กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

หลวงปู่หลอด ปโมทิโต : สู้ภัยกิเลสด้วยปัญญา



เทียบธุลี

ภัยของภิกษุและสามเณรอันเป็นเหตุให้บวชไม่ได้นาน มีอยู่ ๔ ประการ
ดังพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ภยสูตรที่ ๒
ได้แก่
ภัยคือคลื่น ๑ ภัยคือจระเข้ ๑ ภัยคือน้ำวน ๑ ภัยคือปลาฉลาม ๑
(รายละเอียดของแต่ละข้อ อ่านได้ที่
http://www.84000.org/tipitaka/read/?21/122/165)
สำหรับ
ภัยคือปลาฉลาม นั้นหมายถึง มาตุคาม คือสตรีเพศ
ดังเรื่องราวของพระครูปราโมทย์ธรรมธาดา (หลวงปู่หลอด ปโมทิโต)
พระสุปฏิปัณโณผู้ได้ใช้อุบายคือปัญญาในต่อสู้กับภัยมาตุคาม

037_lpLhord

พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา (หลวงปู่หลอด ปโมทิโต)
วัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนา) กรุงเทพมหานคร
ภาพประกอบนำมาจาก
http://www.amulet.in.th

เรื่องราวเกิดขึ้นในพรรษาที่ ๗ หลังการญัตติเป็นพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกาย
หลวงปู่ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระหนุ่มได้กลับจากการบำเพ็ญสมณธรรม
และตกลงอยู่จำพรรษาที่ป่าช้าบ้านเชียง โดยท่านได้เล่าเรื่องราวในครั้งนี้ไว้ ดังความว่า

เวลาล่วงเลยไปเกือบถึงกลางพรรษาก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้อาตมาเกือบเสียคน
คืออาตมาได้เจอมารทางจิตอย่างสาหัส มันโถมเข้าย่ำยีอาตมาจนแทบตั้งตัวไม่ติด
มารที่ว่านั้น คือกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ได้เกิดขึ้นก่อกวนอย่างหนัก


เหตุเพราะที่ป่าช้าบ้านเชียงแห่งนี้มีประเพณีท้องถิ่นในการต้อนรับแขกหรือพระสงฆ์
โดยจะคัดหญิงสาวที่มีน้ำเสียงดีมาหัดสวดมนต์ทำนองสรภัญญะ อันมีท่วงทำนองไพเราะเพราะพริ้ง

อาตมาก็เช่นกัน เมื่อเป็นแขกต่างถิ่นเข้ามาพักอยู่ในถิ่นนั้น
พวกชาวบ้านก็จัดการเกณฑ์สาวๆ รุ่นๆ มาสวดสรภัญญะแทบทุกวันคืน
น้ำเสียงที่ได้ยินได้ฟัง ประกอบกับรูปร่างหน้าตาของสาวรุ่น ได้ก่อให้เกิดไฟในใจ
คือกามคุณ ๕ ขึ้นมารุมเร้าจนเกือบแก้ไขตนเองไม่ได้ มีทั้งรูป เสียง ปรากฏทางนิมิตเสมอ
จิตใจของอาตมาทุรนทุราย ร้อนรุ่ม อึดอัด และหนักอึ้งไปหมด
เป็นอาการที่แสนจะทรมาน จนเกือบจะรักษาเพศบรรพชิตไปไม่รอด


แม้ต้องต่อสู้กับข้าศึกในดวงใจอย่างหนักหน่วง จนทนทุกข์ทรมานอยู่ร่วม ๑ เดือน
แต่ด้วยการอบรมปัญญาที่ได้เคยปฏิบัติมาก่อน ในที่สุดท่านก็ปลุกใจให้ต่อสู้กับกิเลสได้สำเร็จ

ปัญหาคือสิ่งที่ต้องแก้ อุปสรรคคือสิ่งที่ต้องต่อสู้ เราจะหาวิธีแก้มัน สู้กับมันให้สมกับการเป็นลูกผู้ชาย
และเป็นลูกของพระตถาคตด้วยแล้ว เป็นไงเป็นกันจะไม่ยอมสยบต่อมาร


หลังจากใช้ความพยายามอยู่หลายวันเพื่อหาอุบายธรรมในการแก้ไขจิตใจ
วิธีการที่ใช้ในครั้งแรก คือการตั้งใจฉันแต่น้อยเพียงให้พออยู่ได้ แต่เดินจงกรมทั้งวัน
เพื่อทรมานตนให้เมื่อยล้า อ่อนเพลีย จิตใจจะได้ไม่คิดถึงรูปและเสียงดังกล่าว

ขั้นตอนในการปฏิบัติคือ หลังจากประกอบภัตกิจเสร็จแล้ว
ล้างบาตร เช็ดเก็บเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าห้องไหว้พระให้ใจสบาย
พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่าขอให้บารมีพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
ได้ช่วยดลบันดาลให้จิตใจของข้าพเจ้าพบกับความเบา ว่าง กระจ่าง สงบ
จนมีกำลังคลายจากกามคุณทั้งหลายด้วยเทอญ


จากนั้นก็เดินจงกรมตั้งแต่ ๙ โมงเช้า จนถึง ๕ โมงเย็น แล้วจึงไปทำกิจวัตรประจำวัน
โดยตั้งใจไว้ว่าจะทำอยู่อย่างนี้จนครบ ๑๕ วัน หากยังไม่ได้ผลก็จะเปลี่ยนวิธีใหม่

ทำความเพียรเพื่อทรมานตนโดยไม่ยอมสยบ แม้ว่าฝนจะตก แดดจะออก
อาตมาก็ได้พยายามทำความเพียรเพื่อทรมานตนด้วยอย่างนั้น โดยไม่ท้อถอย


แต่เมื่อครบ ๑๕ วันแล้ว กามคุณกลับไม่ลดลงมีแต่จะเพิ่มขึ้น ในที่สุดท่านจึงดำริใหม่

"นั่นเพราะมิใช่หนทางอันประเสริฐ มิใช่หนทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้เลย
ทุกรกิริยานี้มิใช่ทางที่ประเสริฐเลย เมื่อไม่ใช่ทางที่จะพ้นทุกข์แล้ว
จะเอาอะไรกับทางนี้ที่จะมาสู้รบกับกิเลสเล่า กิเลสมารจึงไม่ได้ลดละเลย"

ท่านจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการใหม่ คือหลักมหาสติปัฏฐาน

จากนี้เราควรจะใช้หลักมหาสติปัฏฐานมาแก้ไขปัญหาดู นั่นคือการพิจารณาดูกาย เวทนา จิต ธรรม
แต่ในครั้งนี้เห็นทีจะต้องตามพิจารณาดูจิตทุกขณะ จิตจะคิดไปไหนก็จะตามกำหนดรู้
จิตอยู่อย่างไรก็รู้อาการทางจิต มีอารมณ์ใดเกิดขึ้นในจิตก็ตามรู้ ถ้ามันร้อน มันร้อนยังไง เพราะอะไร
ถ้าจิตรู้สึกสบาย ก็กำหนดดูว่าสบายอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะทรงอารมณ์นั้นให้นานๆ
จำเป็นต้องให้สติสัมปชัญญะคอยควบคุมอยู่กับจิตตลอดเวลาโดยไม่ลดละ


หลังจากที่ท่านพยายามดูอยู่ทุกขณะ ก็ปรากฏผลเป็นที่น่าพึงใจยิ่ง

พอพยายามตามดูอยู่อย่างนั้นทุกขณะเป็นเวลาประมาณ ๓๐นาที จิตก็เริ่มเบา เย็นและสงบลง
อาตมาพบว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกต้อง ใช่แล้ว วิธีนี้แน่แล้ว...ถูกแล้ว จากนั้นก็เกิดอาการภูมิใจ อิ่มใจ
ปลื้มใจจนขนลุกชัน และก็ยิ่งมีกำลังใจ จึงตามดูจิตอย่างหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ผลก็ยิ่งคืบหน้า คือจิตยิ่งสบายๆ จนในที่สุดก็ปกติเหมือนเมื่อครั้งก่อนๆ มา

หลวงปู่จึงพ้นจากภัยมาตุคามมาได้ด้วยการใช้แนวทางของสติปัฏฐาน
และดำรงชีพในร่มกาสาวพัสตร์อย่างผ่องแผ้ว ตราบวาระสุดท้าย
เรื่องราวของท่านจึงเป็นคติ ในความเข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้ต่อกิเลส
ควรที่เราทั้งหลายจะได้นำไปเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติ สู่ความพ้นทุกข์สิ้นเชิงสืบไป

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เอกสารประกอบการเขียน

คณะศิษยานุศิษย์ (2546) ปโมทิตเถรบูชา ชีวประวัติธรรมปฎิปทา และโอวาทธรรม
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต
กรุงเทพฯ : ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP