ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ปฐมนาถสูตร ว่าด้วยธรรมอันกระทำที่พึ่ง ๑๐ ประการ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ที่พึ่งอยู่เถิด
อย่าเป็นผู้ไม่มีที่พึ่งอยู่เลย (เพราะว่า) บุคคลผู้ไม่มีที่พึ่งย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันกระทำที่พึ่ง ๑๐ ประการนี้
๑๐ ประการเป็นไฉน คือ


๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกขสังวร
ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกขสังวร
ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.


๒. ภิกษุเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้สดับมาก
ทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ
ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้สดับมาก
ทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ
ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.


๓. ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.


๔. ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย คือ ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำความเป็นผู้ว่าง่าย
เป็นผู้อดทน รับอนุสาสนีโดยเคารพ
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย คือ
ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำความเป็นผู้ว่าง่าย
เป็นผู้อดทน รับอนุสาสนีโดยเคารพ นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.


๕. ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจที่ควรทำอย่างไร ทั้งสูงทั้งต่ำ
ของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
อันเป็นอุบายในกิจนั้น อาจทำ อาจจัดได้
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจที่ควรทำอย่างไร
ทั้งสูงทั้งต่ำ ของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา อันเป็นอุบายในกิจนั้น
อาจทำ อาจจัดได้ นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.


๖. ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในธรรม เป็นผู้ฟังและแสดงธรรมอันเป็นที่รัก
มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในธรรม เป็นผู้ฟังและแสดงธรรมอันเป็นที่รัก
มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.


๗. ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย
เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง
มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย
เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง
มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เป็นธรรมการทำที่พึ่ง.


๘. ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของคนไข้ ตามมีตามได้
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของคนไข้ ตามมีตามได้
นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.


๙. ภิกษุเป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง
ระลึกได้ ตามระลึกได้ ซึ่งสิ่งที่ทำคำที่พูดแล้วแม้นานได้
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง
ระลึกได้ ตามระลึกได้ ซึ่งสิ่งที่ทำคำที่พูดแล้วแม้นานได้
นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.


๑๐. ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิดความดับ
เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา คือ
ประกอบด้วยปัญญาอันเห็นความเกิดความดับ เป็นอริยะ
ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.


ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีที่พึ่งอยู่เถิด
อย่าเป็นผู้ไม่มีที่พึ่งอยู่เลย (เพราะว่า) บุคคลผู้ไม่มีที่พึ่ง ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมกระทำที่พึ่ง ๑๐ ประการนี้แล.


ปฐมนาถสูตร จบ



(ปฐมนาถสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต



พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๘)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP