ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

จัณฑาลิวิมาน ว่าด้วยวิมานของหญิงจัณฑาล


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๒๑] (พระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า)
แน่ะนางจัณฑาลี ท่านจงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระโคดม
ผู้มีพระยศ พระผู้เป็นพระฤๅษีองค์ที่ ๗
ประทับยืนอยู่เพื่อทรงอนุเคราะห์ท่านคนเดียว.

ท่านจงทำใจให้เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้คงที่
แล้วจงประคองอัญชลีถวายบังคมโดยเร็วเถิด ชีวิตของท่านน้อยเต็มทีแล้ว
.

(เพื่อจะแสดงเรื่องของนางจัณฑาลีนั้นโดยตลอด
พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวคาถา ๒ คาถานี้ว่า)
หญิงจัณฑาลีผู้นี้ ซึ่งดำรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นวันสุดท้าย
อันพระมหาเถระผู้มีตนอันอบรมแล้ว ตักเตือนแล้ว
ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระโคดมผู้มีพระยศ.

แม่โคได้ขวิดนางตาย ขณะที่นางยืนประคองอัญชลี
นมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ส่องแสงสว่างในโลกมืด
.

(เพื่อประกาศเรื่องเป็นไปของตน เทพธิดาจึงกล่าวว่า)
ข้าแต่ท่านผู้แกล้วกล้า ผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันถึงแล้วซึ่งเทวฤทธิ์
ขอเข้ามาหา ขอไหว้ท่านผู้สิ้นอาสวะ ปราศจากกิเลสดุจธุลี
ผู้ไม่หวั่นไหว นั่งเร้นอยู่ผู้เดียวในป่า
.

(พระมหาโมคคัลลานเถระจึงกล่าวกะนางนั้นว่า)
แน่ะเทพธิดาผู้สวยงาม ท่านเป็นใคร มีวรรณะดังทอง งามรุ่งโรจน์
มียศมาก งามตระการมิใช่น้อย แวดล้อมด้วยหมู่เทพอัปสร
ลงมาจากวิมาน ไหว้อาตมา
.

(เทพธิดานั้นถูกพระมหาเถระถามอย่างนี้ จึงกล่าวคาถา ๔ คาถาว่า)
ท่านเจ้าขา ดิฉันคือนางจัณฑาลี ถูกท่านผู้แกล้วกล้าส่งไป
ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระโคดมผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้มีพระยศ.

ครั้นได้ถวายบังคมพระยุคลบาทแล้ว ดิฉันได้จุติจากกำเนิดหญิงจัณฑาล
ก็เข้าถึงวิมานอันจำเริญโดยประการทั้งปวง ในสวนนันทนวัน.

เทพอัปสรประมาณ ๑,๐๐๐ นางพากันยืนห้อมล้อมดิฉันอยู่
ดิฉันเป็นผู้ประเสริฐเลิศกว่าเหล่าเทพอัปสรนั้น โดยวรรณะ เกียรติยศ และอายุ.

ดิฉันได้กระทำกัลยาณธรรมไว้มาก มีสติสัมปชัญญะ ดิฉันมาในโลก (นี้)
ก็เพื่อถวายนมัสการท่านปราชญ์ ผู้ประกอบด้วยความกรุณา.

เทพธิดาจัณฑาลี ผู้กตัญญูกตเวที ครั้นกล่าวถ้อยคำนี้แล้ว
ไหว้เท้าทั้ง ๒ ของพระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้เป็นพระอรหันต์
แล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นนั่นเอง
.

จัณฑาลิวิมาน จบ


อรรถกถาจัณฑาลิวิมาน

จัณฑาลิวิมานมีคำเริ่มต้นว่า แน่ะนางจัณฑาลี ท่านจงถวายบังคมพระยุคลบาท
(จณฺฑาลิ วนฺท ปาทานิ)
. จัณฑาลิวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร ?

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์
ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเข้ามหากรุณาสมาบัติที่พระพุทธเจ้าปฏิบัติกันมา
ครั้นออกแล้วทรงตรวจดูโลกอยู่ เห็นหญิงจัณฑาลแก่คนหนึ่ง
ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านคนจัณฑาลในเมืองนั้นนั่นเอง ว่าหมดอายุแล้ว.
และกรรมของนางที่นำไปนรกปรากฏชัด
พระองค์มีพระทัยอันพระมหากรุณากระตุ้น จึงทรงดำริว่า
เราจักให้นางทำกรรมอันนำไปสู่สวรรค์ ห้ามการเกิดในนรกของนางด้วยกรรมนั้น
ให้ดำรงอยู่ในสวรรค์
จึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่.
ก็สมัยนั้น นางจัณฑาลีนั้นกำลังถือไม้เท้าออกมาจากเมือง
พบพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จมา ได้ยืนประจันหน้ากันอยู่
.
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทับยืนขวางหน้าเหมือนกั้นมิให้นางไป
.
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะรู้พระทัยของพระศาสดา และรู้ว่าหญิงนั้นหมดอายุแล้ว
เมื่อจะให้นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

แน่ะนางจัณฑาลี ท่านจงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระโคดม ผู้มีพระยศ
พระผู้เป็นพระฤๅษีองค์ที่ ๗ ประทับยืนอยู่เพื่อทรงอนุเคราะห์ท่านคนเดียว.

ท่านจงทำใจให้เลื่อมใสยิ่ง ในพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้คงที่
แล้วจงประคองอัญชลีถวายบังคมโดยเร็วเถิด ชีวิตของท่านน้อยเต็มทีแล้ว
.

บรรดาคำเหล่านั้น ด้วยคำว่า แน่ะนางจัณฑาลี (จณฺฑาลิ)
พระเถระเรียกนางโดยชื่อที่ได้ตามกำเนิด (คือคนจัณฑาล).
คำว่า จงถวายบังคม (วนฺท) ได้แก่ จงถวายอภิวาท
.
คำว่า พระยุคลบาท (ปาทานิ) ได้แก่ จรณะ (คือพระบาท)
อันเป็นสรณะของโลกพร้อมด้วยเทวโลก
.
คำว่า เพื่อทรงอนุเคราะห์ท่านคนเดียว (ตเมว อนุกมฺปาย)
ได้แก่ เพื่ออนุเคราะห์ท่านเท่านั้น
. มีอธิบายว่า เพื่อป้องกันการเกิดในอบาย ให้บังเกิดในสวรรค์.
คำว่า ประทับยืนอยู่
(อฏฺฐาสิ) ได้แก่ ประทับยืนไม่เสด็จเข้าไปสู่เมือง.
คำว่า พระผู้เป็นฤๅษีองค์ที่ ๗ (อิสิสตฺตโม
) ความว่าพระองค์เป็นผู้สูงสุด คือ
อุกฤษฏ์กว่าฤๅษีทางโลก กว่าพระเสขะ กว่าพระอเสขะ กว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า.
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าพระฤๅษีองค์ที่ ๗ เพราะเป็นพระฤๅษี (พระพุทธเจ้า)
พระองค์ที่ ๗ แห่งพุทธฤๅษีทั้งหลายมีพระวิปัสสีเป็นต้น
.

คำว่า ท่านจงทำใจให้เลื่อมใสยิ่ง (อภิปฺปสาเทหิ มนํ) ความว่า
จงทำจิตของท่านให้เลื่อมใสว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ.”
คำว่า ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้คงที่ (อรหนฺตมฺหิ ตาทิเน
) ได้แก่ ชื่อว่า พระอรหันต์
เพราะกิเลสทั้งหลายห่างไกล เพราะกำจัดกิเลสเหล่านั้น ซึ่งเป็นข้าศึก
เพราะกำจัดกำแห่งสังสารจักร เพราะเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยทั้งหลาย
และเพราะไม่มีความลับในการทำบาป
ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะถึงความคงที่ในโลกธรรมมีอิฏฐารมณ์เป็นต้น
.
คำว่า จงประคองอัญชลีถวายบังคมโดยเร็วเถิด (ขิปฺปํ ปญฺชลิกา วนฺท) ได้แก่
ท่านจงประคองอัญชลีแล้วถวายบังคมเร็ว ๆ เถิด
.
หากถามว่า เพราะเหตุไร
? ตอบว่า เพราะชีวิตของท่านน้อยเต็มทีแล้ว.
เพราะชีวิตของท่านจะต้องแตกเป็นสภาพในบัดนี้แล้ว จึงเหลือน้อย คือนิดหน่อย
.

พระเถระเมื่อระบุพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถา ๒ คาถาอย่างนี้แล้ว
ดำรงอยู่ในอานุภาพของตน ทำนางให้สลดใจด้วยการชี้ชัดว่า นางหมดอายุ
ชักนำให้นางถวายบังคมพระศาสดา
. ก็นางได้ฟังคำนั้นแล้ว เกิดสลดใจ
มีใจเลื่อมใสในพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์
ประคองอัญชลียืนนมัสการอยู่ มีจิตเป็นสมาธิด้วยปีติอันซ่านไปในพระพุทธคุณ
.
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปในเมือง พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ด้วยทรงดำริว่า
เท่านี้ก็พอให้นางเกิดในสวรรค์ได้แล้ว.”
ต่อมา แม่โคลูกอ่อนบ้าตัวหนึ่ง วิ่งออกมาจากเมืองนั้น ใช้เขาขวิดนางจนเสียชีวิต
.
ท่านพระสังคีติกาจารย์ เพื่อแสดงเรื่องนั้นทั้งหมด ได้กล่าว ๒ คาถาว่า

หญิงจัณฑาลีผู้นี้ ซึ่งดำรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นวันสุดท้าย
อันพระมหาเถระผู้มีตนอันอบรมแล้ว ตักเตือนแล้ว
ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระโคดม ผู้มีพระยศ.

แม่โคได้ขวิดนางตาย ขณะที่นางยืนประคองอัญชลี
นมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ส่องแสงสว่างในโลกมืด
.

บรรดาคำเหล่านั้น ข้อว่า ขณะที่นางยืนประคองอัญชลี
นมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ปญฺชลึ ฐิตํ นมสฺสมานํ สมฺพุทฺธํ)
ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จไปแล้ว
นางก็ยังมีจิตเป็นสมาธิด้วยปีติมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ ยืนประคองอัญชลีนมัสการอยู่
เหมือนอยู่เฉพาะพระพักตร์
.

คำว่า ในโลกมืด (อนฺธกาเร) ได้แก่ ในโลกอันมืดด้วยความมืดคืออวิชชา
และความมืดด้วยกิเลสทั้งสิ้น
. คำว่า ผู้ส่องแสงสว่าง (ปภงฺกรํ) ได้แก่ ผู้ทำแสงสว่างคือญาณ.

ส่วนนางจุติจากนั้นแล้วไปบังเกิดในภพดาวดึงส์. นางมีอัปสร ๑๐๐,๐๐๐ นาง เป็นบริวาร.
ก็แล ในทันใดนั่นเอง นางมาพร้อมกับวิมาน ลงจากวิมานแล้ว
ได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วถวายนมัสการ
.
เพื่อแสดงความข้อนั้น นางเทพธิดาได้กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านผู้แกล้วกล้า ผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันถึงแล้วซึ่งเทวฤทธิ์ ขอเข้ามาหา
ขอไหว้ท่านผู้สิ้นอาสวะปราศกิเลสดุจธุลี ผู้ไม่หวั่นไหว นั่งเร้นอยู่ผู้เดียวในป่า
.

พระเถระได้ถามเทพธิดานั้นว่า
แน่ะเทพธิดาผู้สวยงาม ท่านเป็นใคร มีวรรณะดังทอง งามรุ่งโรจน์ มียศมาก
งามตระการมิใช่น้อย แวดล้อมด้วยหมู่เทพอัปสร ลงมาจากวิมาน ไหว้อาตมา.

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า รุ่งโรจน์ (ชลิตา) ได้แก่ รุ่งโรจน์โชติช่วงด้วยรัศมีจากร่างกาย
และแสงสว่างแห่งผ้าและอาภรณ์เป็นต้นของนาง
.
คำว่า มียศมาก (มหายสา) ได้แก่ มีบริวารมาก
.
คำว่า ลงมาจากวิมาน (วิมานโมรุยฺห) ได้แก่ ลงจากวิมาน
.
คำว่า งามตระการมิใช่น้อย (อเนกจิตฺตา
) ได้แก่ ประกอบด้วยความงามหลากหลาย
คำว่า ผู้สวยงาม (สุเภ) ได้แก่ ผู้มีคุณอันงาม
.
คำว่า มมํ เท่ากับ มํ (ซึ่งอาตมา)
.

เทพธิดานั้นถูกพระเถระถามอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวคาถา ๔ คาถาต่อมาว่า

ท่านเจ้าข้า ดิฉันคือนางจัณฑาลี ถูกท่านผู้แกล้วกล้าส่งไป
ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระโคดม ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้มีพระยศ.

ครั้นได้ถวายบังคมพระยุคลบาทแล้ว ดิฉันได้จุติจากกำเนิดหญิงจัณฑาล
ก็เข้าถึงวิมานอันจำเริญโดยประการทั้งปวง ในสวนนันทนวัน
.

เทพอัปสรประมาณ ๑,๐๐๐ นางพากันยืนห้อมล้อมดิฉันอยู่
ดิฉันเป็นผู้ประเสริฐเลิศกว่าเหล่าเทพอัปสรนั้น โดยวรรณะ เกียรติยศ และอายุ.

ดิฉันได้กระทำกัลยาณกรรมไว้มาก มีสติสัมปชัญญะ ดิฉันมาในโลก (นี้)
ก็เพื่อถวายนมัสการท่านปราชญ์ ผู้ประกอบด้วยความกรุณา
.

เทพธิดาจัณฑาลี ผู้กตัญญูกตเวที ครั้นกล่าวถ้อยคำนี้แล้ว
ไหว้เท้าทั้ง ๒ ของพระมหาโมคคัลลานเถระผู้เป็นพระอรหันต์
แล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นนั่นเอง.

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ถูก ... ส่งไป (เปสิตา) ความว่า
ถูกท่านผู้แกล้วกล้าส่งไป เพื่อถวายบังคมด้วยคำเป็นต้นว่า
แน่ะนางจัณฑาลี ท่านจงถวายบังคมพระยุคลบาท
.
บุญที่สำเร็จด้วยการถวายบังคมนั้น ถึงจะน้อยด้วยขณะปัจจุบัน (ยังมีชีวิต) ก็จริง
ถึงกระนั้น ก็ยิ่งใหญ่นัก เพราะมีเขต (เนื้อนาบุญ) และมีผลใหญ่
เพราะเหตุนั้น นางจึงได้กล่าวว่า ได้กระทำกัลยาณกรรมไว้มากมาย (ปหูตกตกลฺยาณา
).
อนึ่ง นางหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งปีติมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์
และแห่งสติและปัญญา ในขณะปัจจุบัน จึงได้กล่าวว่า
มีสติสัมปชัญญะ (สมฺปชานา ปติสฺสตา)
. ท่านพระสังคีติกาจารย์ตั้งคาถาไว้อีกว่า

เทพธิดาจัณฑาลี ผู้กตัญญูกตเวที ครั้นกล่าวถ้อยคำนี้แล้ว
ไหว้เท้าทั้ง ๒ ของพระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้เป็นพระอรหันต์
แล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นนั่นเอง
.

บรรดาคำเหล่านั้น ท่านใช้คำว่า เทพธิดาจัณฑาลี (จณฺฑาลี)
เพราะนางเคยเป็นหญิงจัณฑาล. คำใดที่เรียกกันติดปากมาจากมนุษยโลก
คำนี้ก็นำมาเรียกในเทวโลกอีก
. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นแล.

ส่วนท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ได้กราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติ (เหตุเกิดเรื่อง)
ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกันอยู่พร้อมหน้า.
พระธรรมเทศนานั้นได้เป็นประโยชน์แก่มหาชนแล้วแล
.

อรรถกถาจัณฑาลิวิมาน จบ


หมายเหตุ ๑. บาลีวิมานวัตถุ ฉบับสยามรัฐ ไม่มีคำว่า นั่งเร้นอยู่ผู้เดียวในป่า
(เอกํ อรญฺญมฺหิ รโห นิสินฺโน)
แต่ในอรรถกถานี้มีคำนี้

๒. จะเห็นว่า คำว่า อิสิสตฺตม มีความหมาย ๒ นัย คือ แปลว่า
ฤๅษี (พระพุทธเจ้า) ผู้สูงสุด ก็ได้ แปลว่า พระฤๅษีองค์ที่ ๗ (นับจากพระพุทธเจ้าวิปัสสี) ก็ได้
.
ในคาถาแปลตามนัยหลัง
.

๓. แปลจากคำว่า อจฺฉรานํ สตสหสฺสํ บาลีวิมานวัตถุ เป็น
อจฺฉรานํ สหสฺสานิ
= อัปสร ๑,๐๐๐ นาง


(จัณฑาลิวิมาน จิตตลดาวรรค อิตถีวิมานวัตถุ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๘)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP