระพุทธเจ้า
และสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้แล้วแก่ภิกษุบริษัทผู้บวชแล้ว
เพราะพระพุทธเจ้าทรงดำเนินมาแล้วทั้งนั้น
ทั้งเหตุในเวลาบำเพ็ญพระองค์ก็อยู่ในป่าในเขา
บำเพ็ญอยู่ในป่าในเขาจนถึงขั้นสลบไสล พระองค์ทรงบำเพ็ญมาแล้ว
และตรัสรู้ธรรมแดนประเสริฐ พระองค์ก็ทรงมาแล้ว
จึงได้นำวิธีการที่ถูกต้องดีงามนี้มาสั่งสอนสัตว์โลก
จึงขอให้บรรดาลูกหลานทั้งหลายที่เป็นพระเป็นเณร ได้นำไปประพฤติปฏิบัติ



ธรรมะเหล่านี้เป็นธรรมะสดๆ ร้อนๆ
ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าคือตลาดแห่งมรรคผลนิพพานเราดีๆ นี้แล
ขออย่าให้เป็นเศษกระดาษ ขออย่าให้เป็นตัวหนังสือ
เป็นคัมภีร์ใบลานทิ้งอยู่ตามตู้ตามหีบเปล่าๆ
ให้ธรรมเหล่านั้นฝังอยู่ในจิตใจของเรา ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามนั้นแล้ว
คำว่าสมาธิเป็นยังไง พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างสดๆ ร้อนๆ
ปัญญาเป็นยังไง ความหลุดพ้นเป็นยังไง จะเห็นในหัวใจของเรานี่แล
ถ้าดำเนินตามแนวแถวทางที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้นี้จะไม่เป็นอื่นเลย
จะเป็นไปเพื่อความสงบเย็นเป็นลำดับ
นี่คือทางเดินตามหลักศาสนธรรม ปราชญ์ท่านดำเนินกันอย่างนี้
กรุณาจำไว้อย่างฝังใจอย่าได้ลืม และปฏิบัติตาม จะเห็นผลไปโดยลำดับไม่อาจสงสัย



พระเราย่อมมีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าดำเนินตามหลักศาสนธรรมนี้แล้ว
สมาธิคือความสงบใจ ไม่ดิ้นรนกระวนกระวายกวัดแกว่ง ก็จะปรากฏขึ้นที่ใจของเรา
ปัญญาคือความเฉลียวฉลาดทางโลกกับทางธรรมนั้นต่างกัน
ปัญญาของโลกนั้นเขาเรียนมาก็เป็นโลกเป็นสงสาร
เพราะเป็นเรื่องของกิเลสผลิตให้ๆ
ความรู้มากน้อยเท่าไร ในเมื่อเราอยู่ในวิสัยของกิเลสแล้ว
ก็จะต้องเป็นเรื่องของกิเลสผลิตให้
เมื่อเรานำปัญญามาดำเนินในอรรถในธรรม
ที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว
ปัญญานั้นก็จะค่อยกลายเป็นธรรมแก้กิเลสๆ ไปโดยลำดับๆ


ปัญญาทางธรรมนี้จึงไม่ได้เหมือนกันกับปัญญาทางโลก
เมื่อเกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้บำเพ็ญมากน้อย
จะทำกิเลสให้หลุดลอยไป ความโลภมีมากขนาดไหนก็จะลดลง
ความโกรธลดลง ความหลงลดลง ราคะตัณหาลดลง
ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นกิเลสจะลดลงๆ
เพราะอำนาจแห่งปัญญานี้เข้าชะเข้าล้าง เข้าสังหารทำลาย
สุดท้ายกิเลสประเภทเหล่านี้ก็ม้วนเสื่อและกุสลาให้มันเรียบร้อย
กุสลานี้แปลว่ายังไง กุสลาแปลว่าความฉลาด
คนฉลาดก็แก้ตัวเองได้ คนฉลาดก็แก้กิเลสจอมฉลาดได้
ความฉลาดของกิเลสเป็นประเภทหนึ่ง ความฉลาดของธรรมเป็นประเภทหนึ่ง
เมื่อมีธรรมขึ้นภายในจิตใจเหนือกิเลสแล้ว
สามารถที่จะชำระทำลายกิเลสให้แตกกระจัดกระจายไปจากหัวใจ
แล้วกลายเป็นใจที่บริสุทธิ์พุทโธขึ้นมาทั้งดวง


กราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ แม้จะปรินิพพานไปนานสักเท่าไรไม่สำคัญ
เพราะนั้นเป็นกาลเป็นเวลา พระสรีระร่างกายนั้นท่านก็ตายได้
เราก็ตายได้ ไม่มีใครที่จะอยู่ค้ำฟ้าได้ เพราะนี้เป็นกฎอนิจจัง
แต่เรื่องความจริงคือความบริสุทธิ์พุทโธได้ปรากฏขึ้นแล้ว
ภายในจิตใจนี้เป็นอันเดียวกันกับพระพุทธเจ้า กราบพระพุทธเจ้าได้สนิท
ไม่สงสัยพระพุทธเจ้าว่าอยู่ในสถานที่ใด นี่แลคือผู้ถึงพุทธถึงอย่างนี้
ถ้าเป็นพระเราก็ให้ถึงวิมุตติหลุดพ้น นี้แลเป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
สำหรับเราแล้วก็ไม่ต้องบอกว่าจะเป็นสรณะของใครได้ในวาระต่อไป


ผู้ที่มีความร่มเย็นเป็นสุขภายในใจไปที่ไหนเย็นหมด
เพราะไฟคือกิเลสตัณหาหมดไปแล้วจากจิตใจ เหลือแต่ความสว่างกระจ่างแจ้ง
โลกวิทู พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งแทงทะลุ เราก็โลกวิทูตามภูมิของสาวก
รู้แจ้งแทงทะลุภายในจิตใจของเราตลอดทั่วถึง
จนกระทั่งบรรดาสัตว์ทั้งหลายมีความทุกข์ความยากลำบากเข็ญใจขนาดไหน
ตกนรกหลุมไหนๆ ทำไมจะมาปิดได้ล่ะ
เมื่อโลกวิทู ความรู้แจ้งทางจิตใจได้แทงทะลุไปหมดแล้ว
เอ้า ใครว่าบาปไม่มี บุญไม่มี นั่นก็คนตาบอดว่า เราอย่าไปเชื่อเขาซี
คนที่ว่าบุญมี บาปมี นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี
คือพระพุทธเจ้าผู้หูแจ้งตาสว่าง พระอรหันต์ท่านหูแจ้งตาสว่าง
เป็นผู้บอกผู้สอนว่า ธรรมชาติเหล่านี้มี ซึ่งผิดกันกับคนมืดบอดพูดเป็นไหนๆ


คนหูหนวกตาบอด ความโลภเต็มตัว ความโกรธเต็มตัว
ราคะตัณหาเต็มตัว ความมืดบอดเต็มตัว
เราไปเชื่อหาอะไรถ้าเราไม่อยากเป็นคนมืดบอด
ถ้าอยากเป็นคนมืดบอดก็เชื่อเขาไป ว่าบาปไม่มีบุญไม่มีแล้วสร้างแต่บาป
จะได้หาบแต่บาปแต่กรรมชั่วนั่นแหละ
เราพูดเฉยๆ ว่าบาปไม่มี บุญไม่มี นั้นพูดด้วยลมปาก
ส่วนบาปและบุญนั้นมิใช่ลมปาก แต่เป็นบาปเป็นบุญจริงๆ
บทเวลาเสวยกรรมกิเลสมันไม่เป็นผู้เสวย เราเป็นผู้เสวยกรรมเอง
เป็นทุกข์มากน้อยเราเป็นผู้เสวยเอง เราเป็นคนทุกข์เองอย่างเต็มตัว
แล้วเราเป็นตัวประกันรับบาปรับกรรมจากกิเลสที่หลอกลวงต้มตุ๋นนั้น
มันไม่โง่เกินไปหรือมนุษย์ชาวพุทธเรา
ซึ่งเป็นลูกศิษย์ตถาคตผู้จอมปราชญ์ฉลาดแหลมคมไม่มีใครเสมอเหมือน
แต่แล้วให้กิเลสเอาไปต้มตุ๋นสดๆ ร้อนๆ อย่างนี้
ซึ่งน่าสลดสังเวชเอานักหนา
และน่าอิดหนาระอาใจสำหรับท่านผู้เมตตาแนะนำสั่งสอน
กรุณานำปัญหาเหล่านี้ไปวินิจฉัยไต่ถามตัวเองบ้าง
ซึ่งอาจมีทางออกดีกว่าความรู้ความเห็นที่กิเลสกำลังถลุงอยู่เวลานี้


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา "คุณค่าแห่งธรรม" ใน ที่สุดแห่งทุกข์
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP