เข้าครัว Lite Cuisine

แรกก้าว... เข้าครัว


Cuisine

 

โดย พิมพการัง


ฉันไม่เคยชอบการทำครัวเลยสักนิดเดียว
ไม่ชอบ ไม่ถนัด ทำอะไรที่ยากไปกว่าเมนูไข่ไม่เป็น แถมไม่เห็นความสำคัญด้วย
เพราะเป็นคนกินง่าย อะไรก็อร่อย จะซื้อสำเร็จก็ได้ กินอาหารแช่แข็งก็ได้
กินอาหารแห้ง อาหารเม็ด (หมายถึงวิตามินหรือนมอัดเม็ดน่ะค่ะ ^ ^'') ก็อร่อยแล้ว

จนเรียนจบรอเข้าทำงาน เจ้านายว่าตึกกำลังก่อสร้างอีกสามสี่เดือนจึงจะเสร็จ
ฉันเรียนท่านว่า ถ้าอย่างนั้นขอไปอยู่วัดป่า
ท่านทำสีหน้าตกใจแล้วร้องอย่างเป็นห่วงว่า “โอย! ในป่ามีเสือนะ ระวังตัวด้วย!”

ฉันเคยเป็นลูกศิษย์วัดมาหลายแห่ง ตั้งแต่สิบกว่าขวบก็อยู่วัดทีละเจ็ดวันแล้ว
การได้อยู่วัดรวดเดียวสามสี่เดือน ถือเป็นความน่ายินดีอย่างยิ่ง

เมื่อผู้ใหญ่อนุญาต และฉันแน่ใจว่าคงไม่ถูกเสือกินแน่ๆ ก็จัดแจงเก็บของ
ไปอยู่วัดป่ามณีกาญจน์ จังหวัดนนทบุรี สลับกับวัดเวฬุวัน จังหวัดกาญจนบุรี
วัดธรรมยุติในความดูแลของหลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ อดีตพระอุปัฏฐากของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ได้ใช้ชีวิตช่วงที่คุ้มค่าที่สุด มากกว่าการเรียนจบปริญญาใบใดๆ ก็ที่วัดนี้
เคยคิดว่าตัวเอง “แน่ และ เจ๋ง” แล้ว ก็โตจนเรียนจบพึ่งตัวเองได้แล้วนี่
เพิ่งรู้ว่าปริญญาทางโลก ไม่รับประกันว่าจะเป็นที่พึ่งทางใจให้ตัวเองได้เลยก็ที่วัดนี่เอง

เคยได้ยินผู้เปรียบเปรยว่า “วัด” หมายถึงวัดใจ วัดที่ใจตัวเองเมื่อเจอบททดสอบ
สารพัดบททดสอบวัดใจ ที่ไม่มีโอกาสได้เจอนอกวัด
เช่น งานครัวที่ไม่ชอบ ก็เป็นบททดสอบข้อหนึ่ง

ถึงแม้ว่าครูบาอาจารย์ท่านไม่ติดกับรสชาติของอาหาร ท่านไม่เคยขอให้ทำงานประดิดประดอย 
ท่านไม่เห็นจะยินดีกับน้ำทับทิมที่บรรจงคั้นทีละเม็ด
แต่ก็มีลูกศิษย์อีกหลายท่านที่ทำด้วยความปีติยินดี จนฉันอดเข้าไปช่วยไม่ได้
ค่อยๆ เข้าใจว่า งานก็คืองาน มีแต่ใจเรานี่แหละที่ไปวุ่นวายแปลเอาเองว่า ชอบไม่ชอบ ดีไม่ดี

อย่าว่าแต่เราๆ ท่านๆ เลย ขนาดพระสงฆ์องค์เจ้าก็ยังทำกิจได้ไม่เกี่ยง
เป็นพระก็ยังทำงานก่อสร้าง ต้องเดินบิณฑบาตเท้าเปล่าเพื่อให้ญาติโยมได้ทำบุญ
ต้องทำพิธีบวชให้ลูกชาวบ้าน ต้องเหนื่อยอบรมสั่งสอน แค่ขานนาคก็ซ้อมกันจนดึก
ลงทุนตัดเย็บจีวรให้เองกับมือ แต่ไม่กี่วันพระก็สึกเพราะครบที่บนเอาไว้แล้ว
ต้องนั่งฟังคุณนายบ่นเรื่องสามีและลูกเต้า มานั่งเล่าเรื่องทริปยุโรปเป็นชั่วโมงก็เคย
ต้องฟังเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ของคนที่เข้าใจว่าตัวเองเสร็จกิจแล้วก็ยังมี 

ดูความเหนื่อยยากของครูบาอาจารย์แล้วก็สะท้อนใจ 
เราเอาอะไรมาแบ่งว่า ฉันควรหรือไม่ควรต้องทำงานนี้
เป็นแค่ทิฐิมานะ การแบ่งฝ่าย ถือตัว ถือเขา ถือเรา
เห็นเขาดีกว่าแย่กว่าเรา เราดีกว่าแย่กว่าเขา ก็แค่นั้นเอง
“เสือร้าย” ที่ชื่อว่าความเห็นผิด กระโดดมากัดเสียแล้วนี่ไง

นึกถึงคำสอนของหลวงปู่

“เราเป็นพระ ถ้าเอาแต่เราสบายคนเดียวก็ไปอยู่ป่าอยู่ถ้ำแสนจะสบาย
แต่นี่เราก็ยังต้องทำหน้าที่ เรายังต้องสอน ต้องสงเคราะห์โลกด้วย”

“เราบวชมาก็ยังไม่เคยทิ้งโลก ยังทำงานให้โลกนี้อยู่ตลอด เราสร้างวัด สร้างคน
คนมาสร้างวัด แล้ววัดจะสร้างคน กลางวันก็ทำงานไป กลางคืนสิเป็นเวลาของเรา
อยากเดินจงกรมทั้งคืนก็ไม่มีใครว่า แต่ก็ต้องรู้จักมัชฌิมาของตัวเองด้วยนะ”

“ถ้ายังแยกเวลาเป็นทางโลกกับทางธรรม ขีดเส้นชัดเจนแบบนี้ก็ไปไม่ถึงไหนหรอก
มันอยู่ด้วยกันนั่นแหละ มันไม่ได้แบ่งกันขนาดนั้น ก็ยังอยู่ในโลกสมมตินี่”

“ต้องรู้จักการภาวนาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่จะภาวนาได้ต้องอยู่แค่ในลานจงกรม
ต้องอยู่ในวัดเท่านั้นถึงจะภาวนาหรือ อย่างนี้จะใช้ได้ที่ไหน กิเลสมันมาเมื่อไรก็ได้”

“คนภาวนาต้องรู้จักขัดเกลาตัวเอง สอนตัวเองไม่ได้ ก็เป็นที่พึ่งให้ตัวเองไม่ได้”

จนเข้าใจประจักษ์กับตัวเองว่า กายกับจิต เป็นคนละส่วนกัน
และ อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก การแปลผัสสะ ก็เป็นอีกส่วนเช่นกัน

งานการทั้งหลาย พิธีกรรม หรือแม้แต่เม็ดทับทิม เขาก็อยู่ของเขาเฉยๆ
มีแต่เรานี่แหละ ที่ไปแปลเอาเองว่านั่งทำงานในครัวไม่ดี สู้ไปเดินๆ ดีกว่า


ถึงทุกวันนี้ฉันก็ยังไม่ชอบทำครัว แต่ชอบไปวัด
ต้องช่วยงานในครัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ได้คิดว่าจะต้องเลี่ยง
มีงานก็ทำ มีพิธีกรรมก็ร่วม มีเม็ดทับทิมก็คั้น ถ้านิ้วเคล็ดแล้วก็ส่งคนอื่นทำต่อ

กายก็ทำงานไป หูก็ฟัง ใครคุยด้วยก็ตอบ
ส่วนใจจะฟุ้งหรือไม่ฟุ้ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับใจเรา ไม่ใช่ความผิดของใคร

การอยู่ในครัวมานาน พอจะเก็บเกี่ยวเกร็ดอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ได้
ขออนุญาตออกตัวไว้ก่อนว่า ขอนำเสนอเรื่องการครัวสำหรับชาววัดในสายธรรมยุติ
ที่ธรรมเนียมปฏิบัติอาจจะไม่ตรงกันนักกับวัดในนิกายอื่นๆ นะคะ

แม้แต่นิกายเดียวกัน แต่วัดต่างกัน ก็อาจจะมีแนวปฎิบัติต่างกันเป็นธรรมดา
ถ้าสงสัยโปรดเรียนถามพระในวัดที่ท่านจะทำบุญทำทานเลยดีที่สุดค่ะ
ขอไม่ตัดสินผิดถูก และไม่ได้แปลว่าวัดที่มีแนวปฎิบัติต่างกัน จะดีกว่า ถูกกว่า
ตรงกว่า เคร่งกว่า ดีกว่าหรือด้อยกว่า อะไรอย่างนั้นเลยนะคะ

เรื่องราวต่อไปนี้ จะขอรวมเรื่องของกับข้าว ขนม ลูกอม น้ำหวาน
ของที่ควรและไม่ควรถวายพระ ของที่ซื้อไปถวายวัดอย่างไหนได้และไม่ได้
รวมไปถึงผู้ที่ถือศีลแปด ว่ากินดื่มอะไรดับความหิวได้บ้างนะคะ

รวมไปถึงอาหารสุขภาพ หลักการเลือกซื้อ ข้อห้าม และข้อระวัง
เพราะครูบาอาจารย์ของเราส่วนใหญ่ก็สูงอายุกันแล้ว
โปรดช่วยกันถนอมธาตุขันธ์ของท่านด้วยนะคะ
และเอาเกร็ดนี้ไว้ใช้ดูแลพระอรหันต์ที่บ้าน
คือ คุณพ่อคุณแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ของท่านได้ด้วยค่ะ

ขอแนะนำเคล็ดเล็กๆ น้อยๆ เรื่องการเตรียมของใส่บาตรเช้า
เอาเงินใส่บาตรได้หรือไม่ เอาธูปเทียนมัดห่อใส่บาตรดีไหม
การประเคนที่ถูกต้อง การทำกัปปิยะ เรื่องของกาลิก
การถวายของแห้ง น้ำหวาน ซื้ออะไรเข้าโรงครัวที่วัดดี
ปรมัตถ์ น้ำปานะ อุปกรณ์ของใช้ต่างๆ ผ้ากรองแบบไหน
นม น้ำเต้าหู้ วุ้นว่านหางจระเข้ สายไหม ชีส ช็อกโกแลตถวายได้ไหม ซื้อที่ไหนดี
การเลือกซื้อน้ำผึ้ง น้ำอ้อย แนะนำสูตรทำน้ำปานะหรือปรมัตถ์แบบง่ายๆ ทำตามได้

โดยทั้งหมดนี้จะขออ้างอิงจากตำราบุพพสิกขาวรรณณา
เสขิยวัตร หมวดโภชนปฏิสังยุต ตำราคู่มือชาวพุทธ
สมุดบันทึกของคุณแม่ชีที่เคยอุปัฏฐากหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
และเก็บตกจากประสบการณ์ที่ช่วยงานครัวตามวัดต่างๆ มา
บางส่วนเก็บข้อมูลจากเว็บกระดานสนทนาของวัดป่าหลากหลายแห่ง
และตำราโภชนาการ อาหารสุขภาพ ตามหลักการทางแพทย์ค่ะ

ขอออกตัวอีกสักเล็กน้อยว่า แนวความเชื่อของศาสตร์การแพทย์ทางเลือก
ที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสมาคมแพทย์แผนปัจจุบันขอไม่นำเสนอ
และขอไม่วิจารณ์นะคะ

ท่านไหนมีประสบการณ์หรือสูตรอะไรดีๆ มาแบ่งปันกัน จะขอขอบพระคุณมากเลยค่ะ
โปรดติดตาม และชี้แนะด้วยนะคะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP