สารส่องใจ Enlightenment

ฝึกสติเพื่อสมาธิ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
เทศน์อบรมนักเรียน โรงเรียนสุรนารีวิทยา ณ วัดวะภูแก้ว
เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕



บัดนี้ นักเรียนทั้งหลายได้ตั้งใจมาเข้าค่ายอบรมธรรมะ
ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติภาวนา เพื่อเสริมสมรรถภาพทางจิตให้มีความเข้มแข็ง
ในการที่จะประกอบการงาน มีการศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น


โดยธรรมชาติของจิตนั้น จะมีเพียงความรู้สึก รู้นึก รู้คิด
แต่ไม่รู้ดี รู้ชั่ว ผิดชอบชั่วดี คิดเรื่อยเปื่อยไปอย่างไม่มีสถานี
แต่ที่เรามีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี
ก็ต้องอาศัยการฝึกสมาธิให้มีสติ คือความรู้สึกสำนึก
และพวกเราก็ได้เริ่มต้นฝึกสมาธิมาแล้วตั้งแต่เริ่ม
พ่อแม่สอนให้เรารู้จักรับประทาน รู้จักดื่ม รู้จักขับถ่าย
รู้จักพักผ่อนหลับนอน รู้จักอาบน้ำ รู้จักแต่งตัว
ในช่วงที่เรายังเด็กๆ ความรู้สึกของเราเพียงแต่รู้สึก รู้นึก รู้คิด แม้แต่ความอายเราก็ไม่มี
เด็กๆ เราสามารถที่จะแก้ผ้าอาบน้ำ หรือเดินตามถนนได้
อันนั้นเรายังไม่มีสติ สำนึกผิดชอบชั่วดี แล้วเราก็ไม่รู้สึกเหนียมอาย
แต่เมื่ออาศัยสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม
ที่พ่อแม่พี่เลี้ยงนางนมได้ฝึกสอนทีละเล็กละน้อย
เราค่อยมีความคิด มีสติ มีพลัง เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
เราก็เกิดความรู้สึกอาย รู้อะไรผิด รู้อะไรถูก
แต่เมื่อเรายังเด็ก พ่อแม่ปล่อยให้คลาน ต้วมเตี้ยมๆ อยู่ตามลานบ้าน
ไปเจออะไรก็หยิบเข้าปาก เรานึกว่าเป็นของกิน
บางทีเจอขี้ไก่ก็หยิบเข้าปากเพราะนึกว่าขนม นี่ อย่างนี้เป็นต้น
อันนี้เรายังมีสติไม่เพียงพอ จึงไม่รู้ว่านี่คือขี้ไก่ นั่นคือขนม


แต่เมื่อเราผ่านการอบรมเราโตขึ้น ความสำนึกผิดชอบเริ่มเกิดขึ้นทีละน้อยๆ
จนกระทั่งบัดนี้เราได้เข้าสู่สถาบันการศึกษาโดยลำดับ
ตั้งแต่อนุบาล ชั้นประถม มาระดับมัธยม เราได้ฝึกสติมาโดยลำดับ
เวลาที่ครูสอนให้อ่านหนังสือ ท่านเขียนใส่กระดานดำแล้วก็อ่านว่า ก. ไก่
ทีแรกเราก็อ่านทีเดียว เราก็จำไม่ได้ เพราะสติเรายังไม่มี ความจำยังไม่เข้มแข็ง
พออ่านซ้ำๆ เข้าไป สติก็ค่อยดีขึ้นเราก็จำได้ สามารถอ่านออกเขียนได้
และสามารถเรียนมาได้ จนถึงระดับที่เรากำลังศึกษาอยู่นี้
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องของสติทั้งนั้น


ดังนั้นที่เรามาฝึกสมาธินี่
เพื่อให้จิตมีสมาธิและจิตมีพลังเข้มแข็ง มีสติขึ้นโดยลำดับ

และเรายังมีภาระที่จะต้องฝึกสติและสมาธินี้ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับๆ
จนกว่าเราจะจบการศึกษา
เมื่อจบการศึกษาแล้ว เรายังจะได้ใช้กำลังสมาธิและพลังสติ
ไปประกอบการงาน ตามหน้าที่ของตนๆ เราจะต้องใช้สมาธิและสติทั้งนั้น
ทีนี้ สติ แปลว่า ความระลึก เมื่อเราตั้งใจนึกถึงสิ่งใดอย่างแน่วแน่
ความระลึกเป็นอาการของสติ ความแน่วแน่เป็นกำลังของสมาธิ มันไปพร้อมๆ กัน
ทีนี้เราจะมีสมาธิและสติเข้มแข็ง เราต้องใช้การฝึก
เพราะครูบาอาจารย์ทั้งหลายมองเห็นผลประโยชน์ดังที่กล่าวมา
ท่านจึงได้นำพวกเรามาฝึกอบรมสมาธิ


ทีนี้ ตามธรรมเนียมของผู้นับถือศาสนา
อะไรที่เกี่ยวกับศาสนาเราเริ่มต้นด้วยการไหว้ครู
ทีนี้การไหว้ครูเราได้ไหว้ไปแล้ว อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์
ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ
ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
นี่คือการไหว้ครู คือไหว้พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดา
เช่นเดียวกับนักเรียนเข้าห้องเรียน
เมื่อเวลาครูเดินผ่านต้องลุกขึ้นทำความเคารพ สวัสดีค่ะ คุณครู
นั่นแหละคือการไหว้ครูของเรา
ทำไมจึงต้องไหว้ครู ก็เพราะว่าครูเป็นแบบอย่าง
ครูเป็นผู้สอนประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่เรา
เราต้องไหว้ด้วยความจริงใจ ด้วยความเคารพ ด้วยการบูชา
ไหว้ให้มันถึงจิตถึงใจ


ทีนี้ สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
พระธรรมคือคำสั่งสอน ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ตรัสไว้ดีแล้ว
อันนี้ไหว้คำสอน ธัมมัง นะมัสสามิ
ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม อันนี้คือไหว้คำสอน
หมายความว่าเราเรียนด้วยความเคารพ ปฏิบัติด้วยความเคารพ
สุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวกสังโฆ
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
หมายถึงผู้สืบศาสนา บุคคลผู้เป็นตัวอย่าง
พระสงฆ์ท่านแสดงตนให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
ท่านนั่งก็นั่งเป็นระเบียบเรียบร้อย เดินก็เดินด้วยการสำรวม พูดก็มีศีลมีสัตย์
ท่านจึงเป็นตัวอย่างที่ควรกราบไหว้
สังฆัง นะมามิ ข้าพเจ้าขอนอบน้อม
หมายถึงเราน้อมจิตน้อมใจที่จะปฏิบัติตามอย่างพระสงฆ์นั้นเอง
อันนี้คือวิธีไหว้ครู


ทีนี้พอเสร็จแล้ว เราก็จะแสดงกิริยา
คือน้อมจิตน้อมใจให้เข้าถึงพระพุทธเจ้า เราจึงว่า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง พระองค์นั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อเป็นอุบาย
ปลุกจิตปลุกใจให้มีความเคารพนบนอบในพระพุทธเจ้า


ทีนี้พระพุทธเจ้าคืออะไร พระพุทธเจ้าคือพระพุทธรูปหรือ
ไม่ใช่ พระพุทธรูปนั้นเป็นแต่เพียงรูป
เพื่อเป็นสิ่งปัจจัยที่แสดงให้ระลึกถึงพระองค์ท่าน
เป็นสิ่งที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็มีรูปมีร่าง มีตัวมีตน
เดิมทีเดียวพระพุทธเจ้าก็คือมนุษย์เรา
จะแตกต่างก็โดยที่พระองค์เกิดในตระกูลกษัตริย์
ซึ่งนักเรียนทั้งหลายก็ได้ทราบอยู่แล้วว่า คือท่านชายสิทธัตถะ
เสด็จออกบรรพชา แล้วปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
ได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเราได้เรียนรู้หลักปฏิบัติของพระองค์ในการต่อไป
แต่แท้ที่จริงแล้วองค์ของท่านชาย
คือร่างกายตัวตนของท่านนั้น ไม่ใช่พระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
แต่เป็นสิ่งที่สิงสถิตประดิษฐานของคุณธรรมที่ทำคนให้เป็นพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นคุณธรรมที่เกิดขึ้นในใจของเจ้าชายสิทธัตถะ
เช่นเดียวกันกับครูบาอาจารย์ทั้งหลายของพวกเรานี่
พอเรียนจบปริญญาตรี สอบได้ ได้ใบประกาศ ท่านก็เรียกว่าบัณฑิต
ถ้าได้ปริญญาโทก็เรียกว่ามหาบัณฑิต ได้ปริญญาเอกก็เรียก อภิมหาบัณฑิต
ซึ่งสังคมของวงการศึกษาก็เรียกว่าดอกเตอร์
ท่านชายสิทธัตถะที่ท่านค้นพบธรรมะที่ทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้า
แล้วก็ได้สำเร็จธรรมนั้นด้วย


พระพุทธเจ้านี่ อาการของความมีพระพุทธเจ้านี้ในจิตในใจมันเป็นอย่างไร
อย่างเรามีพระพุทธเจ้าไหม ใครมีความรู้สึก สำนึกผิดชอบชั่วดี
นักเรียนมีทุกคน เพราะเรามีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีนั้นเอง
จึงมาเรียน มาเรียนเพื่อให้มีความรู้
เพราะเรารู้แล้วว่าความไม่มีความรู้นั้น ไม่มีการศึกษา กลายเป็นคนโง่
เรารู้สึกว่าเราโง่ในตอนต้น เพราะเราไม่มีความรู้
แล้วเราจึงตั้งใจมาเรียนมาศึกษา
เพื่อจะให้มีความรู้ตามหลักวิชาการในหลักสูตร ตามชั้นภูมิที่เราเรียน
อันนี้เรียกว่าเรามีความรู้สึกสำนึก


ทีนี้เมื่อเราเรียนแล้วนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเอง
ตลอดทั้งบิดา-มารดา ครอบครัวของเรา
เรียกว่าเป็นผู้สำนึกผิดชอบชั่วดี
ทีนี้เพียงแต่ความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีนั้น
มันยังไม่เพียงพอ เพราะพลังงานมันยังไม่พร้อม
เราจึงจำเป็นต้องมาฝึกจิตใจ สภาวะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ลักษณะแห่งความมีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราจะต้องมีสติ
มีสติเตรียมพร้อมเสมอ เตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้าต่อเหตุการณ์
ไม่ว่าจะยากง่ายหนักหน่วงเพียงใดก็ตามไม่ถอย
เพราะเรามีพลังสมาธิ พลังสติที่เข้มแข็ง เรากล้าสู้กับสิ่งนั้นๆ
เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคแห่งชีวิตให้เป็นไปด้วยความปลอดภัย ด้วยความชอบธรรม
ซึ่งหลักและวิธีการอันนี้เราจะได้ศึกษาในโอกาสต่อไป
ซึ่งบางทีครูบาอาจารย์ก็ได้ฝึกสอนนักเรียนมาแล้ว
แต่ที่มาวัดมาเข้าค่ายกันนี้เพื่อที่จะแสดงการปฏิบัติให้เข้มงวดขึ้นนั่นเอง


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ฐานิยปูชา ธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
พิมพ์ครั้งที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP