สารส่องใจ Enlightenment
ขันธ์ ๕ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร
ปุจฉา - ขันธ์ ๕ เป็นรูปเป็นนามได้หรือไม่ ถ้าเป็นได้เอาอะไรเป็นรูปปรมัตถ์นามปรมัตถ์
ให้ตอบ - ภาวนามยปัญญา ไม่ให้ตอบจินตามยปัญญา ให้ตอบแก่นๆ เปลือกและกระพี้ไม่เอา
วิสัชนา – ถามว่า ขันธ์ ๕ เป็นรูปเป็นนามได้หรือไม่
ตอบว่า...เป็นรูปเป็นนามอยู่โดยตรงๆ แล้ว
รูปังแปลว่ารูป นามมังแปลว่าชื่อมัน
ถ้าเป็นได้เอาอะไรเป็นรูปปรมัตถ์นามปรมัตถ์
ตอบว่า...ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นรูปปรมัตถ์
ธาตุ ๔ นั้น สิ่งไหนที่เป็นของแข็งสิ่งนั้นจัดเป็นปฐวีธาตุ
สิ่งไหนที่เป็นของเหลวซึมซาบ ได้จัดเป็นอาโปธาตุ
สิ่งไหนพัดไปมาได้จัดเป็นวาโยธาตุ
สิ่งไหนอบอุ่นหรือร้อนจัดเป็นเตโชธาตุ
จะแยกรูปธาตุรูปธรรมก็ว่า รูปโลกก็ว่า รูปสังขารก็ว่า
จะบรรยายดังต่อไปนี้...
ธาตุดิน มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย
อาหารใหม่ อาหารเก่า กะโหลกศีรษะและเยื่อในสมองศีรษะ
ธาตุน้ำ มีดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร
ธาตุไฟ มีไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม
ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย ไฟ ๔ ก็เรียก
ธาตุลม มีลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้
ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลม ๖ ก็ว่า
(ที่กล่าวมานี้เป็นรูปปรมัตถ์)
ส่วนนามปรมัตถ์นั้น คือเวทนาความเสวยอารมณ์มีสุข ทุกข์ อุเบกขา เป็นต้น
สัญญา ความจำได้หมายรู้ คือจำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เป็นต้น
ส่วนวิญญาณนั้นก็คือวิญญาณ ทั้ง ๖ เราดีๆ นี่เอง
คือจักขุวิญญาณ วิญญาณทางดวงตา โสตวิญญาณ วิญญาณทางหู
ฆานะวิญญาณ วิญญาณทางจมูก ชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น
กายวิญญาณ วิญญาณทางกาย มโนวิญญาณ วิญญาณทางใจ
ทั้งหลายเหล่านี้แหละ เรียกว่านามธรรมก็ว่า นามธาตุก็ว่า นามโลกก็ว่า
และขอให้เข้าใจว่า รูปก็ดี นามก็ดี อยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์เสียแล้ว
เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวน และแตกสลายไป
ดินแตกไปเป็นดิน น้ำแตกไปเป็นน้ำ ไฟแตกไปเป็นไฟ ลมแตกไปเป็นลม
ที่เรียกว่ารูปธาตุ รูปธรรม รูปขันธ์นี่เอง
ส่วนนามธาตุ นามธรรม นามขันธ์ นามโลกก็ว่า
ทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นแปรปรวนอีก ดับอีก หาระหว่างมิได้
คืออยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์ ดังกล่าวมาแล้วนั้นเอง
พระบรมศาสดาสอนให้รู้ตามเป็นจริง
ให้ปฏิบัติตามเป็นจริง ให้หลุดพ้นตามเป็นจริงโดยไม่เหลือ
พิจารณาตามเป็นจริงนั้นอย่างไร...คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ไม่ใช่เรา เขา สัตว์ บุคคลนั่นเอง
เรียกว่าสังขารสูญในเงื่อน ๒ คือไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
และกองทุกข์อ้ายกิเลสตัวหลงๆ
จะบัญญัติว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็หาเป็นไปตามกิเลสไม่
จึงสอนให้รู้ตามเป็นจริงดังกล่าวแล้วนั้น
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓
< Prev | Next > |
---|