สารส่องใจ Enlightenment

อุบายวิธีปฏิบัติ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาดจังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๗




จิตนี้เป็นของละเอียดมาก ในส่วนแห่งร่างกายของเรา
ไม่มีส่วนใดที่จะละเอียดยิ่งกว่าจิตดวงนี้
เพราะฉะนั้นสิ่งที่แทรกสิงอยู่ภายในจิต จึงกลายเป็นของละเอียดไปตามๆ กัน
ศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านับจำนวน ๘๔
,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ล้วนแล้วแต่เป็นอุบายวิธีที่สอนให้ผู้รับศึกษาจากพระองค์ท่าน
ปฏิบัติต่อเรื่องจิตใจเป็นของสำคัญ
ที่เกี่ยวกับงานทางโลก ก็ต้องถือใจเป็นหัวหน้างาน
เกี่ยวกับงานภายในโดยเฉพาะ ก็ต้องเกี่ยวกับใจเป็นหัวหน้าเหมือนกัน


ผู้ได้รับการอบรมทางด้านจิตใจ ให้มีความเคยชินต่อเหตุผลพอสมควรแล้ว
จะดำเนินทางโลกหรือปฏิบัติต่อโลกก็มีความสม่ำเสมอ รู้ความหนักเบาของกิจที่ทำ
รู้สภาพความเป็นอยู่ของโลกกับตนเองไม่ผาดโผน และได้ทำความร่มเย็นแก่ตน
ผู้ดำเนินทางด้านธรรมะโดยเฉพาะ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
การข้ามแม่น้ำถือเรือเป็นสำคัญ
ผู้จะปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงจุดสุดท้าย
ก็ต้องถือหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ
ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะสามารถนำจิตใจของเราให้เป็นไปเพื่อความประเสริฐ
และถึงจุดหมายปลายทางอันเยี่ยมยอดได้



ในหลักธรรมทั้งมวลที่พระพุทธเจ้าประมวลมาไว้
สรุปความแล้วเรียกว่าเป็นสวากขาตธรรม คือธรรมที่พระองค์ท่านตรัสไว้ชอบแล้วทั้งนั้น
และสามารถจะรับรองผลจากการดำเนินที่ถูกต้องของผู้บำเพ็ญที่ให้ชื่อว่านิยยานิกธรรม
นำความขัดข้องยุ่งเหยิงออกจากผู้ปฏิบัติตามพระศาสนาคนนั้นออกได้เป็นลำดับๆ
ฉะนั้นท่านจึงเรียกว่านิยยานิกธรรม
เป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติชอบด้วยสวากขาตธรรม
หลักของศีลในครั้งพุทธกาล รู้สึกว่าไม่ค่อยมีมากมายนัก
แต่เมื่อมีความผิดมากที่แสดงออกทางกาย วาจา
สำหรับผู้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้ามีจำนวนมาก
เรื่องจึงกลายมาเป็นบทบัญญัติ เป็นสิกขาบทขึ้นมาเป็นลำดับๆ



พระที่ท่านมีศีลประจำที่เด่นชัดว่ามี ๒๒๗ ข้อ
แต่ถ้าจะดูตามหลักของพระวินัยที่เป็นอนุบัญญัติ
คือบัญญัติขึ้นทีหลังนั้นจำนวนมากมายเป็นพันๆ
นี่คือบัญญัติตามความเคลื่อนไหวของผู้กระทำผิด
และในครั้งนั้นเฉพาะอย่างยิ่งเวลาพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่พระเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕
ไม่ค่อยจะได้ปรารภถึงเรื่องศีล
เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีศีล ๕ อยู่แล้วภายในตัวโดยสมบูรณ์
และท่านก็เป็นนักบวชตามความนิยมของคนในสมัยนั้น
เป็นฤๅษีหรือเป็นอะไรก็ไม่ทราบ
แต่ไม่ได้เป็นเพศพระเหมือนอย่างพระในพระพุทธศาสนาของเราทุกวันนี้



แสดงถึงเรื่อง เทฺวเม ภิกฺขเว ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ให้เหมาะกับนิสัยของท่านเหล่านั้นซึ่งมีความละเอียด
สมควรที่จะรับธรรมะขั้นสูงเป็นลำดับขึ้นไปได้แล้ว
จึงไม่จำเป็นจะต้องแสดงอุบายวิธีต่างๆ ให้ฟังมากมาย
เหมือนอย่างแสดงให้พวกเราทั้งหลายฟังทุกวันนี้
ที่ท่านแสดงไว้ทุกวันนี้มีจำนวนมาก
และนอกจากนั้นเกจิอาจารย์ยังแต่งขึ้นอีกมากมาย
หลักธรรมซึ่งเป็นความจริงจริงๆ จนจะไม่ปรากฏ เพราะผู้แต่งก็แต่งขึ้นมากมาย



แต่การแต่งสำคัญอยู่ที่จิตใจ ถ้าจิตใจมีกิเลสอยู่แล้วแต่งก็ต้องเพื่อเข้าตัวเสมอ
นี่ละที่จะทำธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้กลายเป็นของปลอมไปโดยไม่รู้สึก
ถ้าจิตเป็นจิตที่บริสุทธิ์ด้วยดีเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าและสาวกท่านแล้ว
พูดออกมาคำใดก็เป็นอรรถเป็นธรรมล้วนๆ เพราะใจเป็นธรรมอยู่แล้ว
ไม่มีการเข้าตัวเหมือนอย่างสามัญชนเรา
ธรรมจึงเป็นธรรมล้วนๆ ไม่ได้มีโลกเคลือบแฝงอยู่ภายในธรรมที่ท่านแสดงไว้นั้นเลย



วิธีปฏิบัติในการอบรมจิตใจของเรานี้ โปรดอย่าได้คาดคะเนในขณะที่ทำ
ขอให้ตั้งจิตของเราไว้กับบทธรรมบทนั้นๆ และให้รู้กันอยู่ซึ่งๆ หน้า
จะปรากฏผลดีชั่วอย่างไรขึ้นมาก็ให้รับรู้กันที่นั้น
อย่าได้คาดหมายออกไปสู่ภายนอกจากวงของจิต
ที่ทำหน้าที่อยู่กับอาการหรือบทธรรมนั้นๆ
นี่แลชื่อว่าจิตได้วางตนโดยถูกต้อง ผลคือความสงบเยือกเย็นจะค่อยปรากฏขึ้นมา



จิตที่ไม่ค่อยจะได้รับความสุขหรือความสงบนั้น
เนื่องจากกระแสของใจตัวเองซ่านออกไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ต่างๆ ไม่มีเขตแดน
จิตไม่ทรงตัวอยู่ได้ตามลำพังของตน
เพราะฉะนั้นในธรรมบทหนึ่งท่านจึงกล่าวไว้ว่า
นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบย่อมไม่มี ท่านว่าอย่างนั้น
คำว่าความสงบในบทแห่งสันตินี้หมายถึงความสงบโดยหลักธรรมชาติของท่าน
จะตัดออกก็ไม่ได้ จะเอามาเพิ่มเติมก็ไม่ใช่เป็นหลักธรรมชาติ
คือจะกลายจากสันตินั้นไปเสีย
ท่านจึงว่าไม่มีความสุขอื่นใดจะเสมอด้วยความสงบโดยหลักธรรมชาติ
คือหมดสิ่งที่เคลือบแฝงโดยสิ้นเชิงแล้ว
นี่คือจิตของพระพุทธเจ้าและสาวกท่านเป็นจิตอย่างนี้
คือสันติอยู่ตลอดเวลา ทั้งเวลาเข้าภาวนาทั้งเป็นเวลาปกติ
เพราะสันตินั้นไม่ได้ละบทบาทจากความสงบอันแท้จริงของตน



จิตของเราที่ไม่เป็นเช่นนั้นย่อมมีสูงๆ ต่ำๆ
เวลาสงบก็ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ เช่นธรรมะเป็นต้น เคลือบแฝงอยู่ภายในนั้น
มีลมหายใจเป็นอารมณ์หรือพุทโธเป็นต้น
แต่จำเป็นที่เราจะต้องทำเช่นนั้น เพราะเป็นหลักพึ่งพิงของใจ
เมื่อใจยังไม่ได้ที่พึ่งอันสมควรภายในตัวเองแล้ว
ต้องหาสิ่งภายนอกมาเป็นที่เกาะ เหมือนเด็กเดินตามผู้ใหญ่
ถ้าไม่สามารถจะเดินได้ด้วยลำพังตนเอง
ก็ต้องอาศัยพ่อแม่จับมือและจูงไป เดี๋ยวก็คล่องเดินไปตามหลัง
ต่อเมื่อมีกำลังแล้วเขาก็ไปตามลำพังของเขาได้โดยไม่เกี่ยวกับผู้ใหญ่



แม้ขณะของจิตที่ต้องอาศัยธรรมะเป็นเครื่องชักจูง ก็ต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
คอยสังเกตความรู้สึกของเรากับอาการแห่งธรรมที่เรานำมากำกับกับใจ
เช่นอานาปานสติ ให้กำหนดรู้ความสัมผัสของลม
สัมผัสมากน้อย หนักเบา สั้นหรือยาว ให้ทำความรู้อยู่จำเพาะนั้น
จิตเมื่อทำความรู้อยู่กับลมหายใจโดยความสืบต่อ
จะค่อยรวมกระแสของตนเข้ามาสู่ลมนั้นโดยเฉพาะ
จากนั้นแล้วลมก็จะละเอียดลงไป
หรือปล่อยจากลมนั้นทรงตัวเองอยู่ได้ด้วยความสงบสุข
นี่วิธีที่จะทำให้เห็นผลประจักษ์ในขณะที่ภาวนา
เมื่อเราทำได้ตามที่กล่าวมานี้ ความสงบเยือกเย็นภายในใจจะต้องมีได้ด้วยกัน
ไม่ว่าผู้เริ่มฝึกหัด ไม่ว่าผู้ฝึกหัดมานานแล้ว
ถ้าถูกวิธีต้องปรากฏผลขึ้นมาเป็นความเย็นใจ



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/3x8XRqv


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP