ก่อนเกิดเป็นดังตฤณ Dungtrin's Secret

ฝึกสติรู้ลมหายใจ


secret

 

โดย ดังตฤณ

 

ต้องเจริญสติไปถึงไหนมือใหม่จึงจะมั่นใจว่ามาถูกทาง? นี่คือข้อกังขาสามัญที่ต้องเกิดขึ้นกับมือใหม่ทุกคน ซึ่งผมก็เช่นกัน

บนเส้นทางสายนี้ คุณจะไม่รู้สึกมั่นใจจนกว่าจะมีใจมั่น นั่นคือจิตอยู่ในสภาพตั้งมั่นรู้ มากกว่าที่จะซัดส่ายคิดไปเรื่อย

ภาวะที่จิตฟุ้งซ่านซัดส่ายไปเรื่อยนั่นแหละ ต้นเหตุสำคัญของความไม่แน่ใจ แม้จะเกิดสติรู้เห็นกายใจบ้างแล้ว ก็เหมือนมีคลื่นรบกวน แทรกแซงความรู้เห็น ตลอดจนชะล้างความมั่นใจให้หายเกลี้ยงร่ำไป

ช่วงสามเดือนแรกของการฝึกตามตำรา คอยระลึกเท่าที่จะนึกได้ว่าตอนนี้กำลังหายใจออก ตอนนี้กำลังหายใจเข้า ผมไม่มีความมั่นใจเลยว่ามาถูกทาง บางครั้งคัดแน่นอึดอัดไปหมด บางครั้งถามตัวเองว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่ บางครั้งสงสัยว่าจะต้องเห็นลมหายใจให้เป็นภาพหรือเอาแค่รู้ว่าหายใจ บางครั้งงงว่าต้องรู้เฉพาะจุดกระทบของลมตรงไหน ฯลฯ

ผมมีแต่ศรัทธาว่าทำตามพระพุทธเจ้าสอนเป็นหลักใจอย่างเดียว เรียกว่ามีความสว่างหนุนหลัง ที่เหลือในหัวเต็มไปด้วยความสงสัยคลางแคลง เรียกว่าเดินหน้าอยู่บนก้าวย่างที่เป๋ไปเป๋มาเกือบตลอด

อย่างไรก็ตาม ส่วนลึกมีความเชื่อว่าเราทำตามพระพุทธเจ้าสอน แล้วเราก็สังเกตไปเรื่อยๆว่าอย่างไหนก้าวหน้าอย่างไหนก้าวหลัง อย่างไหนเทียบเคียงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสได้ ก็น่าจะเป็นการเพียงพอ ผมไม่พยายามแสวงหาครูบาอาจารย์ อาจเป็นเพราะไม่รู้จะไปหาที่ไหน และสมัยนั้นสื่อประชาสัมพันธ์สถานฝึกกรรมฐานก็ไม่แพร่หลายเหมือนเดี๋ยวนี้

ผมมักนั่งหลับตาระลึกถึงลมหายใจเป็นชั่วโมง เพียงเพื่อตอนลืมตากลับ รู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกได้แจ่มชัดกว่าเป็นไหนๆ หลายเดือนกว่าจะฉุกคิด พยายามใช้ปัญญาสำรวจว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นไปได้

ผมจับสังเกตได้ทีละนิดทีละหน่อยว่าทุกครั้งเมื่อปิดตาลง จะเกิดอาการเล็งจิตเข้าไปที่จมูก หรือบางทีก็หว่างคิ้ว หรือบางทีก็ตรงกลางๆบริเวณส่วนที่กลวงๆในตัว ด้วยความคาดหวังว่าจะสงบลงทันใด เข้าใจว่าความคิดเป็นสิ่งบังคับให้สงบระงับกันได้

ส่วนลมหายใจ ผมก็ไปสำคัญว่ามันต้องยาว ต้องลึกทุกครั้ง ถึงจะนับว่าดี ผลคือเกิดความอึดอัดคัดแน่น คับแคบตั้งแต่แรกเริ่มปิดตาตั้งใจทำสมาธิกันเลยทีเดียว

เทียบกับตอนลืมตา สายตาผมจะแลไปตรงๆ ไม่โฟกัสที่จุดจุดหนึ่งข้างหน้า ทำให้จิตไม่เล็งสั้นๆแคบๆ มีความเปิดกว้างยิ่งกว่าตอนปิดตาเล็งจมูกเยอะ จากนั้นจึงนึกถึงลมหายใจเล่นๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ไม่พยายามบังคับว่าต้องเลิกฟุ้งซ่านในทันที อีกทั้งไม่คาดหวังว่าลมจะต้องดี ต้องยาวท่าเดียว จุดเริ่มต้นจึงสบายใจกว่ากันเยอะ

ผมสังเกตต่อว่าพอสบายใจแล้วระลึกเท่าที่จะนึกออกว่า ลมหายใจกำลังเข้า ออก หรือหยุด แค่นั้นเอง เดี๋ยวก็กลายเป็นความเคยชิน แม้จะเหม่อลอยไปบ้าง ลมหายใจก็เหมือนปรากฏอยู่ในความรับรู้เอง ไม่ต้องเพ่งพยายามให้เหนื่อย

ต่อมาผมอ่านจากหลายแห่ง พบว่ากล่าวไว้ตรงกันว่าหลักการทำสมาธิที่ถูกนั้น จะต้องได้ความรู้สึกเป็นสุข อิ่มใจ สบายตัว ไม่ใช่เป็นทุกข์ แห้งเหี่ยว เนื้อตัวแข็งกระด้างแต่อย่างใด จึงมั่นใจว่าการเริ่มต้นที่ดี ควรทำอย่างไรก็ได้ให้ห่างไกลจากความเคร่ง เพ่ง และเกร็ง

จับหลักได้เช่นนั้น ผมก็สนุกกับการทำสมาธิมากขึ้น ไม่ดันทุรังนั่งหลับตาขัดสมาธินานๆ เมื่อใดมีโอกาสนั่งเก้าอี้ได้ก็เอาเลย จะอยู่ในห้องนอนหรือรอใครในที่สาธารณะก็ตาม ผมเริ่มด้วยการสำรวจสังเกตว่าฝ่าเท้างองุ้มไหม ถ้างุ้มหรือเกร็งอยู่ก็คลายออกเสีย วางเท้าแบราบกับพื้นอย่างสบาย

มันได้ผลทุกครั้ง พอฝ่าเท้าสบาย พื้นจิตพื้นใจก็พลอยสบายตาม แสดงให้เห็นชัดว่าอาการของฝ่าเท้าสะท้อนได้ว่าสภาพจิตของเราเครียดหรือสบายอยู่ เมื่อทำให้เท้าสบาย จิตก็หายเครียดไปเยอะ

จากนั้นจึงสำรวจว่าฝ่ามือผ่อนคลายหรือกำอยู่ ถ้ากำก็คลายเสีย ให้เกิดความรู้สึกผ่อนพักสบายไม่ต่างจากฝ่าเท้า และถึงที่สุด ผมสำรวจขั้นสุดท้ายว่าทั่วใบหน้าผ่อนคลาย หายขมวด หายตึงหรือยัง แค่สำรวจเฉยๆก็เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อทั้งใบหน้าคลายออกหมดได้

เมื่อฝ่าเท้า ฝ่ามือ และใบหน้าคลายจากความฝืนทั้งหมด อุปสรรคของสมาธิก็หายไป จิตเปิดกว้างสบาย พร้อมจะรู้ พร้อมจะดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับกายใจบ้างแล้ว คุณลองดูตอนนี้ก็จะเห็นจริงตอนนี้เลยเช่นเดียวกัน

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมใช้ความสบายตัวสบายใจเป็นฐานในการรู้ลมตามจริงเสมอ กล่าวคือเมื่อแน่ใจแล้วว่าใจเปิด ใจสบาย ค่อยถามตัวเองว่าตอนนี้ร่างกายต้องการเรียกลมเข้าหรือยัง ตอนนี้ร่างกายต้องการระบายลมออกหรือเปล่า ตอนนี้ร่างกายต้องการพักลมหรือไม่

ด้วยอุบายสังเกตความต้องการของร่างกายเช่นนี้ ช่วยให้ผมหายใจตามจริง ไม่ใช่หายใจตามอยาก กับทั้งปล่อยให้ลมเกิดขึ้นตามควร ไม่ใช่บังคับลมยาวอยู่ตลอด ผิดจากความต้องการจริงของร่างกาย

ผลของการรู้ลมไปเรื่อยๆด้วยความสบาย คือ จิตจะพอใจ ไม่อยากคิดถึงเรื่องอื่น เห็นเรื่องอื่นสำคัญน้อยกว่าลมหายใจเฉพาะหน้า

และความที่เริ่มฝึกจิตด้วยการมีพระพุทธเจ้าเป็นครูสอน เมื่อตระหนักว่าท่านสอนให้หมั่นพิจารณาความไม่เที่ยง ผมก็ฝึกดูลมโดยความเป็นของไม่เที่ยง ตรงนี้ต้องใช้เวลาจับจุดอยู่นานว่าเมื่อใดจึงควรพิจารณาว่าลมเป็นของไม่เที่ยง เพราะเมื่อพยายามคิดๆนึกๆเอา เช่น ลมเป็นของภายนอก เข้ามาข้างในเดี๋ยวเดียวก็ต้องคืนกลับไป ไม่นานก็กลายเป็นฟุ้งซ่าน และไม่รู้สึกเลยว่าลมหายใจไม่เที่ยง

ต่อเมื่อสังเกตออกว่าถ้าเฝ้ารู้ลมว่าเดี๋ยวออก เดี๋ยวเข้า เดี๋ยวสั้น เดี๋ยวยาว โดยไม่คิดอะไรเพิ่มเติม กระทั่งจิตสงบลงบ้าง จึงรู้สึกได้เองว่าลมหายใจไม่เที่ยง และแม้ไม่พิจารณาว่าลมหายใจสักแต่เป็นธาตุลม มีเพียงลักษณะพัดไหว ไม่มีบุคคลอยู่ในอาการพัดไหว ในที่สุดก็เกิดความเข้าใจขึ้นมาเช่นนั้นได้เอง

แม้จิตยังไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิขั้นสูง ผมก็เกิดประสบการณ์การรับรู้ที่แตกต่างไป หน้าตาและตัวตนคล้ายล่องหน มีแต่ความรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกตามจริง และคล้ายกับว่าลมหายใจรู้ตัวเองว่าเป็นสภาวะชั่วคราวอะไรอย่างหนึ่ง ไหลเข้าแล้วต้องไหลออก ชุดหนึ่งยาว อีกชุดหนึ่งสั้น เอาแน่เอานอนไม่ได้

แม้จับทางถูก จิตของผมก็ใช่จะมีกำลังสามารถรู้ลมได้ตลอดเวลา ก็ตกลงกับตัวเองว่ารู้ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น นึกได้เมื่อไรก็สังเกตไปเล่นๆเมื่อนั้น ไม่บังคับว่าต้องถี่ห่างขนาดไหน ปล่อยให้พัฒนาไปตามธรรมชาติดีกว่า

ผมพบว่าในชีวิตประจำวันมีโอกาสทำสมาธิได้บ่อย โดยเฉพาะเวลานั่งรถเมล์กลับบ้าน หรือต้องนั่งรถยาวๆข้ามจังหวัด ผมไม่เกี่ยงว่าจะต้องนั่งสมาธิแบบหลับตาหรือลืมตา แค่ปล่อยให้ใจไปผูกอยู่กับลมเป็นสำคัญ แม้กระทั่งก่อนนอนก็นึกถึงลมเรื่อยๆ ฟุ้งซ่านบ้าง ปลอดโปร่งบ้าง ขอให้บอกตัวเองได้ว่า ยังเต็มใจอยู่กับลมเป็นพอ

บางคืนผมมีประสบการณ์ไม่ดี ไปเพ่งจับลมหายใจแน่นเกินไป เกิดความอึดอัด ตาแข็ง นอนหลับไม่สนิท ผมก็จำไว้เป็นบทเรียน คืนต่อมาฝึกใหม่ สังเกตที่ใจเป็นหลักว่าขณะรู้ลมอยู่นั้น มีความสบายหรืออึดอัด และค้นพบว่าความแข็งขืนฝืนตัวจะเริ่มเกิดเมื่อตั้งอกตั้งใจเกินพอดี แทนที่จะ รับรู้เฉยๆกลับไป เพ่งจ้องให้รู้ชัดๆเอา

ผมได้ข้อสรุปว่าถ้าจะมีสติรู้ลมก่อนนอน ต้องระวังเรื่องอาการจดจ้อง และการระวังที่ดีที่สุด ก็คือสังเกตตั้งแต่แรกว่ากายใจยังสบายอยู่ไหม เมื่อไรอึดอัดไม่สบาย ต้องรู้เท่าทัน ก่อนมันจะลุกลามใหญ่โต

ตามธรรมชาตินะครับ เมื่อก่อนนอนหลับเราเอาใจไปผูกอยู่กับลมหายใจหลายๆคืนเข้า พอตื่นนอนใจจะนึกถึงลมหายใจเองโดยอัตโนมัติ ผมจำได้ดีว่าช่วงแรกๆที่ฝึกสติรู้ลมหายใจ ตื่นนอนเมื่อไร กายจะลุกขึ้นนั่งตรง ลากลมหายใจยาว และจิตจะทำงานเป็นอัตโนมัติ ตื่นตัวรับรู้แบบที่ไม่ฝืน ไม่เพ่งเล็ง ไม่บังคับแม้แต่นิดเดียว ปลอดโปร่งเป็นสุขดีแท้

ความเชื่อมั่นจริงๆว่ามาถูกทาง เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อจิตตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ เช้าตรู่นั้นผมนอนอยู่ในบ้านริมทะเลของคุณพ่อ และตื่นขึ้นด้วยความเคยชินที่จะระลึกถึงลมหายใจ ทว่าครั้งนั้นแปลกและแตกต่างตรงที่จิตส่องสว่าง เหมือนกลายเป็นดวงแสงนวลขนาดใหญ่ กระจายรัศมีอาภาเป็นวงกว้าง รู้สึกถึงความแช่มชื่นปรีดา ยิ่งกว่าที่เราอยากยิ้มกว้างที่สุดด้วยเรื่องน่ายินดีที่สุด รสวิเวกแห่งจิตที่ได้ลิ้มยามนั้นมันแปลก หน้าท้องคล้ายพองออกได้มากกว่าปกติเป็นสองเท่า ลมหายใจที่ถูกลากยาวเข้ามา ปรากฏกระจ่างเป็นทางชัดราวกับสายน้ำตกกลางอากาศว่าง สติเต็มตื่น รับรู้ ณ ขณะแรกสุดแห่งต้นลมเข้าไปจนกระทั่ง ณ ขณะท้ายสุดแห่งปลายลมออก

จิตตั้งมั่นเด่นดวงเป็นผู้รู้ผู้เห็นว่าสายลมมีอยู่ แต่ไม่มีบุคคล!

ผมมาทราบในภายหลังว่าที่เห็นลมหายใจอย่างชัดเจน ประดุจนิมิตสายน้ำเช่นนั้น ตำราเรียก อุคหนิมิตซึ่งปรากฏในสมาธิเฉียดฌาน และนิมิตนั้นก็เกิดจากของจริง สัมผัสจริง ซึ่งตาเนื้อเห็นไม่ได้ ต้องอาศัย ตาในคือสัมผัสทางจิตเข้าไปรู้เห็น

ประโยชน์ของการรู้ลมหายใจโดยความเป็นอุคหนิมิตในขั้นอุปจารสมาธิ คือทราบขณะแห่งความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของลมหายใจอย่างแจ่มแจ้ง จิตเฝ้ารู้เฝ้าดูความเกิดดับอย่างถนัด และ ณ ขณะแห่งความรู้ชัดเช่นนั้นเอง ไม่มีใครมาหลอกได้ว่าลมหายใจเป็นเรา เราเป็นเจ้าของลมหายใจ

ตราบเท่าที่จิตตั้งมั่นรู้เห็นอยู่เช่นนั้นเอง คือขณะแห่งความเป็นสัมมาสมาธิ ผมไม่เคยเข้าใจคำว่า สัมมาสมาธิกระทั่งเกิดประสบการณ์ตรงในเช้าตรู่ดังกล่าว และเมื่อเข้าใจแล้ว ก็เกิดกำลังใจที่จะเดินหน้าหาความคืบหน้ากันต่อไป

ก็เมื่อใจมั่น กระทั่งมั่นใจแล้วว่ามาถูกทาง ใครล่ะจะอยากถอยหลังหรือกระทั่งคิดหยุดเดินหน้า

 

 



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP