กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม) : สละชีพบูชาธรรม


เทียบธุลี

32_lpWan_Uttamo
พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม)
วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่วัน อุตฺตโม เป็นพระสงฆ์ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก นับตั้งแต่ปี ๒๕๑๓
ดังความปรากฏในหนังสือพระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์ ดังนี้

เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ท่านได้รับนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ในงานแต่งงาน
ที่หมู่บ้านส่องดาว ตำบลส่องดาว กิ่งอำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร กว่าจะได้กลับวัดก็มืดค่ำ
ท่านและพระเณรที่ติดตาม ๗ รูป ได้เดินเท้าไปตามถนน ร.พ.ช. ผ่านทุ่งนาและป่าเขาขึ้นสู่ภูเหล็ก
สมัยนั้นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กำลังถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองปราบปรามอย่างหนัก
จึงห้ามประชาชนเดินในป่าเวลาค่ำคืน ขณะที่เดินมาได้ประมาณ ๔-๕ เส้น
ด้วยความมืด พระเณรจึงใช้ไฟฉายส่องทาง เจ้าหน้าที่ทหารเห็นเช่นนั้นนึกว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์


คณะของหลวงปู่จึงถูกสาดกระสุนใส่ในความมืด เสียงดังสนั่นหวั่นไหว
แต่เมื่อทหารเข้าไปเคลียร์พื้นที่ในตอนเช้า ก็ไม่พบศพแม้แต่ศพเดียว จึงตามรอยเท้าขึ้นไปบนภูเขา
และได้รู้ว่าเป็นคณะของหลวงปู่วัน จึงเข้าไปขอขมาและฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยความเลื่อมใสยิ่ง
จึงเป็นเหตุให้ท่านมีชื่อเสียงมากในยุคนั้น

หลวงปู่วันได้อุปัฏฐากพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นเวลาถึง ๕ ปี
ระหว่างปี ๒๔๘๘ จนถึง ๒๔๙๒ อันเป็นปีที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มรณภาพ
โดยทำหน้าที่ได้อย่างไม่บกพร่อง แม้ว่าจะถูกรบกวนด้วยอาการไข้อยู่เนืองๆ
ท่านได้บันทึกถึงเรื่องความเจ็บป่วยว่ามีอาการไข้มาตั้งแต่ช่วงปี ๒๔๘๕
ขณะรอฟังข่าวการสอบนักธรรมอยู่ที่วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

บางครั้งเป็นหนักถึงกับฉันจะไม่ได้เสียเลย ที่ตัวร้ายที่สุดก็คือไข้จับสั่น
การจับสั่นก็สั่นจนกุฏิสั่นสะเทือนไปด้วย หายใจทั้งทางจมูกและทางปากก็ยังไม่พอ
ผ้าห่มจะกี่ผืนก็ไม่อุ่น จนอาการไข้อ่อนลงจึงจะรู้สึกอบอุ่นขึ้นมาได้
กำลังก็ลดถอยลงไปวันละมาก ๆ หากเป็นอย่างนี้สักสิบวัน คงจะนอนติดเสื่อทีเดียว
แต่ก็ด้วยเดชะบุญ เป็นไข้จับสั่นอยู่ราว ๔ - ๕ วันเท่านั้น แล้วจึงเปลี่ยนเป็นไข้ธรรมดาต่อไป


จนกระทั่งมาจำพรรษา ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ในปีเดียวกัน อาการไข้ก็ยังไม่หาย

ระหว่างจำพรรษาที่วัดสุทธาวาส ข้าพเจ้าก็เคยเป็นไข้จับสั่นมาบ้างเหมือนกัน
จับไข้ขนาดถึงกับนอนไม่ได้ ต้องลุกนั่งชันเข่า เอาศีรษะก้มลงหายใจให้ถูกกับหน้าอก จึงค่อยทุเลาที่เป็นไข้


หลังจากที่หลวงปู่วันเป็นไข้วันเว้นวันอยู่ประมาณ ๑ เดือน
ท่านพระครูบุณฑริกบรรหาร (ทองคำ จนฺทูโม) ซึ่งกลับจากกรุงเทพมหานคร
ได้ทราบข่าวการอาพาธ จึงขอยาควินินจากโรงพยาบาลมาให้ เมื่อฉันยาได้สัก ๒
๓ วัน ไข้ก็หายไป
แต่ยังต้องต่อสู้กับอาการอาพาธมาตลอด จนถึงปี ๒๔๘๖ ก็ยังมีอาการไข้อยู่ เพราะขาดแคลนยา

ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ข้าพเจ้ายังเป็นไข้อยู่เสมอ ทีหายทีเป็นอยู่อย่างนั้น ทั้งยาแก้ไข้ก็หายาก
ไปต้องการยาจากอนามัยอำเภอหรือ ก็ได้ทีละนิดหน่อยเท่านั้น จะฉันยาจนให้อาการไข้หายขาด ก็ไม่มียา


เมื่อขาดแคลนยาแผนปัจจุบัน ท่านจึงรักษาด้วยยาสมุนไพรหลายขนาน แต่ก็ไม่หายขาด
เหตุที่ยาหายากก็เพราะเป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เพิ่งสิ้นสุดลง
ในปี ๒๔๘๘ จำพรรษา ณ วัดป่าหนองผือนาใน ซึ่งอากาศบริเวณนั้นทำให้ไม่สบายอยู่เรื่อยๆ
แต่ทว่าจิตใจของท่านกลับอิ่มเอิบในธรรมอยู่เสมอและมีศรัทธาในการปฏิบัติเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ศรัทธาในธรรมปฏิบัติดูว่าเพิ่มกำลังขึ้นไปโดยลำดับ
ถึงแม้ข้าพเจ้าจะได้เป็นไข้อยู่ตลอดพรรษาก็ตาม ความหวั่นไหวต่อมรณภัยก็ไม่มี
ตามธรรมดาแล้วอากาศในสถานที่นั้นเป็นอากาศที่หนักต่อธาตุขันธ์
ของผู้ไม่เคยชินต่อป่าดงภูเขาเหมือนกัน ทั้งข้าพเจ้าก็มีเชื้อไข้ป่ามาแต่เดิมอยู่แล้ว
แต่ด้วยเดชะบุญคุณของครูบาอาจารย์และคุณของพระพุทธศาสนามาช่วยไว้
ถึงยาจะฉันไม่ค่อยมีก็ตาม ย่อมผ่านพ้นความทุกข์ทรมานนั้นไปได้
โดยมิได้ก่อความเดือดร้อนแก่ตนและครูบาอาจารย์


แม้ต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยและขาดแคลนยาในการรักษา แต่ท่านมิได้ย่อท้อในการทำความเพียร

ถึงอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดยอมเสียสละชีวิตบูชาพระธรรมวินัยด้วยข้อปฏิบัตินั้น
ไข้ที่เป็นก็ไม่ถึงกับร้ายแรง ทำกิจวัตรและความเพียรมิได้ขาด
ถ้าไข้ร้อนในก็ให้ผ้าขาวเอาใบหญ้านางหรือใบหมี่มาขยี้ใส่น้ำฉัน
ร้อนข้างนอกก็ใช้ทาก็ระงับความร้อนไป ไข้ก็สร่าง ทั้งที่เป็นไข้แต่ก็ทำความเพียรได้กำลังดี


ท่านได้เล่าถึงการปฏิบัติในขณะเจ็บป่วย ไว้ในอัตตโนประวัติ ดังความตอนหนึ่งว่า

พึ่งจะได้รู้เห็นตัวเวทนา ในพรรษานั้นเอง ตัวเวทนานั้นเท่าที่เห็นและกำหนดรู้ด้วยใจนั้น
ปรากฏว่าเป็นตัวแต่จะคล้ายกับอะไรก็บอกไม่ถูก เมื่อเรากำหนดรู้เห็นได้อย่างนั้นแล้ว
ทุกขเวทนาทั้งหลายจะต้องถอนตัวออกจากที่ของมันโดยลำดับ
ถ้ากำลังจิตของเรากล้า ทุกขเวทนาจะออกหนีอย่างรวดเร็ว ถ้ากำลังจิตยังอ่อนก็ค่อยๆ ออกหนีไป
เมื่อจิตได้เอาชนะต่อทุกขเวทนาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จิตนั้นจะต้องกล้าหาญในการต่อสู้ทุกขเวทนาเสียจริงๆ
พอทุกขเวทนาเริ่มเกิดขึ้นที่ไหน จิตจะต้องรีบวิ่งเข้ากำจัดทีเดียวโดยมิได้รั้งรอเสียเลย
จิตขณะนั้นได้สนุกเพลินอยู่กับการต่อสู้ทุกขเวทนา หาได้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอกไม่


หลวงปู่วัน อุตฺตโม จึงเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ ผู้พร้อมสละชีวิตเพื่อพระธรรม
มิท้อถอยในการปฏิบัติ แม้ต้องผจญกับทุกขเวทนาจากธาตุขันธ์เพียงใดก็ตาม
ควรที่เราชาวพุทธทั้งหลายจะได้ถือเป็นแบบอย่างในความพากเพียร
เพื่อสิ่งประเสริฐสูงสุดคือพระนิพพานนั้นเอง

หมายเหตุ

เนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ ๘๘ ของหลวงปู่วัน อุตฺตโม ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๓
ทีมงานนิตยสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับไลท์ ขอน้อมกราบหลวงปู่ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ด้วยจิตระลึกบูชา
(-/\-)

เอกสารประกอบการเขียน

อนุสรณ์งานเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิงศพ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร
(พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)"
วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จังหวัดสกลนคร วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔.

พระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์ ธรรมบรรณาการเนื่องในงานฉลองพระธุตังคเจดีย์
เจดีย์แห่งพระอรหันต์ และ ในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายครบรอบวันมรณภาพปีที่ ๔๗
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ ( ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ) ๒๒ - ๓๐ เมษายน ๒๕๕๑





แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP