ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปิยสูตรที่ ๔ ว่าด้วยผู้รักตนและไม่รักตน


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๓๓๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี
.

ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์เข้าที่ลับ พักผ่อนอยู่ ได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า
ชนเหล่าไหนหนอแลชื่อว่ารักตน ชนเหล่าไหนชื่อว่าไม่รักตน
ข้าพระองค์จึงได้เกิดความคิดต่อไปว่า ก็ชนเหล่าใดแลประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรารักตนก็ตาม
ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
ก็เพราะเหตุว่าชนผู้ไม่รักใคร่กัน ย่อมทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กัน
ชนเหล่านั้นย่อมทำความเสียหายนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน
ส่วนว่าชนเหล่าใดแล ประพฤติสุจริตด้วย กาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน
ถึงแม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตนก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ที่รักใคร่กันย่อมทำความเจริญใดให้แก่ผู้ที่รักใคร่กันได้
ชนเหล่านั้นย่อมทำความเจริญนั้นให้แก่ตนด้วยตนเองได้ ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน
.

[๓๓๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถูกแล้ว ๆ มหาบพิตร
เพราะว่าชนบางพวกประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่ารักตน
ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เรารักตนก็ตาม ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กันย่อมทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักได้
ชนเหล่านั้นย่อมทำความเสียหายนั้นให้แก่ตนด้วยตนเองได้ ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน
ส่วนว่าชนบางพวกประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน
ถึงแม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตนก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าชนผู้รักใคร่กันย่อมทำความเจริญใดให้แก่ชนผู้ที่รักใคร่กันได้
ชนเหล่านั้นย่อมทำความเจริญนั้นให้แก่ตนด้วยตนเองได้ ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน
.

[๓๓๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์นี้จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาต่อไปอีกว่า

ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ ก็ไม่พึงประกอบด้วยบาป
เพราะว่าความสุขนั้น บุคคลผู้ทำชั่วจะไม่ได้โดยง่าย

เมื่อบุคคลถูกความตายครอบงำ ละทิ้งภพมนุษย์ไป
ก็อะไรเล่าเป็นสมบัติของเขา และเขาจะเอาอะไรไปได้
อนึ่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตัวไปฉะนั้น

ผู้ที่มาเกิดแล้วจำจะต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำกรรมอันใดไว้
คือบุญและบาปทั้งสองประการ บุญและบาปนั้นแลเป็นสมบัติของเขา
ทั้งเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไป
อนึ่ง บุญและบาปนั้นย่อมเป็นของติดตามเขาไป
ประดุจเงาติดตามตัวไปฉะนั้น

เพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกรรมดี สะสมไว้เป็นสมบัติในโลกหน้า
ด้วยว่า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

ปิยสูตรที่ ๔ จบ

(ปิยสูตร โกสลสังยุต วรรคที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ภาค ๑ เล่ม ๑
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP