จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

คนตายขายคนเป็น


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



307 destination



เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวคดีฆาตกรรมคดีหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน
โดยมีเศรษฐีคนหนึ่งมีพี่ชายเป็นโรคมะเร็งและเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
ก่อนที่พี่ชายจะเสียชีวิตนั้นได้สั่งเสียเศรษฐีคนนี้ว่า
ไม่ต้องการให้เผาศพ แต่ต้องการให้ฝังศพ
ซึ่งในเวลานั้น รัฐบาลท้องถิ่นได้ออกกฎหมายห้ามฝังศพตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ แล้ว
เพื่อที่จะเก็บพื้นที่ดินไว้ให้ประชาชนใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น
เศรษฐีคนนี้จึงได้ว่าจ้างให้คนกลุ่มหนึ่งไปฆ่าผู้พิการทางสติปัญญาคนหนึ่ง
เพื่อนำศพของผู้พิการทางสติปัญญาคนนั้น
ส่งไปเผาที่สถานฌาปนกิจแทนศพพี่ชายตนเอง
แล้วแอบนำศพพี่ชายตนเองไปฝังตามประเพณีจีนในสถานที่ลับแห่งหนึ่ง
ต่อมา ตำรวจสามารถคลี่คลายคดีฆาตกรรมดังกล่าว
และได้ดำเนินคดีกับบุคคลผู้กระทำผิดในคดีฆาตกรรมดังกล่าว
https://www.komchadluek.net/news/foreign/463801?fbclid=IwAR0VSwZI6Dx6qLNbgThs7p0lD22SuPRqufl14OTSexvIxsFqpFMu6vfxueY


ในกรณีตามข่าวนี้ คำสั่งเสียของพี่ชายที่ตายได้สร้างภาระให้แก่น้องชาย
ให้ทำความผิดว่าจ้างในคดีฆาตกรรม เพื่อจะฝังศพพี่ชายตามประเพณีจีน
ซึ่งก็ใกล้เคียงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “คนตายขายคนเป็น”
หมายถึง “คนที่เสียชีวิตแล้ว มีภาระหนี้สินมากทำให้ผู้เกี่ยวข้อง
หรือญาติพี่น้องต้องรับผิดชอบแทน บางครั้งนอกจากเรื่องเงินทองแล้ว
ยังใช้เปรียบเปรยกับเรื่องภาระด้านอื่นๆ อีกด้วย”
https://www.suphasitthai.com/คนตายขายคนเป็น


ในกรณีนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในครอบครัวอื่น ๆ ในชีวิตจริงในหลายครอบครัว
ที่คนตายได้มีคำสั่งเสียบางอย่างให้ทายาทหรือลูกหลานกระทำบางสิ่ง
ซึ่งอาจจะเป็นภาระที่เกินสมควร หรือไม่ได้เป็นประโยชน์แท้จริง
เช่น คนตายอาจจะสั่งเสียให้จัดงานศพที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินจำเป็น
หรือสั่งเสียให้จัดการทรัพย์มรดกโดยวิธีการที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นต้น
โดยในชีวิตจริงก็มีบางกรณีที่คนตายสั่งให้รวมกองทรัพย์มรดกไว้
โดยไม่แบ่งให้เรียบร้อย แล้วก็ปรากฏว่าทำให้ทายาทหรือลูกหลาน
ต้องฟ้องร้องเป็นคดีความระหว่างกัน โกงกัน หรือถึงกระทั่งฆ่ากันเองก็มี
ในกรณีดังกล่าว บรรดาทายาทหรือลูกหลานก็ควรต้องพิจารณาด้วยครับว่า
การกระทำตามคำสั่งเสียของคนตายนั้น เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่
ถูกต้องตามศีลธรรมหรือไม่ และเป็นประโยชน์เหมาะสมหรือไม่


หากการกระทำตามคำสั่งเสียของคนตายนั้น จะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
หรือผิดศีลธรรม หรือไม่ได้เป็นประโยชน์เหมาะสมแล้ว
ทายาทหรือลูกหลานก็ควรจะต้องพิจารณาด้วยว่า
เราควรจะปรับเปลี่ยนให้สิ่งที่จะกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย
ถูกต้องตามศีลธรรม และเป็นประโยชน์เหมาะสมอย่างไร
ยกตัวอย่างในกรณีของพี่ชายเศรษฐีตามข่าวที่ยกมาในตอนต้น
ที่สั่งห้ามไม่ให้เผาศพ และต้องนำศพพี่ชายไปฝังนั้น
ในเมื่อการกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
และสร้างภาระให้แก่น้องชายและลูกหลานแล้ว
แถมเป็นการสร้างบาปอกุศลที่ต้องไปก่อคดีฆาตกรรมอีกด้วย
น้องชายก็ไม่ควรจะทำตามคำสั่งเสียดังกล่าวของพี่ชายครับ
แต่ควรจะนำศพพี่ชายไปเผาตามกฎหมาย และทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย
ก็จะเป็นประโยชน์แก่พี่ชาย และน้องชายมากกว่า


ในเรื่องที่ว่าการกระทำตามคำสั่งเสียของคนตาย
จะไม่ได้เป็นประโยชน์เหมาะสมแล้ว ยกตัวอย่างเช่น
ในต่างประเทศก็มีบางข่าวที่ว่าคนตายสั่งยกมรดกหลายร้อยล้าน
ให้แก่แมวตัวหนึ่ง หรือสุนัขหนึ่ง เป็นต้น
โดยลักษณะเช่นนี้แล้ว แม้ว่าแมวหรือสุนัขนั้นจะเป็นที่รักอย่างมาก
ของคนตายก็ตาม แต่ว่าการนำเงินจำนวนมหาศาลมาใช้เลี้ยงดู
แมวตัวหนึ่งหรือสุนัขตัวหนึ่งเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์น้อยและไม่เหมาะสม
ในกรณีเช่นนั้น ทายาท ลูกหลาน หรือผู้จัดการมรดกก็ต้อง
ดูแลแมวหรือสุนัขให้ดีตามคำสั่งเสีย แต่ก็ควรพิจารณาด้วยว่า
จะนำเงินที่เกินความจำเป็นในการดูแลนั้นไปสร้างประโยชน์อื่น ๆ
หรือไปทำบุญอื่น ๆ และอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ตายได้อย่างไรหรือไม่
เพื่อที่จะได้ประโยชน์หรือได้บุญกุศลแก่ผู้ตายมากกว่าครับ


ในส่วนของคนที่จะตาย ซึ่งต้องการสั่งเสีย หรือทำพินัยกรรมใด ๆ ไว้นั้น
เราก็ควรต้องคำนึงถึงทายาทและลูกหลานด้วยว่า
คำสั่งเสียของเรานั้นจะไปสร้างภาระแก่ทายาทและลูกหลานเราหรือไม่
และจะก่อประโยชน์ที่เหมาะสมหรือไม่
โดยหากคนที่จะตายได้สั่งเสียให้จัดการหรือกระทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว
ก็ย่อมจะไม่ทำให้เกิดกรณีคนตายขายคนเป็นแก่ทายาทหรือลูกหลานครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP