สารส่องใจ Enlightenment
อาศัยตัณหาละตัณหา (ตอนที่ ๑)
พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
(แผ่นที่ ๑๙ ลำดับที่ ๑๓)
พึงพากันตั้งใจ บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องฝึกตนกัน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า พระธรรมคำสอนของพระองค์ ไม่อ้างกาลอ้างเวลา
เพราะพระธรรมมีอยู่ทุกเมื่อที่จะให้เราพิสูจน์และปฏิบัติตาม
พระธรรมที่พระองค์เจ้าทรงแสดงนั้น
ก็ชี้เข้ามาที่ กาย วาจา ใจ ของคนเรานี้เอง
ในเมื่อ กาย วาจา ใจนี้ยังมีอยู่พระธรรมก็มีอยู่ ให้เข้าใจอย่างนั้น
เช่นในพระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรก็ทรงแสดงถึงเรื่องของความทุกข์
กล่าวโดยเนื้อความแล้ว แสดงถึงเรื่องของความทุกข์ แสดงถึงเหตุให้เกิดทุกข์
แสดงถึงความดับทุกข์ แสดงถึงข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
พระองค์เจ้าชี้ให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้งห้านั้นให้เห็น
ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้มันเป็นทุกข์
ความพิไรรำพัน เศร้าโศกเสียใจก็เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์
ความได้คบหาสมาคมกับบุคคลที่ไม่ถูกนิสัยกันก็เป็นทุกข์
ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมหวังก็เป็นทุกข์
นี้ทรงชี้ให้พุทธบริษัททั้งหลายรู้จักทุกข์อันมีอยู่ในร่างกายสังขารอันนี้
ให้รู้ให้เห็นทุกข์เหล่านี้นะมันเป็นผลของความเกิด
เมื่อเกิดมามีรูปมีนามอันนี้มาแล้ว ทุกข์มันก็มีมาพร้อมกัน
ถ้าไม่มีรูปไม่มีนามอันนี้ ทุกข์ก็ไม่มี
บัดนี้รูปนามอันนี้มันเกิดมาได้อย่างไร
มันเกิดมาได้เพราะจิตใจมันยึดมั่นอยู่ในตัณหาความอยาก
ความอยากให้รูปให้นามอันนี้อยู่ยั่งยืนนาน อยากให้รูปร่างอันนี้สวยสดงดงาม
หาเครื่องประดับประดามาตกแต่งอยู่อย่างนั้น หาปัจจัยสี่มาบำรุงมัน
แล้วไม่ใช้ให้มันทำบุญกุศลคุณงามความดีให้มาก ทำก็ทำนิดๆหน่อยๆ
ส่วนมากจิตใจก็ไปเพลินอยู่แต่การแสวงหาปัจจัยสี่มาบำรุงร่างกายอันนี้
ไม่บำรุงจิตใจของตนด้วยการสั่งสมบุญกุศล
ไปสะสมแต่บาปอกุศลให้มีขึ้นในใจของตน เพราะฉะนั้นมันถึงได้เป็นทุกข์
คนเราท่องเที่ยวอยู่ในสงสารอันนี้ เพราะเอาบาปเป็นเพื่อน
นี่แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์
ก็บุคคลทำบุญกุศลทำความดีอันนั้น มันก็เป็นตัณหาอยู่เหมือนกันแหละ
ตัณหาอยากได้บุญอยากมีความสุข แต่ว่ามันเป็นตัณหาฝ่ายดี
มันนำชีวิตจิตใจอันนี้ให้มีความสุขสูงขึ้นไปโดยลำดับ
ถ้าไม่มีบาปมาแทรกแซงแล้ว มันก็มีความสุขยิ่งขึ้นไป
ทำบุญมากเท่าไรก็มีความสุขมากเท่านั้น
แต่ที่คนเรามันพ้นทุกข์ไปไม่ได้โดยเร็ว
ก็เพราะตัณหาฝ่ายอกุศลนี่แหละ ความอยากไปในทางบาปอกุศล
แล้วก็ใช้กาย วาจา ทำไปในทางบาปอกุศล
บาปอกุศลก็หน่วงเหนี่ยวชีวิตนี้ ให้จมอยู่ในโลกสงสารอันนี้ ทนทุกข์ทรมานอยู่นี่
นี้ต้องให้รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์เป็นขั้นๆ ไป เมื่อรู้จักว่าเหตุให้เกิดทุกข์
ในขั้นต้นได้แก่ตัณหาความอยากไปในทางบาปทุจริต
รู้อย่างนี้แล้วก็เพียรละความอยากอันนี้ออกไปก่อน
พยายามฝึกใจของตนให้มันอยากไปแต่ในทางสุจริต
ทำอะไรพูดอะไรก็ให้มันตรงต่อศีลตรงต่อธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ถ้าฝึกได้อย่างนี้แล้วผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีบาปอยู่ในตน
เมื่อไม่มีบาปอยู่ในตนแล้ว ทำอะไรพูดอะไรก็เป็นบุญเป็นกุศลไปเรื่อยๆ แหละ
คิดอะไรก็เป็นบุญกุศลต้องให้เข้าใจอย่างนี้
พระพุทธเจ้ายังได้ทรงตรัสว่าอาศัยตัณหานั่นแหละละตัณหา
อาศัยมานะนั่นแหละ ละมานะ
ก็อาศัยตัณหาฝ่ายดีอย่างที่ว่ามาแล้วนั้นแหละ
อาศัยมานะ ก็มานะแปลว่าความถือตัว
ถ้าน้อมตัวไปในทางดีก็หมายความว่า เราน่ะเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์แล้ว
ไม่ควรที่จะทำความชั่ว ให้ตัวตกต่ำลงไป ควรยกตนให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
เพราะความที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้นะ มันแสนยาก
กว่าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์แต่ละชาติ
เช่น อย่างชาตินี้เกิดมาแล้ว ไปทำบาปกรรมมากกว่าทำบุญใส่ตัวไว้อย่างนี้
ตายแล้วบาปกรรมก็นำไปสู่นรกอบายภูมิ
ไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในนรกนานแสนนาน
กว่าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ไม่รู้ว่ากี่กัปกี่กัลป์นะ
นี้ละตัณหาฝ่ายบาปนี้ มันทำให้สัตว์ทั้งหลายเนิ่นช้านานพ้นทุกข์พ้นภัย
ต้องพิจารณาให้มันเห็นอย่างนี้
ถ้าเห็นความเป็นมนุษย์นี้เป็นของประเสริฐแล้ว
คนนั้นก็ไม่ยอมใช้กาย วาจา ใจ ไปทำความชั่วแล้ว
รักษาเกียรติของความเป็นมนุษย์ไว้
บัดนี้มนุษย์ผู้มีบุญมาก เกิดมาแล้วก็บุญกุศลก็มาดลบันดาล
ให้เห็นทุกข์เห็นภัยในสงสาร
ให้เห็นว่าการทำบาปการเบียดเบียนกันน่ะ มันเป็นทุกข์ทั้งในโลกนี้โลกหน้าจริงๆ
ทำอย่างไรหนอเราจึงจะได้พ้นจากการทำบาปเหล่านี้
เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนานี้
ก็นึกน้อมไปในทางพุทธศาสนา ในการเป็นนักบวชก็มองเห็นแต่ทางบวชนี้
เป็นทางเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกันด้วย
เป็นทางเว้นจากความผูกพันอยู่ในกามทุกข์ทั้งหลายด้วย
บุคคลผู้ใดมาคิดเห็นเช่นนี้แล้ว ก็จึงได้น้อมไปในทางบรรพชาอุปสมบท
ชื่อว่าเป็นผู้มีมานะในทางที่ดี ไม่ยอมใช้ชีวิตอันนี้ให้ไปทำบาปทำกรรมชั่วใส่ตัวเอง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในอปัณณกปฏิปทา คือข้อปฏิบัติไม่ผิดสามอย่าง
ได้แก่บรรพชาอุปสมบทหนึ่ง เป็นการเว้นจากเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
พระองค์เจ้าแสดงไว้มันชัดเจนเลย
เมื่อเราเอามาพิจารณาดูคำนี้มันก็ถูกต้อง
เพราะเป็นนักบวชนี่ มีชีวิตเนื่องอยู่ด้วยผู้อื่น เพราะฉะนั้นมันถึงไม่ได้ทำบาป
ได้เที่ยวโคจรบิณฑบาตไปตามถนนหนทาง ตามตรอกตามซอย
ใครใส่อาหารให้อย่างไร เราก็รับเอาอย่างนั้น
จะเป็นอาหารที่มีรสเลิศหรือไม่มีรสเลิศก็ช่าง เราถือสันตุฏฐีตามมีตามได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็ไม่ได้ทำบาปเพราะอาชีพ
คนทำบาปกรรมในโลกอันนี้
มันเพราะอาชีพนี้แหละเป็นส่วนหลายเลยทีเดียว พิจารณาดูให้มันเห็น
(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
จาก ธรรมโอวาท หลวงปู่เหรียญ ๙
ที่ระลึกงานทอดกฐินสามัคคี วัดป่าพิชัยวัฒนมงคล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
วันอาทิตย์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๗. จัดพิมพ์โดยชมรมกัลยาณธรรม
< Prev | Next > |
---|