สารส่องใจ Enlightenment

พิจารณาทุกขเวทนาในวาระสุดท้าย (ตอนที่ ๓)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙




พิจารณาทุกขเวทนาในวาระสุดท้าย (ตอนที่ ๑)
พิจารณาทุกขเวทนาในวาระสุดท้าย (ตอนที่ ๒)



จิตไม่เคยตาย เราไม่ต้องวิตกวิจารณ์
เราไม่ต้องสะทกสะท้านว่าจิตจะตาย อะไรจะเกิดก็เกิดเถอะ
จิตเป็นผู้สามารถรับทราบได้ทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาที่เกิดขึ้นกับจิต
ไม่มีอะไรที่จะแหลมคมยิ่งกว่าจิตที่คอยรับรู้อยู่ตลอดเวลา
เอ้า ทุกขเวทนาเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร จิตก็รู้ว่าทุกขเวทนาตอนนี้เกิดขึ้นมาก
เอ้า ดับไปก็ดับไปเรื่องทุกข์ แต่จิตไม่ดับ
อะไรจะเกิดขึ้นมากน้อย ให้เห็นความจริงของมัน
อย่าลืมตัวว่าจิตเป็นผู้รู้ เป็นนักรู้แท้ๆ ไม่ใช่นักหลบ หลบความรู้จนกลายเป็นไม่รู้ขึ้นมา
นั่นเป็นเรื่อง
“อวิชชา” อย่านำมาใช้ ให้รู้เกิดขึ้นมากน้อย ให้รู้ตามความจริงของมันเฉยๆ


การพิจารณาทุกขเวทนาเราก็ทราบ ทุกข์เราก็ทราบว่าทุกข์ ผู้ทราบว่าทุกข์นั้นคือจิต
ความทุกข์นั้นเป็นสภาพอันหนึ่ง ผู้ทราบว่าทุกข์นั้นเป็นสภาพอันหนึ่ง ไม่ใช่อันเดียวกัน
โดยหลักความจริงแล้วเป็นอย่างนี้ จงพิจารณาให้เห็นความจริงของทุกข์นี้
จะได้เห็นความจริงของ
“จิต” ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
นักปฏิบัติเราถ้าใจยังถือทุกขเวทนาเป็นข้าศึกต่อตน
จนต้องหาทางหลบหลีก ไม่อยากเข้าหน้ากับทุกข์อยู่ตราบใด
ความจริงนั่นคือ
“ทางแพ้ ทุกข์ สมุทัย” นั่นเอง
จะหาทางออกจากทุกข์และพ้นทุกข์ ดับสมุทัยไม่ได้อยู่ตลอดเวลา
ถ้าไม่กล้าสู้ทุกข์ ขุดค้นสมุทัยด้วยมรรคคือสติปัญญา


เอ้า อะไรเกิดขึ้นก็ให้รู้ จิตมีหน้าที่ที่จะรู้
เอาปัญญาเทียบเข้าไป ค้นดูให้เห็นชัดเจนว่า ทุกข์เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่จุดใด
ทุกข์เกิดขึ้นทางกาย หนึ่ง ทางกายเกิดขึ้นมีอาการใด
เกิดขึ้นภายในจิต เพราะเหตุใดจึงเกิดขึ้นภายในจิตได้
ถ้าไม่ใช่
“สมุทัย” คือความคิดนอกลู่นอกทางเป็นเครื่องเสริม หรือเป็นเครื่องผลิตขึ้นมา
ความจริงก็คือความลุ่มหลงตนเอง เพราะความรักสงวนตน ไม่อยากให้ทุกข์เกิดขึ้น
แม้เกิดขึ้นแล้วก็อยากให้ดับไปอย่างดื้อๆ โง่ๆ นั้นแล สร้างขึ้นมา
เช่น อยากให้ทุกข์ดับโดยไม่พิจารณาค้นหาเหตุของทุกข์คือสมุทัยตัวการสำคัญ
ความอยากให้ทุกข์ดับนี้แลคือสมุทัย มีแต่อยากให้ทุกข์ดับไป
นั่นแหละคือสร้าง
“สมุทัย” โดยตรง


ที่ถูกเราไม่ต้องอยาก พิจารณาสิ่งที่มีอยู่ ที่ปรากฏอยู่
สิ่งที่ไม่มีอย่าไปคว้าหามามันเป็นทุกข์
มันเป็นการสร้างกิเลสขึ้นภายในอีก
เวลานี้ทุกข์ยังไม่ดับ อย่านำความอยากมาบังคับให้มันดับไป
ทุกข์ปรากฏขึ้นมาให้พิจารณาตามสิ่งที่ปรากฏ
อะไรที่ยังไม่เกิดขึ้น อย่าตั้งความอยากให้มันเกิดขึ้น
เพราะมันเป็นความจริงอันหนึ่งๆ ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ใด
ขณะที่มันเกิดขึ้นก็ดี ไม่เกิดขึ้นก็ดี มันตั้งอยู่ก็ดี มันดับไปก็ดี
ผู้รู้เป็นรู้ อย่าไปสร้างความอยากขึ้น ให้รู้ชัดอย่างนี้
ชื่อว่าเป็นผู้รอบคอบในการพิจารณา
ตายก็ตายเถอะ ความจริงไม่มีอะไรตาย พิจารณาให้เห็นชัดเจนอย่างนี้



ร่างกายจะสลายก็ให้สลายไป เพราะเรื่องสลายเป็นของคู่กันกับสิ่งที่ผสม สิ่งที่รวมตัวกัน
เมื่อรวมตัวแล้วก็ต้องสลาย ถึงเวลาแล้วต้องสลายไปด้วยกันทั้งนั้น
ไม่ว่าอะไรในโลกนี้ ความไม่สลายไม่มี

แม้แต่ภูเขาทั้งลูกมันยังสลายได้ ทำไมร่างกายอย่างเราๆ ท่านๆ จะสลายไปไม่ได้
ฝืนธรรมดาไปทำไม เกิดประโยชน์อะไร
การไม่ฝืนธรรมดา ให้รู้ความจริงของธรรมดานี้แล
คือทางธรรม ทางโล่ง ทางปลดปล่อย ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องได้เลย ปัญญารอบตัว
หากจะตายขณะที่เวทนากำลังกล้าก็ให้รู้กันอยู่กับเวทนา
เป็นการ
“ลับจิต” ด้วยปัญญา โดยถือเอาเวทนาเป็น “หินลับ” ได้อย่างประจักษ์ภายในจิต


ทุกข์ดับไปจิตจะไปเกาะอะไร
เพราะจิตเป็น
“ผู้รู้” ผู้พิจารณาทุกข์เพื่อรู้และสลัดทุกข์อยู่แล้ว
จิตจะไปติดทุกข์และตกทุกข์ได้ยากที่ไหนกัน
ทุกขเวทนาเราก็ทราบแล้วว่าเป็นสภาพอันหนึ่ง
เมื่อพิจารณาทุกขเวทนานั้นด้วยปัญญาความฉลาด
เพื่อปลดเปลื้องทุกขเวทนานั้นอยู่แล้ว
เราจะไปตกนรกอเวจีที่ไหนกัน!
ทุกขเวทนาดับไป ก็ดับไปตามเรื่องของเวทนา
ผู้รู้ผู้ฉลาดพิจารณาแยกตัวออกจากทุกขเวทนาก็คือจิตกับปัญญา
ผู้ไม่ดับก็คือจิต ก็อยู่ตามความไม่ดับของจิต ตามความรู้ความฉลาดของจิต
จิตฉลาดเปลื้องตนเพราะการพิจารณาเวทนาต่างหาก
จิตมิได้ติดจมอยู่กับความทุกข์

เพราะการพิจารณาทุกข์เพื่อความฉลาดปลดเปลื้องตน
เราเหยียบ “บันได” ขึ้นสู่บนบ้านต่างหาก
มิได้เหยียบ “บันได” เพื่อติดอยู่กับบันไดนั้น



นี่เราก็พิจารณาทุกขเวทนาเพื่อเปลื้องตนจากทุกขเวทนาต่างหาก
ไม่พิจารณาทุกขเวทนาเพื่อติดทุกขเวทนา
เมื่อตายไปจะเกิดความล่มจมแก่จิตผู้เดินทางชอบได้อย่างไร
เมื่อทุกขเวทนาคือทางเดินของจิตของปัญญาแท้แล้ว
ชื่อว่าจิตเดินถูกทางของอริยสัจและสติปัฏฐาน อันเป็นทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ไม่สงสัย
การพิจารณา
“ขันธ์” ท่านพิจารณาอย่างนี้ ไม่ต้องกลัว
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้กลัว แต่สอนให้รู้ความจริง ให้พิจารณาความจริง
นี่เป็นจุดหมายที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแท้

เรื่องความกลัวพระองค์ไม่ได้สอน เป็นเรื่องของกิเลสเสี้ยมสอนคนให้โง่หนักเข้าต่างหาก
ผลที่ได้รับมีแต่ความโง่ และกองทุกข์เต็มหัวใจ ภพชาติเต็มตัว


คำว่า “เราๆ หรือใครๆ” มาเป่าหูปาวๆ ก็อย่าเชื่อง่ายๆ
ให้เชื่อพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวที่เลิศโลกมาแล้ว
อย่ากลัวความจริงเราเป็นนักปฏิบัติ ความกลัวไม่เป็นเรื่องให้สำเร็จประโยชน์
เป็นเรื่องสั่งสมกิเลสขึ้นมา ให้เกิดความทุกข์มาก เพราะความกลัว
กลัวมากเท่าไรก็เกิดความทุกข์มากเท่านั้น
พิจารณาให้เห็นประจักษ์ภายในจิตอยู่ตลอดเวลา
ในขณะที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น โดยไม่ต้องไปหวังพึ่งใครในเวลานั้น
เราอย่าหวังพึ่งใคร ไม่ใช่ที่พึ่งอันแท้จริง! นอกจาก “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ”
ด้วยสติปัญญาเราเท่านั้น จะเป็นที่พึ่งของเราได้อย่างเต็มใจ

ตึกรามบ้านช่อง ใครต่อใครก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างพึ่งไม่ได้ทั้งนั้น
เวลาจะตายจริงๆ ขันธ์ห้าก็พึ่งไม่ได้
มันจะแตกอยู่เวลานี้จะพึ่งมันได้ที่ไหน แล้วเราจะพึ่งใคร


สติปัญญาเท่านั้นเป็นอาวุธที่ทันสมัย ที่จะแก้หรือช่วยเราได้ในขณะนั้น
จงค้นลงไปพิจารณาลงไป ทุกข์เป็นของเกิดของดับ ใจเป็นของไม่เกิดไม่ดับ
เป็นธรรมชาติของใจอยู่โดยธรรมชาติของตน
พิจารณาให้ชัดเจนแล้ว จิตจะแยกตัวออกมาเอง
เมื่อเข้าใจชัดเจนแล้วไม่ไปไหน ไม่ไปติดอยู่กับอะไร มีทุกขเวทนาเป็นต้น
เพราะปัญญาเป็นเครื่องผลักดันสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายนั้นออกไปโดยลำดับๆ
ให้เข้าใจอย่างนี้ เราก็โล่งใจสบายใจ นี่แหละเรียกว่า
“การพึ่งตนเอง”


จงคิดถึงวาระสุดท้าย วาระสำคัญที่สุดคือวาระไหน?
คือทุกขเวทนาอันแสนสาหัสนี้แล จะสาหัสขนาดไหนในวาระสุดท้าย
ต้องเตรียมสติปัญญาให้พร้อมมูล
สู้! เพื่อแย่งเอาของจริงจากสิ่งจอมปลอมที่เคยหลอกเรามาเป็นเวลานาน มาครองให้ได้!
ร่างกายนี้แค่ตายเท่านั้น! สติปัญญาเป็นผู้สามารถตลอดสาย
เวทนาจะมาจากทิศใดแดนใด มันก็อยู่ในขันธ์นี้เท่านั้น
เวทนาขันธ์ก็คือขันธ์นี้เท่านั้น ไม่ได้อยู่นอกเหนือเมฆลอยมาทับเราได้
มันทับอยู่ภายในตัวเรานี้ถ้าเราไม่มีสติปัญญาทันมัน
ถ้าสติปัญญาทัน ทุกขเวทนาก็ไม่ทับ

ทุกขเวทนามีมากมีน้อยก็ทราบกันอย่างชัดเจนด้วยปัญญานี้เท่านั้น
ปัญญานี้แหละเป็นเครื่องช่วยตัวเอง
ความพากเพียร อย่าถอย ถอยไม่ได้เมื่อเข้าตาจนแล้วต้องสู้จนสุดเหวี่ยง
และเปลื้องกิเลสตัวหลงงมงายลงให้ “วัฏจักร” โน้นเป็นไร!
ก็เราจะสู้ จะเอาชัยชนะ จะถอยไปไหน
จะเอาชัยชนะด้วยการสู้นี่! ไม่ได้เอาชัยชนะด้วยการถอย
เมื่อเอาชัยชนะด้วยการสู้ ต้องสู้ด้วยสติ สู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่สู้ด้วยความโง่ๆ


จิตนี้พระพุทธเจ้าทรงรับรองอยู่แล้วว่าไม่ตาย
เราจะกลัวตายหาอะไร เราคือจิต ก็ไม่ตายนี่ เราจะกลัวตายไปทำอะไร
ถ้าตัวจิตตายเราก็ตาย นี่ตัวจิตไม่ตายแล้วเราจะตายได้ที่ไหน
เงาแห่งความตายมันมีอยู่ที่ไหน มันไม่มีนี่ ไม่มีจนกระทั่ง
“เงา” แห่งความตาย
เราตื่นเราตกใจ เรากลัวตายไปเฉยๆ กลัวลมๆ แล้งๆ ความตายของใจไม่มี
แม้กระทั่ง “เงา” ให้กลัว ก็ยังกลัวกันไปได้ เพราะความหลงของจิตนี่เอง
ท่านจึงสอนให้สร้างปัญญาให้ทันกับเหตุการณ์ จิตนี้เป็นที่แน่ใจว่าไม่ตาย
พิจารณาให้ชัด เอ้า อะไรเกิดก็เกิดขึ้นเถอะ จิตมีหน้าที่รู้ทั้งหมด
จนกระทั่งวาระสุดท้ายเครื่องมือนี้แตกไป ปัญญาก็สลายไปด้วยกัน
จิตที่ได้รับการซักฟอกจากปัญญาแล้วจะไม่ตายไม่สลาย
จะมีแต่ความผ่องใสเป็นอย่างน้อย
มีความผ่องใสประจำตัว มากกว่านั้นก็ผ่านพ้นไปได้เลย
จงเอากันในวาระสุดท้าย เอาชัยชนะอย่างสุดยอด! ในวาระสุดท้ายนี้ให้ได้


ไม่ต้องไปคาดโน้นคาดนี้ว่า เป็นหญิงเป็นชาย
ว่าเราปฏิบัติมา เท่านั้นปีเท่านี้เดือน ได้มากได้น้อย
ไม่ใช่เวลาจะมาแก้กิเลสตัณหาให้เราได้
มีความเพียรเท่านั้นเป็นเครื่องแก้ สติปัญญาเท่านั้นเป็นเครื่องแก้
เมื่อสติปัญญามีกำลังพอก็หลุดพ้นไปได้เท่านั้น นี่เป็นจุดสำคัญ
ไม่ใช่เวล่ำเวลา ไม่ใช่เพศหญิงเพศชาย ไม่ใช่อะไรทั้งหมด
ที่จะมาแก้กิเลสได้นอกจากสติปัญญา ศรัทธาความเพียร ของเราเท่านั้นเป็นเครื่องแก้กิเลส
เราแก้ได้จนกิเลสหมดขณะใด ใจก็สิ้นทุกข์ได้ขณะนั้น
การสิ้น สิ้นด้วยสติปัญญากับความเพียร
ไม่ได้สิ้นด้วยเวลานานเวลาช้าอะไรนี่จงพิจารณาตรงนี้
นี่แดนแห่งชัยชนะอยู่ที่จุดนี้! เราแพ้ก็แพ้ที่นี่ คำว่า
“แพ้” อย่าให้มี!


จิตมันแพ้อะไรเล่า รู้อยู่ตลอดเวลา สติปัญญาไม่ใช่เป็นของแพ้
เป็น
“ธรรมเพื่อชัยชนะ” ทั้งนั้น
เวลากิเลสเข้ามาแทรกให้เป็นความแพ้ ความแพ้เป็นเรื่องของกิเลสแทรก
อย่าเอาเข้ามาแตะกับตัว มันจะทำให้เราถอยหลัง
เป็นหรือตายสู้กันบนเวที ชื่อว่า “นักรบ” ขึ้นเวทีแล้วไม่ถอย
เอาจริงๆ จนไม่มีสติรับรู้แล้ว ให้เขาหามลงเปลไป
ถ้ายังมีสติ เอ้า ฟาดมันลงไปอีก ตีไม่ได้ ด่ามันเข้าไป คือสู้ด้วยปากก็ได้ ไม่ถอยกิเลส
นี่ต่อยสู้เขาไม่ได้ก็เอาปากต่อยซิ นี่เราเทียบกับนักรบที่ไม่ถอย สู้กันวันยังค่ำ สู้จนตาย
สู้เพื่อเราไม่ได้สู้เพื่อใคร ถ้าจิตเข้าใจจริงๆ แล้วเป็นไม่ถอย


ผู้เทศน์เคยเป็นเคยผ่านมาแล้วตามความจริงนี้
จึงกล้าพูดกล้าเทศน์ได้อย่างเต็มปากไม่กระดากอายใครๆ ทั้งสิ้น
การพูดด้วยความจริงก็เหมือนนักรบ จะกลัวใครมาค้านความจริงล่ะ
นี่ย่อข้อความที่เทศน์เบื้องต้นนั้นว่า
“ความตายน่ะ มันธรรมด๊าธรรมดา!”
แน่ะฟังดูซี เมื่อเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว “มันธรรมดาไปหมด!”
เป็นอยู่ก็ธรรมดา เจ็บไข้ได้ป่วยก็ธรรมดา
คือจิตไม่ได้เป็น “ภาระ ภารัง” ให้เกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวาย กลายเป็นโรคภายในใจขึ้นมา
ถึงวาระจะไป จะไปแล้วหรือ? ไปก็ไป เรื่อง“สมมุติ” มันไปต่างหาก
มันไปที่ไหน ก็ไปตามหลักความจริงของมัน ลงไปสู่ความจริงของมัน
แล้วอะไรจะฉิบหาย อะไรจะล่มจม ผู้รู้ก็รู้อยู่อย่างนี้แล้วจะไปล่มจมที่ไหน


ผู้รู้น่ะเราสร้างมาเพื่อความรู้ความฉลาด
ความรู้ความฉลาดจะพาล่มพาจมมีอย่างหรือ! มันประจักษ์อยู่ภายในจิต
จึงเรียกว่า
“สิ่งทั้งปวงไม่มีปัญหา” ไม่มีอะไรเลย! “ธรรมด๊า ธรรมดา ไปหมด”
เมื่อถึงขั้นธรรมดาธรรมชาติแล้วเป็นอย่างนั้น
การปฏิบัติให้ปฏิบัติอย่างนี้จะถึงความจริงแน่นอนไม่สงสัย


เอาละการแสดงก็เห็นว่าสมควร


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “ธรรมชุดเตรียมพร้อม” รวมพระธรรมเทศนา
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP