จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

รับมือการติเตียน


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



387 destination


ในยุคของโซเชียลมีเดียนี้ หากเป็นข่าวในเรื่องใด ๆ แล้ว
ย่อมจะไม่สามารถรอดพ้นการถูกติเตียนได้
เช่น หากเราเลือกไปทางซ้าย ก็จะมีคนติเตียนว่าทำไมไม่ไปทางขวา
ในขณะที่หากเราเลือกไปทางขวา ก็จะมีคนติเตียนว่าทำไมไม่ไปทางซ้าย
กล่าวคือไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม เราย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกติเตียนได้
จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่า เราควรจะรับมือกับการติเตียนนั้นอย่างไร


ก่อนหน้านี้ ก็มีญาติธรรมท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับละครเรื่องหนึ่ง
ชื่อเรื่อง “
ขวัญฤทัย” ซึ่งในละครเรื่องนั้น นางเอกเป็นเด็กสาวสู้ชีวิตลำบาก
และมีความกตัญญูกตเวทีต่อมารดา และผู้มีพระคุณ
แต่ก็มีบางความเห็นในโซเชียลมีเดียได้ติเตียนว่า
นางเอกของเรื่องนี้สวยมีออร่าสู้น้องสาวพระเอกไม่ได้
ซึ่งก็ได้มีบางความเห็นอธิบายแย้งว่า ตามเนื้อหาของบทประพันธ์แล้ว
นางเอกเป็นเด็กสาวบ้านไม่รวยและต้องทำงานสู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก
ในขณะที่น้องสาวพระเอกเป็นคุณหนูบ้านร่ำรวยและเป็นนักเรียนนอก
ดังนี้ หากจะสร้างละครให้นางเอกสวยมีออร่ากว่าน้องสาวพระเอกแล้ว
ก็จะทำให้ไม่สมจริง และไม่ตรงกับเนื้อหาของบทประพันธ์
ซึ่งก็เป็นคำอธิบายที่ฟังแล้วเข้าใจได้นะครับ
โดยในเรื่องนี้ เมื่อผู้สร้างละครได้เลือกทำตามบทประพันธ์แล้ว
ก็ย่อมจะเป็นธรรมดาที่จะโดนติเตียนว่าน้องสาวพระเอกสวยมีออร่ากว่านางเอก
แต่หากผู้สร้างละครเลือกทำให้นางเอกสวยมีออร่ากว่าแล้ว
ก็จะโดนติเตียนได้ว่า ตัวละครไม่ตรงกับเนื้อหาของบทประพันธ์
กล่าวคือผู้สร้างละครย่อมไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงการติเตียนไปได้
ผู้สร้างละครก็ย่อมต้องพิจารณาเลือกว่าจะดำเนินการอย่างไร


ในเรื่องที่การสร้างภาพยนตร์หรือสร้างละครที่ไม่ตรงตามบทประพันธ์
ก็มีเรื่องราวให้ถกเถียงหลายเรื่องในโซเชียลมีเดียนะครับ
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของภาพยนตร์เรื่อง Little Mermaid ในปี ๒๐๒๓
ของค่าย
Walt Disney Pictures ซึ่งได้นำนักแสดงผิวสีมาแสดงเป็นนางเอก
ทำให้ภาพตัวละครของ Little Mermaid แตกต่างจากบทประพันธ์อย่างมาก
ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคำติเตียนมากและขาดทุนอย่างหนัก
ส่งผลให้ค่าย
Walt Disney Pictures ต้องคิดหนักว่าจะหยุดแค่นี้หรือจะไปต่อ
เพราะทางค่ายก็อยู่ระหว่างจัดสร้างภาพยนตร์เรื่อง Snow White
โดยได้นำนักแสดงผิวสีมาแสดงเป็นนางเอก
และได้นำนักแสดงหลากหลายเชื้อชาติมาแสดงเป็นคนแคระทั้ง ๗
ซึ่งลักษณะของตัวละครดังกล่าวแตกต่างจากบทประพันธ์อย่างมาก
โดยหลายความเห็นได้มองว่าเป็นความพยายามที่จะแทรก
เรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติเข้ามาในภาพยนตร์
โดยในเรื่องนี้ ค่าย
Walt Disney Pictures ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าจะทำอย่างไร


ในเรื่องของการติเตียนนี้ เป็นหนึ่งในโลกธรรม ๘ ประการ
ได้แก่ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑
นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑
โดยโลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก
และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้
ซึ่งท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านี้แล้ว
ย่อมพิจารณาเห็นว่าธรรมเหล่านี้ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
และธรรมเหล่านี้ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=3230&Z=3246&pagebreak=0


ในเมื่อการติเตียนเป็นโลกธรรมที่อยู่คู่กับโลก
และเราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการถูกติเตียนได้แล้ว
เราควรพิจารณาการรับมือการติเตียนดังกล่าว
ซึ่งผมขอแนะนำให้เราพิจารณา ดังนี้ครับ
๑. ไม่ปล่อยให้การติเตียนดังกล่าวมาย่ำยีทำร้ายจิตใจเรา
แต่ควรจะพิจารณาการติเตียนดังกล่าวว่าเป็นความจริงหรือไม่
และเราควรจะนำมาปรับปรุงในเรื่องใด ๆ ในปัจจุบันหรืออนาคตหรือไม่
๒. หากการติเตียนนั้นไม่เป็นจริงแล้ว เราควรพิจารณาว่าสมควรจะทำการชี้แจงหรือไม่
ซึ่งหากเห็นสมควรจะต้องทำการชี้แจงแล้ว เราก็ทำการชี้แจงตามที่เหมาะสม
๓. หากการติเตียนนั้นไม่เป็นจริง แต่เราเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะชี้แจง
หรือหากชี้แจงแล้ว จะยิ่งทำให้มีปัญหามากขึ้นหรือทำให้สถานการณ์แย่ลงแล้ว
เราก็ควรจะปล่อยผ่านการติเตียนดังกล่าวไปครับ


อนึ่ง ตามพระธรรมคำสอนนั้น ใน “กกจูปมสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
ได้เล่าถึงภิกษุรูปหนึ่งที่ชื่อว่า “โมลิยผัคคุนะ”
ซึ่งภิกษุโมลิยผัคคุนะได้อยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีจนเกินเวลาอยู่เสมอ
หากมีภิกษุรูปใดติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าภิกษุโมลิยผัคคุนะ
หรือติเตียนภิกษุโมลิยผัคคุนะต่อหน้าภิกษุณีเหล่านั้นแล้ว
ภิกษุโมลิยผัคคุนะก็จะโกรธและขัดใจภิกษุรูปนั้น จนถึงกระทำให้เป็นอธิกรณ์ก็มี


พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงรับสั่งให้เรียกภิกษุโมลิยผัคคุนะมาเข้าเฝ้า
และได้ทรงสอนว่า ดูกรผัคคุนะ การที่เธออยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีจนเกินเวลานี้
ไม่สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย
ดูกรผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าแม้ภิกษุรูปใด ติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าเธอ
แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย
แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน
และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่
แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน ดูกรผัคคุนะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล


ดูกรผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครประหารภิกษุณีเหล่านั้น ด้วยฝ่ามือ
ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาตราต่อหน้าเธอ
แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย
แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน
และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่
แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน ดูกรผัคคุนะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล


ดูกรผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใคร ๆ ติเตียนตัวเธอเอง ต่อหน้าเธอ
แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย
ดูกรผัคคุนะ แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน
และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่
แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน ดูกรผัคคุนะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล


ดูกรผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครประหารเธอด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน
ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาตรา ดูกรผัคคุนะ แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ
และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก
จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต
ไม่มีโทสะภายใน ดูกรผัคคุนะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ดังนี้แล


หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า
เอาเลื่อยที่มีที่จับทั้งสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ
แม้ในเหตุนั้นภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดมีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น
ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของเรา
เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น
เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน
เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์
เราจักมีเมตตาจิตไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น
และเราจักแผ่เมตตาอันไพบูลย์ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้
ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น
ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.
https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=12&A=4208


ใน “พรหมชาลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ก็ตาม
เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรโทมนัสน้อยใจ ไม่ควรแค้นใจในคนเหล่านั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์
ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคืองหรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น
อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์
ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคืองหรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น
เธอทั้งหลายจะพึงรู้คำที่เขาพูดถูก หรือคำที่เขาพูดผิดได้ละหรือ
?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ในคำที่เขากล่าวตินั้น คำที่ไม่จริง
เธอทั้งหลายควรแก้ให้เห็นโดยความไม่เป็นจริงว่า นั่นไม่จริง
แม้เพราะเหตุนี้ นั่นไม่แท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้นั่นก็ไม่มีในเราทั้งหลาย
และคำนั้นจะหาไม่ได้ในเราทั้งหลาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์
เธอทั้งหลายไม่ควรเบิกบานใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระเหิมใจในคำชมนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลายจักเบิกบานใจ จักดีใจ จักกระเหิมใจในคำชมนั้น
อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลายเพราะเหตุนั้นเป็นแน่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือชมพระสงฆ์
ในคำชมนั้น คำที่จริง เธอทั้งหลายควรปฏิญาณให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า
นั่นจริง แม้เพราะเหตุนี้ นั่นแท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้คำนั้นก็มีในเราทั้งหลาย
และคำนั้นจะหาได้ในเราทั้งหลาย.
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=1&Z=1071&pagebreak=0



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP