ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

อนุสสติฏฐานสูตร ว่าด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอนุสสติ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๒๙๖] ภิกษุทั้งหลาย ที่ตั้งแห่งอนุสสติ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตว่า
แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก
ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคต
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า ความอยาก นี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ
สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำพุทธานุสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้
.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรมว่า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกให้ดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า ความอยาก นี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ
สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำธัมมานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้
.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อญายธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ
นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นั่นคือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรของคำนับ
ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวก ย่อมระลึกถึงพระสงฆ์
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า ความอยาก นี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ
สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสังฆานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้
.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาทิฏฐิไม่ยึดถือ เป็นไปเพื่อสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีล
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า ความอยาก นี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ
สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสีลานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้
.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ
เราได้ดีแล้วหนอ คือ เมื่อหมู่สัตว์ถูกมลทินคือความตระหนี่กลุ้มรุม
เรามีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่อยู่ครองเรือน เป็นผู้มีจาคะอันปล่อยแล้ว
มีฝ่ามืออันชุ่ม
(คอยหยิบของบริจาค) ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ
ยินดีในการจำแนกทาน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงจาคะ
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า ความอยาก นี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ
สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำจาคานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้
.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาเหล่าจาตุมหาราชมีอยู่
เทวดาเหล่าดาวดึงส์อยู่ เทวดาเหล่ายามามีอยู่ เทวดาเหล่าดุสิตมีอยู่
เทวดาเหล่านิมมานรดีมีอยู่ เทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัตดีมีอยู่
เทวดาเหล่าพรหมกายิกามีอยู่ เทวดาที่สูงกว่าเหล่าพรหมนั้นมีอยู่
เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว
อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยศีลเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว
อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศีลเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว
อุบัติในเทวดาชั้นนั้น สุตะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว
อุบัติในเทวดาชั้นนั้น จาคะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว
อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด
อริยสาวกย่อมระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของตนและของเทวดาเหล่านั้น
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า ความอยาก นี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ
สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำเทวตานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้
.

ภิกษุทั้งหลาย ที่ตั้งแห่งอนุสสติ ๖ ประการนี้แล.


อนุสสติฏฐานสูตร จบ


(อนุสสติฏฐานสูตร อาหุเนยยวรรคที่ ๑ ปฐมปัณณาสก์ ฉักกนิบาต
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ภาค ๓
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๖)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP