ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปีตวิมาน ว่าด้วยวิมานของเทพธิดาทรงเครื่องประดับสีเหลือง


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๔๗] (ท้าวสักกเทวราชตรัสถามเทพธิดาองค์หนึ่งว่า)
แน่ะเทพธิดา ผู้มีผ้าเหลือง มีธงเหลือง ประดับด้วยเครื่องอลังการสีเหลือง
มีกายลูบไล้ด้วยจันทน์เหลือง ทัดทรงดอกอุบลเหลือง มีปราสาทเหลือง
มีที่นอนที่นั่งเหลือง มีโภชนะเหลือง มีฉัตรเหลือง มีรถเหลือง มีม้าเหลือง มีพัดเหลือง
.

เทพธิดาผู้เจริญ ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน เจ้าได้ทำกรรมอะไรไว้
เจ้าถูกเราถามแล้ว จงบอกทีเถิดว่า นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร
.

(เทพธิดานั้นตอบว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้น้อมนำดอกบวบขมจำนวน ๔ ดอก
จากเถาบวบขมซึ่งมีรสขม ไม่มีใครปรารถนา ไปบูชาพระสถูป.

หม่อมฉันมีใจผ่องใส มุ่งต่อพระบรมสารีริกธาตุของพระศาสดา
มีใจจดจ่อที่พระสถูปนั้น ไม่ทันพิจารณาหนทางที่มาแห่งแม่โค
.

ทีนั้น แม่โคได้ขวิดหม่อมฉันผู้มีความปรารถนาแห่งใจยังไม่ถึงพระสถูป
ถ้าหม่อมฉันพึงสั่งสมบุญนั้นไซร้ ทิพยสมบัติพึงมียิ่งกว่านี้เป็นแน่.

ข้าแต่ท้าวมฆวานเทพกุญชร จอมเทพ เพราะบุญกรรมนั้น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงมาอยู่ร่วมกับพระองค์
.

ท้าวมฆวานเทพกุญชร ผู้เป็นอธิบดีในสวรรค์ชั้นไตรทศ ทรงสดับคำนี้แล้ว
เมื่อจะยังเทวดาชั้นดาวดึงส์ให้เลื่อมใส จึงได้ตรัสคำนี้กะมาตลีเทพสารถีว่า

มาตลี ท่านจงดูผลแห่งกรรมอันวิจิตรน่าอัศจรรย์นี้ ไทยธรรมที่เทพธิดานี้ทำแล้ว
ถึงจะน้อย ก็เป็นของมีผลมาก.

เมื่อจิตเลื่อมใสในพระตถาคตสัมพุทธเจ้า หรือในสาวกของพระองค์ก็ตาม
ทักษิณาหาชื่อว่าน้อยไม่.

มาเถิด มาตลี แม้ชาวเราทั้งหลายก็ควรบูชาพระบรมธาตุของพระตถาคตให้ยิ่งยวดขึ้นไป
เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้.

เมื่อพระตถาคตยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม เสด็จปรินิพพานแล้วก็ตาม เมื่อจิตสม่ำเสมอ
ผลบุญก็ย่อมสม่ำเสมอ เพราะเหตุที่ตั้งจิตไว้ชอบ สัตว์ทั้งหลายย่อมไปสู่สุคติ.

ทายกทั้งหลายกระทำสักการะในพระตถาคตเหล่าใดแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์
พระตถาคตเหล่านั้นย่อมอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากหนอ
.

ปีตวิมาน จบ





อรรถกถาปีตวิมาน

ปีตวิมานมีคำเริ่มต้นว่า แน่ะเทพธิดาผู้มีผ้าเหลือง มีธงเหลือง (ปีตวตฺเถ ปีตธเช). ปีตวิมานนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูนำพระบรมสารีริกธาตุที่พระองค์ได้รับส่วนแบ่ง มาสร้างพระสถูปบรรจุและทำการฉลอง อุบาสิกาชาวราชคฤห์คนหนึ่งปฏิบัติสรีรกิจ (ชำระร่างกาย) แต่เช้าแล้ว คิดว่า “จักบูชาพระศาสดา” จึงถือดอกบวบขม ๔ ดอกตามที่หาได้ เกิดฉันทะอุตสาหะขึ้นในใจด้วยแรงศรัทธา มิได้คำนึงถึงอันตรายในหนทาง เดินมุ่งหน้าไปสู่พระสถูป. ขณะนั้น โคแม่ลูกอ่อนวิ่งสวนทางมา ขวิดอุบาสิกานั้นอย่างแรงด้วยเขาจนล้มลงสิ้นชีวิต. นางตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับรถท่ามกลางเทพนักฟ้อน ๒ โกฏิครึ่งซึ่งเป็นบริวารของท้าวสักกเทวราช ซึ่งกำลังเสด็จประพาสอุทยาน ข่มเทพธิดาทั้งหมดด้วยรัศมีจากร่างกายของตน. ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น มีพระทัยพิศวง เกิดอัศจรรย์ไม่เคยเป็น ทรงดำริว่า “ด้วยกรรมอันยิ่งใหญ่เช่นไรหนอ เทพธิดาผู้นี้จึงได้เทพฤทธิ์ที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้” ดังนี้แล้ว จึงตรัสถามเทพธิดานั้นด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

แน่ะเทพธิดา ผู้มีผ้าเหลือง มีธงเหลือง ประดับด้วยเครื่องอลังการสีเหลือง มีกายลูบไล้ด้วยจันทน์เหลือง ทัดทรงดอกอุบลเหลือง มีปราสาทเหลือง มีที่นอนที่นั่งเหลือง มีโภชนะเหลือง มีฉัตรเหลือง มีรถเหลือง มีม้าเหลือง มีพัดเหลือง.

เทพธิดาผู้เจริญ ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน เจ้าได้ทำกรรมอะไรไว้ เจ้าถูกเราถามแล้ว จงบอกทีเถิดว่า นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร.

ฝ่ายเทพธิดานั้นก็ได้ตอบแก่ท้าวสักกะนั้นด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้น้อมนำดอกบวมขมจำนวน ๔ ดอก จากเถาบวบขมซึ่งมีรสขม ไม่มีใครปรารถนา ไปบูชาพระสถูป.

หม่อมฉันมีใจผ่องใส มุ่งต่อพระบรมสารีริกธาตุของพระศาสดา มีใจจดจ่อที่พระสถูปนั้น ไม่ทันพิจารณาหนทางที่มาแห่งแม่โค.

ทีนั้น แม่โคได้ขวิดหม่อมฉันผู้มีความปรารถนาแห่งใจยังไม่ถึงพระสถูป ถ้าหม่อมฉันพึงสั่งสมบุญนั้นไซร้ ทิพยสมบัติพึงมียิ่งกว่านี้เป็นแน่.

ข้าแต่ท้าวมฆวานเทพกุญชร จอมเทพ เพราะบุญกรรมนั้น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงมาอยู่ร่วมกับพระองค์.

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า มีกายลูบไล้ด้วยจันทร์เหลือง (ปีตจนฺทนลิตฺตงฺเค) ได้แก่ มีร่างกายลูบไล้ด้วยจันทน์ที่มีสีดังทอง. คำว่า มีปราสาทสีเหลือง มีที่นอนที่นั่งเหลือง (ปีตปาสาทสยเน) ได้แก่ ผู้มีปราสาททองทั้งหมด และมีที่นอนขลิบทอง. ด้วยปีตศัพท์ (เหลือง) ในที่ทุกแห่ง ทั้งผ่านมาและข้างหน้าต่อไป พึงทราบว่าท่านหมายความถึงทองคำทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้.

คำว่า ลตตฺถิ ตัดคำเป็น ลตา อตฺถิ (แปลว่า มีเครือเถา). เทพธิดาเรียกท้าวสักกเทวราชด้วยความเคารพว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (ภนฺเต). คำว่า ไม่มีใครปรารถนา (อนภิจฺฉิตา) ได้แก่ ไม่มีใครมุ่งหวัง. คำว่า พระบรมสารีริกธาตุ (สรีรํ) ได้แก่ พระธาตุที่เป็นพระสรีระ. อนึ่ง นี้เป็นโวหารเรียกรวมในส่วนย่อย เหมือนข้อความว่า ผ้าถูกไฟไหม้ เห็นทะเล. คำว่า อสฺส ได้แก่ แห่งแม่โคนั้น. คำว่า หนทางที่มา (มคฺคํ) ได้แก่ ทางเป็นที่มา. คำว่า ไม่ทันพิจารณา (น อเวกฺขิสฺสํ) ได้แก่ ไม่ทันแลดู. ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะใจไม่นึกถึงโคนั้น. คำว่า ไม่ได้นึกไปที่แม่โคนั้น (น ตคฺคมนสา สตี) ความว่า มิได้มีใจไปจดจ่อที่แม่โคนั้น ที่แท้มีใจจดจ่อที่พระสถูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น. ปาฐะว่า ตทงฺคมานสา สตี (มีใจจดจ่อที่พระสถูปนั้น) ดังนี้ก็มี. ใจของเทพธิดานั้น มีในองค์นั้น คือในองค์แห่งพระธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เพราะเหตุนั้น เทพธิดานั้นจึงชื่อว่า มีใจจดจ่อในองค์นั้น. เทพธิดาชี้แจงว่า “คราวนั้น หม่อมฉันเป็นอย่างนี้ ไม่ทันพิจารณาหนทางของแม่โคนั้น”

คำว่า ผู้มีความปรารถนาแห่งใจยังไม่ถึงพระสถูป (ถูปํ อปตฺตมานสํ) ได้แก่ มีอัธยาศัยยังไม่ถึงพระสถูป คือพระเจดีย์. จริงอยู่ ชื่อว่ามานัส (ใจ) เพราะมีในใจ ได้แก่อัธยาศัย คือมโนรถ. เทพธิดากล่าวอย่างนี้ เพราะมโนรถที่เกิดขึ้นว่า “เราจักเข้าไปยังพระสถูป แล้วบูชาด้วยดอกไม้ทั้งหลาย” ยังไม่สมบูรณ์. แต่จิตที่คิดบูชาพระสถูปเจดีย์ด้วยดอกไม้ทั้งหลาย สำเร็จแล้วโดยแท้ จึงเป็นเหตุให้เทพธิดานั้นเกิดในเทวโลก. คำว่า ถ้าหม่อมฉันพึงสั่งสมบุญนั้นไซร้ (ตญฺจาหํ อภิสญฺเจยฺยํ) ความว่า ถ้าหม่อมฉันพึงสั่งสมความปรารถนาแห่งใจนั้น. อธิบายว่า ถ้าข้าพระบาทพึงสั่งสม คือเข้าไปสั่งสมโดยชอบทีเดียวซึ่งบุญนั้น ด้วยการบูชาด้วยดอกไม้ คือด้วยการไปถึงพระสถูป แล้วบูชาตามความประสงค์. ข้อว่า ทิพยสมบัติพึงมียิ่งกว่านี้เป็นแน่ (ภิยฺโย นูน อิโต สิยา) ความว่า สมบัติเห็นที่จะพึงมีโดยยิ่ง คือยิ่ง ๆ ขึ้นไปกว่านี้ คือกว่าสมบัติตามที่ได้อยู่แล้ว.

คำว่า ข้าแต่ท้าวมฆวานเทพกุญชร (มฆวา เทวกุญฺชร) เป็นคำเรียกท้าวสักกะ. ใน ๒ คำนั้น คำว่า เทพกุญชร (เทวกุญฺชร) ความว่า ท่านเช่นกับกุญชรในหมู่เทพ โดยคุณสมบัติวิเศษมีความบากบั่นเพื่อผลทั้งปวงเป็นต้น. คำว่า อยู่ร่วม (สหพฺยํ) ได้แก่ ความเป็นอยู่ร่วมกัน.

ท้าวมฆวานเทพกุญชร ผู้เป็นอธิบดีในสวรรค์ชั้นไตรทศ ทรงสดับคำนี้แล้ว เมื่อจะยังเทวดาชั้นดาวดึงส์ให้เลื่อมใส จึงได้ตรัสคำนี้กะมาตลีเทพสารถีว่า นี้เป็นคำของพระธรรมสังคาหกาจารย์.

ครั้งนั้น ท้าวสักกะทรงแสดงธรรมแก่หมู่เทวดาซึ่งมีมาตลีเทพสารถีเป็นประมุข ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

มาตลี ท่านจงดูผลแห่งกรรมอันวิจิตรน่าอัศจรรย์นี้ ไทยธรรมที่เทพธิดานี้ทำแล้ว ถึงจะน้อย ก็เป็นของมีผลมาก.

เมื่อจิตเลื่อมใสในพระตถาคตสัมพุทธเจ้า หรือในสาวกของพระองค์ก็ตาม ทักษิณาหาชื่อว่าน้อยไม่.

มาเถิด มาตลี แม้ชาวเราทั้งหลายก็ควรบูชาพระบรมธาตุของพระตถาคตให้ยิ่งยวดขึ้นไป เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้.

เมื่อพระตถาคตยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม เสด็จปรินิพพานแล้วก็ตาม เมื่อจิตสม่ำเสมอ ผลบุญก็ย่อมสม่ำเสมอ เพราะเหตุที่ตั้งจิตไว้ชอบ สัตว์ทั้งหลายย่อมไปสู่สุคติ.

ทายกทั้งหลายกระทำสักการะในพระตถาคตเหล่าใดแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์ พระตถาคตเหล่านั้นย่อมอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากหนอ.

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ให้เลื่อมใส (ปสาเทนฺโต) ได้แก่ กระทำให้เลื่อมใส อธิบายว่า ให้เกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย. คำว่า อันวิจิตร (จิตฺตํ) ได้แก่ งดงาม คือคิดไม่ถึง. คำว่า ผลแห่งกรรม (กมฺมผลํ) ประกอบความว่า ถึงไทยธรรมไม่ยิ่งใหญ่ ก็จงดูผลแห่งบุญกรรมซึ่งยิ่งใหญ่ เพราะถึงพร้อมด้วยเขต และถึงพร้อมด้วยเจตนา. คำว่า กตํ (ทำแล้ว) ในประโยคว่า อปฺปกมฺปิ กตํ เทยฺยํ ปุญฺญํ โหติ มหปฺผลํ (ไทยธรรมที่เทพธิดานี้ทำแล้ว ถึงจะน้อย ก็เป็นของมีผลมาก) นี้ ได้แก่ ประกอบไว้ในขอบเขต โดยเป็นตัวเหตุ โดยเป็นตัวสักการะ. คำว่า ไทยธรรม (เทยฺยํ) ได้แก่ วัตถุที่ควรถวาย. คำว่า บุญ (ปุญฺญํ) ได้แก่ บุญกรรมที่เป็นไปอย่างนั้น.

บัดนี้ ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะแสดงข้อที่ทำบุญถึงจะน้อยแต่ก็มีผลมากนั้นให้ปรากฏ จึงตรัสคาถาว่า เมื่อจิตเลื่อมใส ... (นตฺถิ จิตฺเต ปสนฺนมฺหิ) เป็นต้น. ข้อนั้นเข้าใจได้ง่ายอยู่แล้ว.

คำว่า แม้ชาวเราทั้งหลาย (อมฺเหปิ) ได้แก่ แม้พวกเรา. คำว่า มเหมเส เท่ากับ มหามเส คือพึงบูชา. คำว่า เพราะเหตุที่ตั้งจิตไว้ชอบ (เจโตปณิธิเหตุ หิ) ได้แก่ มีการตั้งจิตของตนไว้ชอบเป็นเหตุ อธิบายว่า เพราะตั้งตนไว้ชอบ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

มารดาบิดา ก็หรือว่าญาติเหล่าอื่น ไม่พึงทำเหตุนั้น (ให้ได้) แต่จิตอันตั้งไว้ชอบแล้ว พึงทำเขาให้ประเสริฐได้กว่าเหตุนั้น.

ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมทวยเทพได้สั่งระงับการเสด็จประพาสในอุทยาน เสด็จกลับจากอุทยานนั้นแล้ว ทรงทำการบูชา ๗ วัน ที่พระจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่พระองค์ทรงบูชาเนือง ๆ.

สมัยต่อมา ท้าวสักกเทวราชได้เล่าเรื่องนั้นถวายท่านพระนารทเถระผู้จาริกไปยังเทวโลก. พระเถระได้บอกกล่าวแก่พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลาย. พระธรรมสังคาหกาจารย์เหล่านั้น จึงได้ยกเรื่องนั้นขึ้นสู่สังคายนาตามนั้นแล.

อรรถกถาปีตวิมาน จบ




หมายเหตุ
๑. แปลจากคำว่า ปีตโภชเน ฉบับพม่าเป็น ปีตภาชเน
= ภาชนะเหลือง
๒. ขุ. ธ. ๒๕/๑๓/๒๐.



(ปีตวิมาน มัญชิฏฐกวรรค อิตถีวิมานวัตถุ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๘)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP