ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ถ้าอยากปฏิบัติธรรม ควรเริ่มต้นอย่างไร



ถาม – ผมอยากปฏิบัติธรรม ไม่ทราบว่าควรเริ่มต้นอย่างไรดีครับ


วันนี้เรามาพูดกันเกือบจะเรื่องแอดวานซ์ (advance) นิดหนึ่ง
แต่ว่าเป็นคำถามที่มีมาตลอดเลย
ว่าที่เราปฏิบัติกันไป มันปฏิบัติไปเพื่ออะไร เพื่อให้เกิดภาวะแบบไหน
แล้วถ้าอยากได้มรรคผล ภาวะของมรรคผลหรือว่าใกล้เคียงกับจะได้มรรคผล
มันจะต้องรู้สึกกันอย่างไร
อันนี้ก็เอาคำของพระพุทธเจ้า เป็นพุทธพจน์เลยมาแสดง
ว่าองค์ ภาวะที่มันใกล้เคียงกับมรรคผลเป็นอย่างไร


ทีนี้กลับมาสู่จุดเริ่มต้น บางคนเริ่มสนใจเพิ่งมาสนใจ จะทำอย่างไรก่อน
ก็เริ่มต้นขึ้นมาเอาง่ายๆ เลยตั้งใจถือศีลให้ได้
ถ้าตั้งใจถือศีลได้ คุณมีจิตที่พร้อมจะรู้
แต่ถ้าไม่สามารถรักษาศีลได้ คุณมีจิตที่พร้อมฟุ้ง

แล้วฟุ้งนี่มันผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไปได้เรื่อยเปื่อยตามการปรุงแต่งในแต่ละวัน
นิสัยทางใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
บางคนคิดเตลิดไปนู่น เรื่องบางเรื่องไม่จริงเราก็ไปปรุงแต่งให้มันเป็นจริงเป็นจัง
ฟุ้งแบบนั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะรู้อะไรเข้ามาภายในขอบเขตของกายใจได้
เพราะฉะนั้นเริ่มต้นจากการรักษาศีลก่อน
แล้วจากนั้นหัดที่จะไม่พูดอะไรโกหก ไม่พูดคำหยาบ
ไม่พูดส่อเสียดนินทา แล้วก็ไม่พูดเพ้อเจ้อ พล่ามไปเรื่อย
ลักษณะของคนที่สามารถจะคุมคำพูดตัวเองได้
จิตจะเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งเราเกิดความอยากจะพัฒนาความนิ่งความตั้งมั่นให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป
ตรงนี้แหละที่มันจะเริ่มอยากดูลมหายใจได้นานๆ


พอจิตมันมีความนิ่ง พอจิตมันมีความตั้งมั่นแล้ว
มันเกิดความรู้สึกขึ้นมาเองว่าอยากต่อยอด ต่อยอดเป็นการดูลมหายใจ
ดูง่ายๆ เอาเดี๋ยวนี้เลย ไม่ต้องไปมีพิธีรีตองที่ไหน
ไม่ต้องเข้าห้องพระ ไม่ต้องไปทำพิธีไหว้ครูอะไร
เริ่มจากการถามตัวเองว่าตอนนี้หายใจออกอยู่ หรือว่าหายใจเข้าอยู่ หรือว่าหยุดหายใจอยู่
ตอนที่คุณถามตัวเองแล้วได้คำตอบจากร่างกายของตัวเอง
มันจะเป็นอาการหายใจที่ยาวขึ้นโดยอัตโนมัติ
เพราะอะไร เพราะว่าตัวสติ เมื่อมันสำรวจมันส่องเข้าไปรู้เรื่องเกี่ยวกับการหายใจ
มันจะมีการดึงขึ้นมาเพื่อให้ชัด สติชอบอะไรที่มันปรากฏกับการรับรู้ชัดๆ
เพราะฉะนั้นมันก็เลยดึงขึ้นมาทีหนึ่ง


ทีนี้ถ้าคุณมีความอยากที่จะให้ลมมันยาวต่อ
มันก็จะหายใจยาวทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาจะต้องหายใจ
ร่างกายยังไม่พร้อมจะดึงลมหายใจเข้ามา คุณก็ดึงเข้ามาแล้ว
อย่างนี้เรียกว่าเป็นการหายใจตามความอยากของใจ
ไม่ใช่หายใจตามธรรมชาติของกาย
กายมันอยากที่จะดึงลมเข้า อยากที่จะระบายลมออก
มีจังหวะจะโคนที่เหมาะสมของมันเอง
แต่มันจะไม่สัมพันธ์กันถ้าหากว่าคนเราอยากจะทำสมาธิ
แล้วก็มีใจอยากสงบเร็วๆ หรือว่าอยากจะเห็นลมหายใจชัดมากๆ
มันเกิดอาการดึงแบบผิดจังหวะ
ซึ่งถ้าคุณสังเกตได้ อาการดึงแบบผิดจังหวะนี้มันจะนำความอึดอัด
นำความรู้สึกไม่ดี นำความรู้สึกแย่ๆ เกร็งเนื้อเกร็งตัวขึ้นมา


ถ้ารู้ รู้ทันว่าความอยากเป็นเหตุให้เกิดความกระวนกระวาย
เป็นเหตุให้เกิดความอึดอัดกายอึดอัดใจ
เราก็จะเริ่มสังเกตใหม่ว่ากายเขาต้องการลมเมื่อไหร่ กายเขาต้องการผลักลมออกเมื่อใด
มันจะมีความรู้ตามจริงขึ้นมา ความรู้ตามจริงว่าจังหวะของลมมันควรเป็นไปเมื่อไหร่
อันนี้แหละที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความสงบนิ่ง
เพราะอะไร เพราะว่าพอมันไม่อยาก พอใจไม่อยาก
แล้วมีกระบวนการทางธรรมชาติปรากฏให้รู้ปรากฏให้ดู มันจะมีความพึงพอใจ


ปกติจิตมันจะมีความฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา
แต่พอเห็นว่าการทำงานของกาย เขาต้องการลมเข้าเมื่อไหร่ ต้องการระบายลมออกเมื่อใด
มันจะมีความรู้สึกเป็นสุขขึ้นมาเล็กๆ ว่าธรรมชาติเขาเป็นกันอย่างนี้นะ
ถึงเวลาเข้าเขาก็ดึงลมเข้า ถึงเวลาออกเขาก็ระบายลมออก
เหมือนกับเราเพลินชมนกชมไม้ หรือว่าเพลินชมกิ่งไม้ใบหญ้าที่มันไหวเอนตามแรงลม
มันดูแล้วเพลินดี ถ้ามีแก่ใจจะดู
ทีนี้พอดูๆ ไป คุณจะเห็นว่าที่ดูอยู่น่ะมันไม่ใช่กาย ไม่ใช่กายดูกาย
คุณจะเกิดความรับรู้ขึ้นมา
ว่ามีอะไรอีกอย่างหนึ่งเป็นต่างหากจากกายกำลังดูสภาวะทางกายอยู่
สิ่งที่เป็นต่างหากจากกายนั้นก็คือจิตนั่นเอง
การรับรู้ของจิตมันจะค่อยเป็นค่อยไปนะ
คือตอนแรกเราจะรู้สึกว่ามีตัวความคิดของเราไหลเวียนอยู่ในหัว
แล้วก็ร่างกายกำลังตอบสนองว่าตัวทั้งตัวที่กำลังคิดเป็นตัวเรา


แต่พอเริ่มสังเกตออกว่าลมหายใจเดี๋ยวมันเข้า เดี๋ยวมันออก เดี๋ยวมันยาว เดี๋ยวมันสั้น
มีแต่ภาวะพัดเข้าพัดออก ไม่มีความเป็นบุคคลอยู่ในลม
มันก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาใหม่
ว่าสงสัยตัวเราจริงๆ แล้วคือจิต คือความคิดที่ตั้งใจดูอยู่
มันก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าจิตอย่างนี้ ความคิดแบบนี้เป็นตัวเราที่แท้จริง
ร่างกายกำลังขยับ ท้องพองออกแล้วก็ยุบ
ลมมันผ่านเข้าผ่านออกอยู่ มันสักแต่แสดงให้ดู
นี่มันย้ายตัวตน เดิมทั้งก้อนนี้มันเป็นตัวตนของเราหมดเลย ทั้งร่างกายแล้วก็ความคิด
แต่พอมันเริ่มอ่านออก จิตน่ะจำไว้นะ เห็นสิ่งใดแสดงความไม่เที่ยงได้
มันจะเริ่มรู้สึกว่าเป็นคนละอันกันกับสิ่งที่แสดงความไม่เที่ยงนั้น

คืออันนี้เป็นความฉลาดตามธรรมชาติของจิตนะ
เดิมทีเวลาเราหายใจเราจะรู้สึกใช่ไหมว่านี่ตัวเราแน่ๆ ร่างกายเป็นเรา
แต่พอเห็นลมหายใจแสดงความไม่เที่ยงมากเข้า สังเกตเห็นความไม่เที่ยงบ่อยเข้า
จนกระทั่งจิตเริ่มเหมือนกับตีตัวออกห่างมากจากลมหายใจ
มันจะเริ่มไม่ยึดแล้วว่าลมหายใจเป็นตัวเป็นตน มันเห็นเป็นคนละพวก


ทีนี้พอเราเริ่มไปถึงภาวะตรงนั้นว่าจิตเป็นผู้ดูลม
จิตเป็นต่างหากจากลม ไม่ใช่ตัวตนของลมหายใจ
ความคิดที่ตั้งใจดูลมก็ไม่ใช่ลมหายใจ
ถึงตรงนี้แล้วพระพุทธเจ้าก็ให้ดูต่อว่าตัวความรู้สึก
หรือว่าที่เราเรียกว่าเป็นจิต สมมติเรียกว่าเป็นจิต
มันมีความอึดอัด มีความรู้สึกทึบๆ เป็นบางครั้งบางลมหายใจ
บางลมหายใจก็เกิดความรู้สึกโปร่งๆ ปลอดโปร่งขึ้นมา
บางทีมันมีความสว่าง มันมีความกว้าง มันมีความใส
แล้วเดี๋ยวมันก็กลับทึบขึ้นมาอีก โดยเฉพาะจิตของผู้ที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติ
มันก็จะเกิดอาการวนเวียนอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวก็ทึบเดี๋ยวก็โปร่ง
พอพิจารณาไปว่าสภาวะของจิตที่เรานึกว่าเป็นตัวเราที่แท้จริงมันเปลี่ยนได้
แล้วเปลี่ยนให้ดูอยู่ทุกลมหายใจ แทบทุกลมหายใจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมือใหม่นะ มันจะเปลี่ยนบ่อย
ลมหนึ่งมันโปร่ง อีกลมหนึ่งมันทึบ ลมหนึ่งมันฟุ้งจัด
อีกลมหนึ่งมันกลับค่อยๆ โรยตัวสงบเงียบลงมา


พอสังเกตออก พอสามารถที่จะอ่านได้ว่าทั้งภาวะความรู้สึกอึดอัด
ความรู้สึกสบาย หรือว่าความคิดฟุ้งบ้างสงบบ้าง
จริงๆ แล้วผ่านมาผ่านไป ไม่ได้แตกต่างจากลมหายใจเลย
เพียงแต่มันไม่บอกว่ามันเข้ามาในร่างกายส่วนไหน
รู้แต่ว่ามีบางอย่างเข้ามาในตัวเรา ผ่านเข้ามาในตัวเรา แล้วมันก็ผ่านออกไปจากตัวเรา
ผ่านออกไปแบบเป็นนามธรรม ผ่านเข้ามาแบบเป็นนามธรรม
แต่สาระสำคัญคือว่ามันผ่านมาแล้วต้องผ่านไป
ไม่แตกต่างจากลมหายใจ ตัวนี้แหละ
คือเริ่มต้นขึ้นมาอย่าพยายามที่จะไปตั้งเป้า อย่าคาดหวังว่าจะเอาความสงบ
แต่คาดหวังว่าจะเริ่มต้นขึ้นมาปฏิบัติวันแรกนี่ได้เห็นความไม่เที่ยงได้เลย

คุณจะมีความรู้สึกว่าได้น้ำได้เนื้อตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น
แล้วก็จะเข้าสู่ทิศเข้าสู่ทางที่มันตรงไปสู่ความรู้สึกว่าอะไรๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
เริ่มตั้งแต่ขอบเขตกายใจนี้เลย


แล้วคุณจะเห็นนะว่าจิตที่มันรู้สึกว่าไม่อยากยึดมั่นถือมั่นจริงๆ
เพราะเห็นว่ามันไม่เที่ยง
เป็นจิตที่ถอนตัวเองออกจากหล่มของความทุกข์
ถอนตัวเองออกจากต้นเหตุของความทุกข์

ตัวนี้แหละเป็นจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นนี่จริงๆ แล้ว ฟังดูเหมือนมันแอดวานซ์
หลายคนบอกว่าปฏิบัติมา ๒๐ ปี ยังไม่เคยเห็นอะไรที่ว่านี้
ก็เพราะว่าทิศทาง มันอยู่ข้างในนี้นะ ผิดหรือถูกมันอยู่ข้างในนี้
ไม่ว่าคุณจะไปได้รับคำชี้แนะจากใครหรือว่าฟังมาแบบไหน
ถ้าหากว่าเอามาผสมเอง แล้วก็คิดเอง ประมวลเอง แล้วก็ทำเอง
ในแบบที่มันออกนอกลู่นอกทางของพระพุทธเจ้า
มันไม่มีทางเห็นไปทั้งชีวิตว่าอะไรบ้างที่ไม่เที่ยง
มันมีแต่ว่ายิ่งปฏิบัติ ยิ่งเกิดความรู้สึกหนักๆ ขึ้นมา
มีอัตตา มีตัวตน มีหน้ามีตาแบบใหม่ขึ้นมาของผู้ปฏิบัติ
ที่ยิ่งวัน พูดง่ายๆ ว่า แทนที่จะหลุดพ้นจากความรู้สึกในตัวตน
มันกลับยิ่งจมแน่นลงไปในปลักของตัวตนหนักเข้าไปอีก


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP