heading01

ฉบับที่ ๔๑๒ ยืมเงินไม่คืนต้องตกนรกไหม?


412 talk


ยืมเงินไม่คืนต้องตกนรกไหม?


การยืมเงินแล้วไม่คืน
เทียบเคียงได้กับการละเมิดศีล
ข้ออทินนาทาน
คือถือเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นมิได้เจตนายกให้
มาเป็นของตนเอง


ยิ่งถ้ามีความเจ็บปวด ความทุกข์ร้อนใจ
จากผู้ถูกฮุบทรัพย์
หนักหนาสาหัสขึ้นเท่าไร
ยิ่งรู้แก่ใจว่ามีความผิดอุกฤษฏ์ขึ้นเท่านั้น


พระพุทธเจ้า
เป็นผู้รู้แจ้งเรื่องกรรมและผลแห่งกรรม
ด้วยพระญาณอันบริสุทธิ์
ท่านตรัสว่า
การถือเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นมิได้ยกให้นั้น
ถ้าทำให้มากแล้ว ชินชาแล้ว
ย่อมเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงนรก
หรือถือกำเนิดในเดรัจฉานภูมิ
หรือถือกำเนิดในเปรตวิสัย อย่างใดอย่างหนึ่ง


และแม้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์
ก็ต้องรับเศษบาป
ขั้นเบาคือทรัพย์สินเสียหาย
พินาศได้ด้วยภัยประการต่างๆ
อาจจะจากโจรภัย
หรืออาจจะจากภัยธรรมชาติ


.. .. .. .. .. .. .. .. ..


คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้
"ทำมากๆ ทำจนชินชา เลิกอาย เลิกเขิน"


ฉะนั้น หากอยากรู้ว่า
ต้องเบี้ยวเงินประมาณใดจึงถึงขั้นต้องตกนรก
ก็ให้สำรวจเข้ามาข้างในนี่แหละว่า
จิตสำนึกแบบมนุษย์ของคุณพังไปขนาดไหนแล้ว


จิตสำนึกของมนุษย์เรา
ค่อยๆถูกเซาะ ค่อยๆกร่อนลง
ด้วยบาปที่พอกหนาขึ้น
สังเกตได้จากที่ทำบาปครั้งแรก
จะนึกอายมาก
แต่ทำครั้งต่อๆมา จะอายน้อยลง
จนถึงจุดหนึ่งจะเฉยชา
กระทั่งหมดความละอายไปเลย
ประมาณว่า ชักดาบได้แบบตาไม่กะพริบ
เห็นความทุกข์หนักของคนอื่น
เป็นเรื่องเบาหวิวของตน


จิตสำนึกพังๆแบบนั้นแหละครับ
ประตูนรก!


.. .. .. .. .. .. .. .. ..


หากยังเหลือจิตสำนึก ยังมีความละอาย
ไม่อยากชักดาบ
ไม่อยากฮุบทรัพย์ของใคร
ก็ยังไม่ถึงขั้นต้องร่วงหล่นลงสู่อบาย


แต่ทีนี้เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องชี้เล่าว่า
จิตสำนึกเหลือแค่ไหนแล้ว
?


คงไม่มีสิ่งใดดีไปกว่า 'เจตนา'
อันเป็นมาตรวัดจิตสำนึกที่รู้ได้เฉพาะตน


เช่น


#เจตนาคืน #แต่ไม่มีจะคืน


อย่างนี้ไม่เกิดบาปจากการคิดถือทรัพย์ผู้อื่น
ไม่ได้ผิดศีล
แต่มีมลทินทางใจ
ประเภทรับปากแล้วทำไม่ได้


แน่นอน ผลทันที คือ ไม่สบายใจ
ผลภายหน้า คือ
มีสิทธิโดนพวกไม่มีจะคืนมายืมบ้าง
แต่จิตใจตอนนี้
ไม่ได้ตกต่ำถึงขั้นต้องลงนรกอะไร
เพราะยังมีความสำนึกผิดชอบชั่วดี
แบบมนุษย์เต็มขั้นอยู่


.. .. .. .. .. .. .. .. ..


#เจตนาคืน #แต่ยื้อไว้ก่อน


อย่างนี้ถือเป็นกรรมอันประกอบด้วยมลทินแล้ว
จิตสำนึกเริ่มบกพร่องบ้างแล้ว


เพราะการมีแล้วไม่คืนตามข้อตกลง
ก็คือ การถือทรัพย์ของผู้อื่นไว้โดยมิชอบ
อย่างน้อยก็ช่วงหนึ่ง


ผลทันที
อาจเป็นความรู้สึกดีที่ได้กักไว้เป็นของตน
ผลภายหน้า
จะโดนหน่วงเหนี่ยวทรัพย์บ้าง
แต่เพราะไม่ได้ใจร้ายไส้ระกำ
ยังมีจิตสำนึกคิดคืนในที่สุด
ก็ไม่ต้องถึงขั้นลงอบายกับใครเขา


.. .. .. .. .. .. .. .. ..


#เจตนาคืน #แต่เปลี่ยนใจเป็นไม่คืน


อย่างนี้คือ ต้นดี ปลายร้าย
ยอมแพ้กิเลส
เปลี่ยนตัวเองจากคนมีจิตสำนึก
เป็นคนไร้สำนึก
ซึ่งมโนธรรมเดิม
จะคอยตะโกนโหวกเหวกอยู่ข้างในว่า
"ไม่เอานะ อย่าทำนะ"
แต่สำนึกพังๆ
จะทำเป็นหูทวนลม ทำเป็นไม่ได้ยิน


ผลทันที คือ โดนธรรมชาติลงโทษ
เป็นความรู้สึกผิด
เหมือนเกิดบาดแผลอยู่ข้างใน
ซึ่งนั่นก็เพราะมโนธรรมอันมีค่ากว่าเงิน
ถูกทำลายให้บอบช้ำหรือเสียหาย


ผลภายหน้า
จะโดนเบี้ยวดื้อๆบ้าง
หากเปลี่ยนใจไม่คืนหลายครั้งเข้า
ก็หมดจิตสำนึก
มีความเสี่ยงที่จะตกต่ำได้ในที่สุด


.. .. .. .. .. .. .. .. ..


#เจตนาไม่คืนมาแต่แรก
#และไม่เปลี่ยนใจในภายหลัง


ประเภทใช้ชีวิตหรูหรา
บนความซอมซ่อของชีวิตคนอื่น
แม้เขามาทวงขอก็ไม่ให้
ไม่เห็นใจใดๆทั้งสิ้น
ใจแอบคิดตลอดว่า
"อ้อยเข้าปากช้างแล้ว เรื่องอะไรจะคายให้โง่"


จิตสำนึกพังๆ
จะก่อความคิดประมาณว่า
"เงินในบัญชีฉัน
แปลว่าเป็นเงินของฉัน
ไม่ใช่เงินของแกแล้ว"


ซึ่งคิดแบบนี้
เข้าขั้นมัธยมโรงเรียนโจรแล้ว
เกือบจบออกมาเป็นโจรเต็มตัวแล้ว


ผลทันที คือ จิตใจด้านชา
สามารถทำชั่วประการอื่นๆได้ไม่จำกัด
ผลภายหน้า
จะถูกโกง หรือ
ทรัพย์พินาศแบบไม่มีทางป้องกัน
เมื่อตายไป
กรรมดำย่อมสร้างจิตที่มืดบอด
สมควรแก่อบายภูมิขึ้นมา
เป็นบทลงโทษขั้นสุดท้าย


.. .. .. .. .. .. .. .. ..


การไม่สำนึกคุณคนที่ช่วยเหลือกันมา
การยอมมีจิตใจด้านชา
ไม่คิดใช้คืน ทั้งรู้ว่าเขาอาจเดือดร้อนนั้น
เป็นบันไดความชั่วขั้นที่หนึ่ง
และลูกหนี้จำนวนมากทีเดียว
ที่ก้าวขึ้นบันไดความชั่วขั้นสอง ขั้นสาม
ย้อนศรมโนธรรมไปไกลขึ้นเรื่อยๆ


เช่น
หาข้ออ้างในการไม่คืนเงินให้ตัวเอง
ด้วยการมองด้านเลวของเจ้าหนี้
หรือกระทั่งสร้างความชอบธรรม
ให้ตัวเองลอยหน้าในสังคมเหมือนเทวดา
ด้วยการสร้างภาพปีศาจร้าย
ใส่ร้ายเจ้าหนี้ต่างๆนานา
จนคนรอบข้างเกลียดชังกัน


ฉะนั้น
แม้จะเป็นเงินเพียงเล็กน้อย
ก็ใช้มันซื้อจิตสำนึก
หรือใช้เป็นค่ารักษาจิตสำนึกไว้
หากตกลงกันว่าจะคืน ก็ต้องคืน


แล้วคุณจะรู้เดี๋ยวนั้นว่า
จิตสำนึกมีราคาแพงกว่าเงินจริงๆ
แม้ยังมองไม่เห็นชาติหน้า
ก็อุ่นใจอยู่กับชาตินี้
ที่ไม่ต้องลงนรกทางใจแล้ว!



ดังตฤณ
มิถุนายน ๒๕๖๘

heading02

  • ร่างกายของคนเรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา
    ไม่ว่าจะพยายามดูแลขนาดไหนก็ไม่อาจหนีพ้น
    จะมีวิธีแก้ไขให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงอย่างให้ถูกต้องได้อย่างไร
    ติดตามได้ในพระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่ขาว อนาลโย
    เรื่อง "วิธีแก้โรค" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/\-)


    การเสพความบันเทิงของฆราวาสสามารถทำได้หรือไม่
    และใช้ชีวิตในทางโลกโดยไม่ทิ้งธรรมได้อย่างไร
    ติดตามได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
    ตอน "ฆราวาสสามารถเจริญสติโดยที่ยังเสพความบันเทิงได้ไหม"


    หลังผ่านเหตุระทึกขวัญและสามารถปกป้องส้มน้อยไม่ให้ถูกจับตัวไปได้
    บุคคลปริศนาที่กำลังมาพบธันวาจะเป็นใคร
    มาติดตามเรื่องราวที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ใน "เร้น ตอนที่ ๓๖"
    นวนิยายโดยคุณชลนิล ในคอลัมน์ "วรรณกรรมนำใจ" ค่ะ

Twitter Updates

follow us on Twitter