ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายเพราะต้องเจอกับปัญหาเดิมๆ อยู่เสมอ ควรจะปรับใจอย่างไร



ถาม - เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายเพราะต้องเจอปัญหาเดิมๆ อยู่เสมอ ควรจะปรับใจอย่างไรคะ


อย่าไปปรับนะครับ อย่าไปปรับที่ใจ มันปรับไม่ได้นะ
เรื่องที่บอกว่าเจอต้นเหตุที่น่าเบื่อ แล้วบอกว่าเจอต้นเหตุเดิมๆ
แล้วในที่สุดเราจะไม่เบื่อ มันไม่ใช่
ถ้าเรายังคิดแบบเดิมในการเจอต้นเหตุ
ความคิดแบบนั้นมันก็จะนำไปสู่ความยึดแบบเดิม
ความยึดแบบเดิมมันก็จะทำให้เราเบื่อแบบเดิมๆ นั่นแหละ



แต่ถ้าหากว่าเราพลิกมุมมอง
จากการมองตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความเซ็งนะ
หันเข้ามาดูความเซ็งเสียเอง
หันเข้ามาดูความเบื่อหน่ายที่มันเกาะกินจิตใจอยู่นั่นเองนะ
ถ้าเรามองได้ว่าที่ลมหายใจนี้มันเบื่อ
เบื่อแบบว่าในหัวนี่มันปะทุอยู่ด้วยคำว่าเบื่อๆ เบื่อๆ นะ
แล้วหัวใจนี่ไม่มีอะไรนอกจากความดำมืด อันเกิดจากความเบื่อหน่ายซ้ำซากจำเจ
เรารู้ตามจริงว่ามันกำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่สุดๆ มีภาวะย่ำแย่สุดๆ อยู่ในลมหายใจนี้
แล้วสำรวจ สังเกตต่อมาว่าลมหายใจต่อๆ ไป มันยังมีภาวะย่ำแย่แบบนั้นอยู่เท่าเดิมไหม
ถ้ามันยังย่ำแย่อยู่เท่าเดิมก็บอกตัวเอง นั่นแหละมีตัวตนจริงๆ ด้วย
มีตัวตนแบบเดิม ลักษณะเท่าเดิม ขนาดเดิม สีสันแบบเดิม ไม่เปลี่ยนไปเลย
คุณยึดเถอะ เชื่อเถอะว่ามีอัตตา พระพุทธเจ้าพูดผิดแล้ว


แต่ถ้าหากว่าคุณสังเกตในลมหายใจต่อๆ มา
แล้วพบว่าความรู้สึกแย่ๆ ความรู้สึกเซ็งๆ เบื่อๆ
มันเปลี่ยน มันแปร มันกลายเป็นความสดชื่นได้
เวลาที่หายใจยาวขึ้น หายใจทั่วท้องขึ้น
หายใจอย่างมีความรู้สึกผ่อนคลาย สบายเนื้อสบายตัวมากขึ้น
อันนี้ความเซ็งหายไปแล้ว ไม่ใช่ตัวเดิมแล้ว
อันนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ถูกแล้ว ว่าไม่มีอะไรเลยที่มันเที่ยง
แม้แต่ความเบื่อ
ถ้าเราดูมันมากพอ
ถ้าเรามีความใจเย็นพอที่จะดูมัน สังเกตมันไปทีละลมหายใจ

เราจะพบความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัส
ก็คือไม่มีสิ่งใดเลยที่คงที่ ไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นของเดิม
มีหน้าตาแบบเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมาทุกลมหายใจ
แต่ละลมหายใจที่ผ่านไป เราจะเห็นความไม่เหมือนเดิมของมันได้เสมอ



นี่แหละที่จะเป็นเหตุให้เกิดความเป็นอุเบกขา
ดับความเบื่อด้วยอุเบกขา เห็นว่าความเบื่อก็ไม่เที่ยง
อะไรก็ตามนะที่จิตเห็นว่าไม่เที่ยงนะ มันจะไม่ยึดว่าเป็นตัวเรา
มันจะไม่ยึดว่าเราจะต้องไปรับผิดชอบอะไรกับมัน
มันล่วงแล้วก็แล้วไป แล้ว ณ ขณะที่เห็นมันล่วงไป มีความแจ่มชัดขึ้นมานะ
มันก็คือ ณ ขณะจิตที่รู้สึกอยู่ชัดๆ ว่าสิ่งล่วงไปนั้นไม่ใช่ตัวเรา
ความเบื่อที่มันคลี่คลายจางออกไปจากจิตนี่นะ
ณ ขณะที่เราเห็นก็คือ ณ ขณะที่จิตเกิดความตื่นขึ้น
รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่ภาวะที่เป็นตัวเป็นตนของเรานี่
มันเป็นแค่ภาวะชั่วคราวที่ปรุงแต่งด้วยจิตที่ไปยึดเอาเรื่องน่าเซ็งภายนอก
แล้วก็ไปยึดมาเกาะกุมไว้ภายในนะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP