สารส่องใจ Enlightenment

เพียรสอดส่องมองย้อน (ตอนที่ ๔)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒



เพียรสอดส่องมองย้อน (ตอนที่ ๑)
เพียรสอดส่องมองย้อน (ตอนที่ ๒)
เพียรสอดส่องมองย้อน (ตอนที่ ๓)



ดังนั้นแหละ หลักสำคัญจึงอยู่ที่สมาธิ
ถ้าหากว่าสมาธิไม่แข็งแรง ปัญญาก็อ่อนแอเหมือนกัน เป็นอย่างนั้น
อย่างว่าปัญญาอาศัยสมาธิ หลักนี้ต้องจำไว้ให้มั่นเลยทีเดียว
ดังนั้นเวลาใดรู้สึกว่าใจมันไม่สงบ มันฟุ้งซ่านเลื่อนลอย
อย่าพึ่งไปคิดธรรมะ อย่าพึ่งไปพิจารณาอะไรก่อน
ต้องพยายามระงับความคิดอันนั้นด้วยสติ ด้วยสมถวิธีอย่างที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ

ผู้ใดเคยทำใจให้สงบด้วยกรรมวิธีอะไร จำเอาไว้ให้ได้
แล้วเวลาเผลอๆ จิตมันฟุ้งซ่านไป ก็นึกถึงกรรมวิธีอันนั้นให้ได้
แล้วก็เพ่งกรรมฐานอันนั้นให้ปรากฏขึ้นในจิต
ต่อไปเมื่อกรรมฐานอย่างนั้นปรากฏขึ้นในจิตแล้ว
จิตจะสงบลงได้ ยกตัวอย่างเช่นผู้เพ่งลมหายใจเข้าออกอย่างนี้นะ
ถ้าเมื่อลมหายใจเข้าออกปรากฏอยู่ในความรู้สึกอันนั้นติดต่อกันไปแล้ว
อย่างนี้ใจย่อมสงบลงได้จริงๆ นะ หรือว่าผู้ชอบบริกรรมพุทโธอย่างนี้นะ
ถ้าหากว่าพุทโธปรากฏอยู่ในความรู้สึกอันนั้นเสมอๆ ไปแล้ว
แน่นอนละ จิตย่อมรวมลงได้จริงๆ หมายความว่า จิตนั้นไม่รู้อะไรอันอื่นนะ รู้แต่พุทโธ
อยู่แต่ปัจจุบันเท่านั้น อย่างนี้นะ รู้แต่พุทโธ ก็ระงับกลายเป็นความรู้
บัดนี้นะ นี่เหลือความรู้กับสติตั้งลงในปัจจุบันนี่ ไม่ต้องได้ข่มแล้วบัดนี้นะ
มันๆ เป็นเองนะ บัดนี้นะ มันตั้งอยู่โดยลำพังตัวเอง เพราะว่าพุทโธน่ะเป็นตัวสติ
ทีนี้เมื่อตัวสติคือพุทโธนี่ซึมซาบเข้าสู่จิตได้แล้ว
จิตคือความรู้สึกอันนี้นะ มันก็ตั้งอยู่ได้โดยลำพัง โดยมีสตินั้นกำกับอยู่
จิตไม่ได้อยู่ด้วยอารมณ์อย่างอื่น
มันเป็นอย่างนั้นเรื่องมัน มันก็ประคองกันได้อยู่นั้น ฝึกเข้าไปบ่อยๆ เข้าไป
ปรากฏว่าจิตนี้ก็เป็นสมาธิอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน
เรียกว่าตั้งมั่นอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน หมายความว่าอย่างนั้น


ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเจริญวิปัสสนาให้ติดต่อกันไปไม่ได้เลย
มันก็ขาดเป็นวรรคเป็นตอนไป
เดี๋ยวก็หลงเสียใจ เดี๋ยวก็หลงดีใจ เศร้าโศกไป คับแค้นใจไปเป็นระยะๆ
เมื่อสมาธิมันถอนออกไปแล้ว มันเป็นอย่างนั้น เรื่องมัน
การที่บุคคลประคองจิตตัวเองอยู่ได้ เรื่องชั่วเรื่องไม่ดีอะไรกระทบกระทั่งมา
ก็ไม่เสียใจ ไม่เศร้าโศก ไม่โกรธ ไม่เกลียดอย่างนี้ได้
นั่นแสดงว่าสมาธิของผู้นั้นไม่ถอน ไม่เสื่อม
สมาธิมีอยู่กับจิตสมาธิของผู้นั้น ตั้งมั่นอยู่สม่ำเสมอไป เป็นอย่างนี้ ให้สันนิษฐานดู
ผู้ปฏิบัติธรรมผู้เจริญภาวนาทั้งหลายน่ะ ก็ต้องสันนิษฐานตัวเองไปอย่างนี้แหละ
ถ้ารู้ว่าจิตดวงนี้นะ ยังพลิกแพลงไปอยู่เป็นครั้งเป็นคราว
อย่างนี้ก็แสดงว่าสมาธินี่ยังไม่ตั้งมั่นอยู่สม่ำเสมอไปได้
เอ้า เราก็พยายามกระชับสติให้เข้มแข็งเข้าไปเรื่อยๆ
พยายามน้อมสติเข้าไป ควบคุมจิตให้ติดต่อกันเรื่อยไป
หมายความว่าพยายามทำความรู้สึกกับดวงจิตอันนี้น่ะให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เพราะตามธรรมดาคนเรานี่มันลืมจิตตัวเองนี่แหละเป็นระยะไป
บางทีเผลอไปเรื่องไม่ดี แล้วเมื่อเรื่องไม่ดีมากระทบจิตให้ร้อนวูบ จึงรู้สึกตัวได้ก็มี
โอ้ เรานี้เผลอไปแล้วนี่ อย่างนี้แหละให้สันนิษฐานตัวเองให้มันได้
แต่คนส่วนมากนะ มันไม่รู้สึกตัวอย่างนี้
ไอ้คนเผลอตน เสียใจตน สะดุ้งตกใจอะไรอยู่อย่างนี้
ก็ไม่ถือว่าเป็นความบกพร่องของตัวเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้มันก็ทำให้จิตนั้นตั้งมั่นสม่ำเสมอไปไม่ได้น่ะเรื่องของมัน



ถ้าผู้ใดตามจิตตัวเอง ตามรู้จิตใจตัวเองไปเสมออย่างนี้แล้ว
เวลามันเผลอไป กิริยาอาการของจิตมันผิดปกติไปขณะไหนก็รู้ได้ขณะนั้นอย่างนี้นั่นละ
มันจึงมีทางที่จะรักษาสมาธิให้สม่ำเสมอไปได้ ก็ให้พากันพึงเข้าใจอย่างนี้
อุบายวิธีฝึกจิตนะ มันสำคัญแท้ๆ เรื่องการรักษาสมาธิจิตไว้ให้ได้นี่นะ
เมื่อรักษาสมาธิจิตไว้ได้แล้ว ปัญญานั้นมันก็มีอยู่ประจำอยู่กับจิตเสมอไป
อุปมาเหมือนอย่างคนขุดดินลงไป หวังจะให้ได้น้ำอยู่ใต้ดินมาใช้นั่นน่ะ
พยายามขุดลงไปๆ ทีแรกมันก็ไปถึงน้ำซึมเสียก่อน
เพียงเท่านั้นยังไม่พอใช้ เพียงแค่น้ำซึมเนี่ย
เอ้า ก็พยายามขุดลงไปอีก เอาลงไปจนถึงสายน้ำใหญ่โน่น
เมื่อถึงสายน้ำใหญ่แล้ว มันก็ออกมาไม่หยุดยั้งเลยบัดนี้
ตักออกไปเท่าใดมันก็ออกมาอยู่เท่าเก่านั่นแหละอย่างนี้นะ



อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ การฝึกสมาธินี่
เมื่อเราฝึกไปๆ ใจมันก็หนักแน่นเข้าไป
ใจมันก็ตั้งมั่นเข้าไปยิ่งเข้าไปเรื่อยๆ
เมื่อใจตั้งมั่นเข้าไปเพียงพอแล้วอย่างนี้ มันก็ไม่ค่อยลืมตัว บัดนี้นั่นแหละ
ไม่ค่อยเผลอตัวเสียใจดีใจอะไรต่ออะไรไป
เช่นนี้แล้วเวลามีเรื่องอะไรกระทบกระทั่งมา มันก็รู้เท่าทันได้
รู้ความเกิดความดับของเรื่องต่างๆ ในโลกอันนี้นะ มันก็ไม่มีอะไรหรอก
ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดีก็ดี ชั่วก็ดี ไม่ดีไม่ชั่วก็ดี
มันก็แค่เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวน ดับไปๆ เท่านั้นเอง
เมื่อจิตตั้งมั่นลงไปแล้ว ปัญญามันก็เกิดขึ้น
อย่างนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่า ไตรลักษณญาณ
นี่ไตรลักษณญาณนี่มันต้องประจำอยู่กับความรู้สึกอันนี้เสมอทีเดียว
เมื่อมันประจำอย่างนี้แล้ว ท่านอุปมาแบบหนึ่ง
เรื่องญาณนี่เหมือนอย่างกองไฟใหญ่ที่มันลุกโพลงอยู่
เมื่ออะไรปลิวเข้ามาใส่แล้วมันไหม้หมดเลย มันไม่มีเหลือ
อันนี้ญาณความรู้ ไตรลักษณญาณ นี่ก็เป็นเช่นนั้นแหละ
เรื่องดีเรื่องชั่วอะไรกระทบเข้ามานี่ มันก็ดับไป ดับไปอยู่อย่างนั้น
เพราะจิตไม่ยึดถือเอามันเรื่องมัน หมายถึงเรื่องดีเรื่องชั่วภายนอกนะ
เช่นอย่างว่าคนผู้นี้เป็นคนดีนะ คนผู้นี้เป็นคนสวยนะอย่างนี้นะ
คนผู้นี้เป็นคนมีปัญญามาก มีทรัพย์มากอะไรอย่างนี้นะ
นี่เขาเรียกโลกกันว่า สมมติกันว่าดี เป็นคนดีอย่างนี้นะ ว่าของสิ่งนี้ดีนะอย่างนี้
มีดพร้าเล่มนี้ดีนะ เหนียวดีไม่บิ่นไม่บานอย่างนี้ เป็นต้น



บุคคลผู้เจริญปัญญาวิปัสสนาแล้ว มันจะเห็นตรงกันข้ามกับสมมติของโลก
แต่ก็ยอมรับสัจจะสมมติสัจจะของโลกที่เขาว่าดีก็ยอมรับ
แต่ถ้าว่าในปรมัตถธรรมแล้ว หากรู้ว่ามันเป็นของไม่ดีไม่ชั่ว เกิดแล้วดับไป
ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ดีก็ไม่ใช่ ชั่วก็ไม่ใช่
เพราะว่ามันเป็นของเกิดดับอยู่ตามหน้าที่ของมันแล้ว
จิตใจก็ไม่ได้สร้างความยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านั้น
เหตุปัจจัยที่จะให้จิตใจไปเกาะไปข้องอยู่กับสิ่งเหล่านั้นไม่มี มันก็ขาดตอนกัน



นี่แหละเรื่องของไตรลักษณญาณนะ
เมื่อบุคคลมาบำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นในใจของผู้ใดแล้ว
มันก็เผาผลาญกิเลสต่างๆ ให้ดับไปๆ อยู่อย่างนั้น
หรือว่าเผาเหตุแห่งทุกข์ที่จิตใจมันจะยึดจะถือเอาไว้นั้นให้ดับไปๆ อยู่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้นพระอริยบุคคลทั้งหลาย ท่านจึงมีจิตสม่ำเสมอ
จิตใจของท่านจึงไม่พลิกแผลงไป
เช่นอย่างว่า เดี๋ยวก็เป็นทุกข์ เดี๋ยวก็เป็นสุขขึ้นมาอย่างนี้นะ
นั่นเรียกว่าจิตใจพลิกแผลง
ของพระอริยบุคคลทั้งหลายท่านไม่เปลี่ยนแปลงอย่างนั้น
ท่านมีความรู้สึกเฉยต่ออารมณ์ต่างๆ ในโลกนี้
ทั้งที่เป็นส่วนดีหรือส่วนชั่ว หรือไม่ดีไม่ชั่วก็ตาม
ท่านเห็นก็สักว่าแต่เห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน
ได้ทราบหรือว่าได้รู้สึกก็สักแต่ว่าได้รู้สึกเท่านั้น
ไม่มีความหมายอะไรในทางจิตใจ
ไม่มีความหมายที่จะให้เกิดความยินดียินร้าย
เสียใจเศร้าโศกอะไรอย่างนี้นะ ไม่มีก็เป็นสักแต่ว่า
อันนี้แหละข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนามันก็ลึกเข้าไปโดยลำดับ อย่างนี้แหละ



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา “เพียรสอดส่องมองย้อน” ใน ธรรมโอวาทหลวงปู่เหรียญ
โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย ชมรมกัลยาณธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP