จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๘๕ ผลของ กรรมเก่า หรือ กรรมใหม่?



385 talk


ไม่ว่าจะถูกห่อหุ้มด้วยโลก

อันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ทางพุทธชี้ว่า
คุณกำลังอยู่กับผลกรรมของตัวเอง
ถ้าไม่ใช่กรรมใหม่ก็กรรมเก่า


พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า
กรรมเก่าของมนุษย์
ก็คือสิ่งที่เลือกไม่ได้ตั้งแต่เกิด
ได้แก่ กายแบบมนุษย์นี้ และ
จิตสำนึกแบบมนุษย์นี้
ส่วนกรรมใหม่ของมนุษย์
คือสิ่งที่เลือกได้ว่าจะให้เป็นอย่างไร ได้แก่
เจตนาดีชั่ว เบียดเบียนหรือเกื้อกูล มีศีลหรือทุศีล


ฉะนั้น หากสิ่งใดบังเกิดขึ้นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
พ้นจากการควบคุมหรือขวนขวายพยายาม
สิ่งนั้นเป็นผลของกรรมเก่า
เช่น ถูกรางวัลใหญ่ที่เขาจัดรายการชิงโชค
หรือจู่ๆมีตีนผีขับมาชนท้ายดื้อๆ


แต่หากสิ่งใดเกิดขึ้นด้วยผลของความพยายาม
ความตั้งใจให้เกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ผลกระทบทางใจ ทางความรู้สึก
สิ่งนั้นเป็นผลของกรรมใหม่
เช่น เลือกที่จะไม่ทำร้ายตอบคนที่ทำร้ายก่อน
จึงเบาใจจากการไม่ต้องสู้รบปรบมือ
เลือกที่จะไม่ผิดกาเมทั้งที่มีโอกาส
จึงโล่งใจไม่ต้องรู้สึกผิดในภายหลัง
เลือกที่จะปลีกตัวออกจากสังคมหัวราน้ำ
จึงปลอดโปร่งกายใจไม่ต้องสติเพี้ยน


กรรมเก่า
เป็นตัววางแผนว่าชีวิตนี้คุณต้องพบกับอะไร
ส่วนกรรมใหม่เป็นตัวแทรกแซง
ให้เกิดอะไรขึ้นหลังจากพบกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง


สรุปโดยย่นย่อ การตั้งความเชื่อแบบพุทธ
คือทำไว้ในใจว่า กรรมไม่ได้เริ่มทำกันที่ชาตินี้
ชาตินี้เกิดมาเป็นอย่างนี้ด้วยผลของกรรมเก่า
แต่คนที่นึกว่าอะไรๆถูกกำหนดไว้หมดแล้ว
ดิ้นหนีหรือทำอะไรให้ดีขึ้นไม่ได้แล้ว
จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ
เป็นต้นเหตุกรรมใหม่ในแบบงอมืองอเท้า
ไม่ใช่ทางไปสู่ความเจริญ
ไม่ใช่เหตุแห่งความสบายกายสบายใจ
ทั้งวันนี้และวันหน้า!


ดังตฤณ
พฤษภาคม ๒๕๖๗






review


ผู้ปฏิบัติตามธรรมะที่พระพุทธองค์ประทานไว้
ย่อมมีความร่มเย็นภายในใจ จนถึงสามารถสิ้นกิเลส
และหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง "คุณค่าแห่งธรรม (ตอนที่ ๓)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/
\-)


หากหายใจแล้วรู้สึกอึดอัด หรือไม่มีความสุขกับการหายใจเอาเสียเลย
นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว
การฝึกเจริญสติจะมีส่วนช่วยบรรเทาอาการนี้ได้หรือไม่
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "หายใจไม่อิ่มอยู่ตลอด ควรทำอย่างไร"


การทำงานที่มีการแข่งขันสูงอยู่ตลอดเวลา
ถึงแม้จะรักในงานที่ทำ แต่ก็คงมีบ้างที่เหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ
ดังเรื่องราวจากกรณีศึกษาในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ"
ตอน "งานหนักแค่ไหน...หัวใจยังสู้"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP