ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

กุณฑลิยสูตร ว่าด้วยกุณฑลิยปริพาชก


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา


[๓๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนมฤคทายวัน
ใกล้เมืองสาเกต
. ครั้งนั้น กุณฑลิยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชอบเที่ยวไปในอาราม
และชอบเข้าไปในที่ชุมนุมชน นี้เป็นเหตุการณ์ของข้าพระองค์ผู้บริโภคอาหารเช้าแล้ว
ในเวลาหลังอาหาร ข้าพระองค์เดินไปเนือง ๆ เที่ยวไปเนือง ๆ
สู่อารามจากอาราม สู่อุทยานจากอุทยาน
ณ ที่นั้น ข้าพระองค์เห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
กำลังกล่าวถ้อยคำมีวาทะและการเปลื้องวาทะดังนี้เป็นอานิสงส์
และมีความขุ่นเคืองเป็นอานิสงส์ ส่วนท่านพระโคดมมีอะไรเป็นอานิสงส์อยู่เล่า
.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า กุณฑลิยะ ตถาคตมีวิชชาและวิมุตติเป็นผลานิสงส์อยู่
.

[๓๙๕] . ข้าแต่ท่านพระโคคมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
.
. กุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
.
. ข้าแต่ท่านพระโคคมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
.
. กุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
.
. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ให้บริบูรณ์.
.กุณฑลิยะ สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์.

. ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว

กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์.

[๓๙๖] . กุณฑลิยะ อินทรียสังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ อินทรียสังวรอันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์
กุณฑลิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปที่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ยินดี
ไม่ขึ้งเคียด ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่
มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว อนึ่ง เธอเห็นรูปที่ไม่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว
ก็ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลส ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท
และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ
ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ
รู้ธรรมารมณ์ที่ชอบใจด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียด ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด
และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว
อนึ่ง เธอรู้ธรรมารมณ์ที่ไม่ชอบใจด้วยใจแล้วไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลส
ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน
หลุดพ้นดีแล้ว
.

กุณฑลิยะ เพราะเหตุที่ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว เป็นผู้คงที่ ไม่เสียใจ
มีจิตไม่พยาบาท เพราะรูปทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ กายของเธอก็คงที่
จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ฯลฯ
ดมกลิ่นด้วยฆานะ ฯลฯ ลี้มรสด้วยชิวหา ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ
รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้คงที่ ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท
เพราะธรรมารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่
มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว กุณฑลิยะ อินทรียสังวรอันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมยังสุจริต ณ ให้บริบูรณ์
.

[๓๙๗] กุณฑลิยะ ก็สุจริตเหล่านั้นอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร
ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญกายสุจริตเพื่อละกายทุจริต
เจริญวจีสุจริตเพื่อละวจีทุจริต เจริญมโนสุจริตเพื่อละมโนทุจริต
สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล
ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
.

[๓๙๘] กุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร
ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ อยู่ ฯลฯ
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ อยู่ ฯลฯ
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนือง ๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
กุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล
ย่อมยังโพชฌงค์ ๔ ให้บริบูรณ์
.

[๓๙๙] กุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร
ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ
อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ กุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์.

[๔๐๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
กุณฑลิยปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระโคคมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ท่านพระโคคมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า
ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรม
และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป
.

กุณฑลิยสูตร จบ


(กุณฑลิยสูตร ปัพพตวรรคที่ ๑ โพชฌังคสังยุต
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๐)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP