ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

เทศนาสูตร ว่าด้วยการแสดงธรรมเปรียบด้วยนา ๓ ชนิด


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๖๐๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปาวาริกอัมพวัน ใกล้เมืองนาฬันทา
ครั้งนั้นนายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์ทั่วหน้าอยู่มิใช่หรือ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า อย่างนั้น คามณี ตถาคตเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์ทั่วหน้าอยู่.

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อเช่นนั้น เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรง
แสดงธรรมโดยเคารพแก่คนบางพวก ไม่ทรงแสดงธรรมโดยเคารพเหมือนอย่างนั้นแก่คนบางพวก.

. คามณี ถ้าอย่างนั้นเราจักย้อนถามท่านถึงในข้อนี้
ปัญหาควรแก่ท่านด้วยประการใด ท่านพึงพยากรณ์ปัญหานั้นด้วยประการนั้น
คามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นาของคฤหบดีชาวนาในโลกนี้มีอยู่ ๓ ชนิด คือ
ชนิดหนึ่งเป็นนาดี ชนิดหนึ่งเป็นนาปานกลาง ชนิดหนึ่งเป็นนาเลวมีดินแข็ง เค็ม พื้นดินเลว
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คฤหบดีชาวนาต้องการจะหว่านพืช
จะพึงหว่านในนาไหนก่อนเล่า.

คา. คฤหบดีชาวนาต้องการจะหว่านพืช พึงหว่านพืชในนาดีก่อน
ครั้นหว่านในนานั้นแล้ว พึงหว่านในนาปานกลาง ครั้นหว่านในนาปานกลางนั้นแล้ว
ในนาเลวมีดินแข็ง เค็ม พื้นดินเลว พึงหว่านบ้างไม่หว่านบ้าง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่สุดจักเป็นอาหารโค.

[๖๐๔] . คามณี เปรียบเหมือนนาดีฉันใด
เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
แก่ภิกษุและภิกษุณีของเราเหล่านั้น (ก่อน) ฉันนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุและภิกษุณีเหล่านี้มีเราเป็นที่พึ่ง
มีเราเป็นที่เร้น มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่
คามณี เปรียบเหมือนนาปานกลางฉันใด
เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
แก่อุบาสกและอุบาสิกาของเราเหล่านั้น (ในท่ามกลาง) ฉันนั้น
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร เพราะอุบาสกและอุบาสิกาเหล่านี้ มีเราเป็นที่พึ่ง
มีเราเป็นที่เร้น มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่
คามณี เปรียบเหมือนนาเลว มีดินแข็ง เค็ม พื้นดินเลวฉันใด
เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
แก่อัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์และปริพาชกของเราเหล่านั้น (ในที่สุด) ฉันนั้น.


แสดงธรรมเปรียบด้วยกระออมน้ำ ๓ ใบ

[๖๐๕] ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชก
จะพึงรู้ธรรมแม้คำเดียว ความรู้ของเขานั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่เขาสิ้นกาลนาน
คามณี บุรุษมีกระออมน้ำ ๓ ใบ คือ ๑ กระออมน้ำใบหนึ่งไม่มีช่อง (ไม่รั่ว) น้ำซึมไหลออกไม่ได้.
๒ ใบหนึ่งไม่มีช่อง น้ำซึมไหลออกได้. ๓ ใบหนึ่งมีช่อง น้ำซึมไหลออกได้.
คามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษคนโน้นต้องการจะกรอกน้ำใส่
พึงกรอกน้ำใส่ในกระออมไม่มีช่อง น้ำซึมไหลออกไม่ได้
หรือกระออมน้ำไม่มีช่อง น้ำซึมไหลออกได้
หรือว่ากระออมน้ำที่มีช่องก่อน น้ำซึมไหลออกได้.

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษคนโน้นต้องการจะกรอกน้ำใส่
พึงกรอกน้ำใส่ในกระออมน้ำไม่มีช่อง น้ำซึมไหลออกไม่ได้
แล้วพึงกรอกน้ำใส่ในกระออมน้ำไม่มีช่อง น้ำซึมไหลออกได้
แล้วพึงกรอกน้ำใส่ในกระออมน้ำมีช่อง น้ำซึมไหลออกได้บ้าง ไม่กรอกใส่บ้าง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่สุดจักเป็นน้ำสำหรับล้างสิ่งของ.

[๖๐๖] . คามณี กระออมน้ำไม่มีช่อง น้ำซึมไหลออกไม่ได้ ฉันใด
เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
แก่ภิกษุและภิกษุณีของเราเหล่านั้น ฉันนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุและภิกษุณีเหล่านี้มีเราเป็นที่พึ่ง
มีเราเป็นที่เร้น มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่
คามณี กระออมน้ำไม่มีช่อง น้ำซึมไหลออกได้ ฉันใด
เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
แก่อุบาสกและอุบาสิกาของเราเหล่านั้น (เป็นที่สอง) ฉันนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้น มีเราเป็นที่พึ่ง
มีเราเป็นที่เร้น มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่
คามณี กระออมน้ำมีช่อง ใคร ๆ ก็นำไปและใช้สอยได้ ฉันใด
เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
แก่อัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชกของเราเหล่านั้น (ในที่สุด) ฉันนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม้ไฉน อัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชก
จะพึงรู้ทั่วถึงธรรมนั้นแม้คำเดียว ความรู้นั้นก็พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่เขาสิ้นกาลนาน.

[๖๐๗] เมื่อผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว นายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตรได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือส่องไฟในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉันนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทั้งพระธรรม และภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

เทศนาสูตรที่ ๗ จบ


(เทศนาสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๙)




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP