ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

กถาวัตถุสูตร ว่าด้วยถ้อยคำที่ควรพูด ๓ อย่าง



กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๕๐๗] ภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ นี้ กถาวัตถุ เป็นไฉน
คือบุคคลพึงพูดเรื่องราวปรารภเวลาที่เป็นอดีตว่า
กาลที่ล่วงแล้วได้เป็นอย่างนี้ ๑
พูดเรื่องราวปรารภเวลาที่เป็นอนาคตว่า
กาลภายหน้าจักเป็นอย่างนี้ ๑
พูดเรื่องราวปรารภเวลาที่เป็นปัจจุบันบัดนี้ว่า
กาลที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้าบัดนี้เป็นอยู่อย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันว่าเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่าเป็นบุคคลไม่ควรสนทนา
ก็ด้วยการประกอบถ้อยคำ ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว

ไม่ตอบตรงซึ่งเอกังสพยากรณียปัญหา
(ปัญหาที่ต้องแก้ตรง ๆ)
ไม่จำแนกซึ่งวิสัชชพยากรณียปัญหา
(ปัญหาที่ต้องแก้จำแนก)
ไม่ย้อนถามแล้วจึงตอบซึ่งปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา
(ปัญหาที่ต้องย้อนถามแล้วจึงแก้)
ไม่ยกเลิกซึ่งฐปนียปัญหา
(ปัญหาที่ต้องยกเลิก)
เมื่อเป็นเช่นนี้
บุคคลนี้เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา
ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว
ตอบตรงซึ่งเอกังสพยากรณียปัญหา
ตอบจำแนกซึ่งวิสัชชพยากรณียปัญหา
ย้อนถามแล้วจึงแก้ซึ่งปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา
ยกเลิกซึ่งฐปนียปัญหา
เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้เป็นบุคคลควรสนทนา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันว่าเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่าเป็นบุคคลไม่ควรสนทนา
ก็ด้วยการประกอบถ้อยคำ ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว
ไม่ตั้งอยู่ในฐานะ
(ข้อที่เป็นไปได้) และอฐานะ (ข้อที่เป็นไปไม่ได้)
ไม่ตั้งอยู่ในข้อที่กำหนดไว้
ไม่ตั้งอยู่ในวาทะของผู้อื่น ไม่ตั้งอยู่ในปฏิปทา
เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา
ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหา ตั้งอยู่ในฐานะและอฐานะ
ตั้งอยู่ในข้อที่กำหนดไว้ ตั้งอยู่ในวาทะของผู้อื่น ตั้งอยู่ในปฏิปทา
เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้เป็นบุคคลควรสนทนา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันว่าเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่าเป็นบุคคลไม่ควรสนทนา
ก็ด้วยการประกอบถ้อยคำ ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว
พูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง
แสดงความขุ่นเคือง ความโกรธแค้น ความเสียใจให้ปรากฏ
เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา
ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว ไม่พูดกลบเกลื่อน
ไม่พูดนอกเรื่อง
ไม่แสดงความขุ่นเคือง ความโกรธแค้น
ความเสียใจให้ปรากฏ
เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้เป็นบุคคลควรสนทนา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันว่าเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่าเป็นบุคคลไม่ควรสนทนา
ก็ด้วยการประกอบถ้อยคำ ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว
พูดพล่าม
พูดเหยียบย่ำ พร่ำหัวเราะ คอยจับคำพลาด
บุคคลนี้เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา
ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว ไม่พูดพล่าม
ไม่พูดเหยียบย่ำ
ไม่พร่ำหัวเราะ ไม่คอยจับคำพลาด
เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้เป็นบุคคลควรสนทนา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันว่าเป็นบุคคลผู้มีอุปนิสัย หรือว่าเป็นบุคคลผู้ไม่มีอุปนิสัย
ก็ด้วยการประกอบถ้อยคำ ผู้ไม่ตั้งใจฟัง เป็นบุคคลผู้ไม่มีอุปนิสัย
ผู้ตั้งใจฟัง เป็นบุคคลผู้มีอุปนิสัย

บุคคลนั้นเป็นผู้มีอุปนิสัย ย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมอันหนึ่ง ย่อมกำหนดรู้ซึ่งธรรมอันหนึ่ง
ย่อมละซึ่งธรรมอันหนึ่ง ย่อมทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันหนึ่ง เมื่อรู้ยิ่งซึ่งธรรมอันหนึ่ง
กำหนดรู้ซึ่งธรรมอันหนึ่ง ละซึ่งซึ่งธรรมอันหนึ่ง
ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันหนึ่ง ย่อมถูกต้องวิมุตติโดยชอบ

ภิกษุทั้งหลาย การพูดกันมีสิ่งนี้ประโยชน์ การปรึกษากันมีสิ่งนี้ประโยชน์
อุปนิสัยมีสิ่งนี้ประโยชน์
การตั้งใจฟังมีสิ่งนี้ประโยชน์
สิ่งนี้คือ ความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ยึดถือ.

ชนเหล่าใด ขุ่นเคือง ยึดมั่น ถือตัว จ้องจับผิดกันและกัน
เจรจากระทบคุณให้เป็นอนารยะ ชนเหล่านั้นย่อมยินดีคำผิด คำพลาด
ความเผลอ ความแพ้ของกันและกัน
อารยชนไม่ประพฤติการพูดกันอย่างนั้น
.

ถ้าธีรชนใคร่จะพูด ก็เป็นผู้ฉลาด รู้จักกาล
พูดแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยความตั้งอยู่ในธรรมที่อารยชนประพฤติ

ไม่ขุ่นเคือง
ไม่ถือตัว มีใจสงบ ไม่ตีเสมอ ไม่รุนแรง ไม่ริษยา
รู้ชอบแล้วจึงกล่าว
ที่เขาพูดถูกก็อนุโมทนา เมื่อเขาพูดผิดก็ไม่รุกราน
ไม่ใฝ่ใจติเตียน
เขาพูดพลั้งไปบ้างก็ไม่ถือ ไม่พูดทับถม ไม่พูดเหยียบย่ำ
ไม่พูดวาจาเหลวไหล
.

การสนทนาของสัตบุรุษทั้งหลาย เป็นการสนทนาเพื่อให้เกิดความรู้ ความเลื่อมใส
อารยชนทั้งหลายย่อมสนทนากันอย่างนี้
นี่เป็นการสนทนากันแห่งอารยชน
ผู้มีปัญญา รู้ความข้อนี้แล้ว
พึงเจรจาไม่ถือตัว.


กถาวัตถุสูตรที่ ๗ จบ


(กถาวัตถุสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาตร
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP