สารส่องใจ Enlightenment

พิจารณาทุกขเวทนาในวาระสุดท้าย (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙




พิจารณาทุกขเวทนาในวาระสุดท้าย (ตอนที่ ๑)



ต่อไปจะต้องมีความละเอียดขึ้นโดยลำดับจากจิตดวงนี้เอง
จิตดวงนี้จะเปลี่ยนสภาพไปเรื่อยๆ และเข้าสู่ความละเอียดจริงๆ
แม้จะพิจารณาทางด้านปัญญาการค้นคว้าต่างๆ
ใจมีความเฉลียวฉลาดมากน้อยเพียงใดก็ตาม
ฐานแห่งความสงบเย็นใจนี้ ก็ปรากฏเป็นความมั่นคงไปโดยลำดับเช่นกัน
แต่บางครั้งเวลาชุลมุนวุ่นวายมากกับการงานทางด้านปัญญา
ความสงบอันนี้จะหายไปก็มี
แต่คำว่า
“หายไป” นี้ไม่ได้หายไปแบบคนที่ไม่เคยภาวนา คนไม่เคยมีสมาธิมาก่อน
คนไม่เคยภาวนานั้น ไม่มีความสุขความสงบภายในใจเลย
จึงไม่มีคำว่า “จิตเจริญ” หรือ “จิตเสื่อม” เป็นจิตสามัญธรรมดาๆ


แต่จิตที่ “หายจากความสงบนี้” มีแต่ความรู้สึกที่จะพิจารณาอย่างเดียว
มีความรื่นรมย์ มีความดูดดื่มในการพินิจพิจารณาเพื่อถอนกิเลสต่างๆ ออกจากจิตใจ
ไม่ได้มีความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปกับโลกกับสงสารใดๆ เลย
แม้จะไม่ปรากฏเป็นความสงบแน่วแน่เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาก็ตาม
เพราะความรู้อันนี้เปลี่ยนไปทางธรรมแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับโลกเลย
ถึงจะไม่เป็นความสงบเหมือนจิตเป็นสมาธิก็ตาม
แต่ก็เป็นความวุ่นกับตนเพื่อถอดถอนกิเลสต่างหาก มันผิดกันที่ตรงนี้


การพยายามตะเกียกตะกายเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจให้มีความสงบร่มเย็น
เป็นที่แน่ใจตนเอง มีความอบอุ่น มีหลักใจเป็นเครื่องยึดเป็นที่อาศัยนี้
เป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่บ้าง
แต่เราควรนึกคิดถึงเรื่องงานต่างๆ ที่เราทำ
บางทีงานบางชิ้นมันก็หนักอึ้ง จนขนาดหัวเสียไปก็มี
เรายังอุตส่าห์พยายามทำและผ่านไปได้ไม่รู้กี่งานมาแล้ว
เหตุใดงานที่เป็นไปเพื่อตัวเองโดยเฉพาะแท้ๆ เราจะทำไม่ได้ จะผ่านไปไม่ได้
นี่เป็นงานเหมือนกัน เป็นแต่เพียงว่างานนอกงานใน แปลกกันเพียงเท่านี้
ทำไมเราจะทำไม่ได้ ต้องทำได้ ! เมื่อความพอใจมีอยู่แล้ว

เมื่อปลงใจอย่างนี้แล้ว ความท้อถอยอ่อนแอก็ไม่มี พยายามดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
จิตเมื่อได้รับการอบรมอยู่โดยสม่ำเสมอแล้ว
จะแสดงความแปลกประหลาดขึ้นมาให้ชมเรื่อยๆ
ความเย็น ความอบอุ่น ความแน่ใจ จะมีกำลังมากขึ้นๆ


การฟังเทศน์ โดยเฉพาะที่เทศน์ทางด้านกรรมฐานเกี่ยวกับจิตตภาวนาล้วนๆ
ถ้าจิตไม่มีฐานแห่งความสงบเป็นที่รองรับกันบ้าง ฟังเทศน์ทางด้านปฏิบัติจะไม่เข้าใจ
เราสังเกตจิตของเราตอนนี้ ถ้าฐานแห่งความสงบพอที่จะรับธรรมเทศนาของท่าน
ทางด้านจิตตภาวนาทางด้านปฏิบัติไม่มีภายในใจ ฟังเทศน์ท่านเท่าไรก็ไม่เข้าใจ
ยิ่งฟังเทศน์เรื่องมรรคเรื่องผลก็ยิ่งมืดแปดด้าน นี่แสดงว่าฐานรับภายในของเรายังไม่มี



พอความสงบเริ่มมีขึ้น การฟังเทศน์ทางภาคปฏิบัติจะเริ่มมีรสมีชาติขึ้นภายในจิตใจ
เพราะมีฐานของจิตที่เป็นความสงบเป็นเครื่องรองรับ
เมื่อจิตรับกันได้ดีเท่าไร การฟังเทศน์ด้านปฏิบัตินี้จะยิ่งมีความซาบซึ้ง
ไพเราะเพราะพริ้ง หวานอยู่ภายในจิตไม่จืดจาง
แม้ใจเรายังไม่ถึงธรรมที่ท่านแสดงนั้นก็ตาม
แต่ก็เหมือนเราเข้าใจ เรารู้เราเห็นไปตามท่านไม่มีข้อแย้ง
เพราะท่านเปิดทางโล่งให้เห็นชัดเจน เห็นภาพนั้นภาพนี้โดยลำดับๆ
ถ้าวาดภาพพจน์ขึ้นมาก็เป็นอย่างนั้น ยิ่งมีความดูดดื่มในการฟัง
จนลืมเนื้อลืมตัว ลืมเวล่ำเวลาไปหมดในขณะที่ฟัง
นี้คือจิตของเรามีฐานรับแล้ว เทศน์ทางด้านจิตตภาวนาจึงเข้ากันได้อย่างสนิทไม่มีปัญหา



ทีนี้เวลาเราชินต่อการฟังเทศน์ประเภทนี้ เพราะจิตยอมรับแล้วอย่างนี้
ฟังเทศน์อื่นๆ เลยขี้เกียจฟัง ราวกับฟังไม่ได้น้ำไม่ได้เนื้ออะไร
พูดไปนอกโลกนอกสงสาร ไปที่ไหนๆ โน้น ความจริงที่ปรากฏอยู่กับตัวทำไมไม่พูด!
เพราะเรื่อง
“สัจธรรม” หมุนอยู่ภายในจิตใจ แล้วไปเทศน์ “ข้างนอก”
แม้จะเป็น “สัจธรรม” ก็จริง แต่มันอยู่นอกห่างไกลจากปากจากท้องเรา
ที่จะได้รับประทานอย่างง่ายๆ ทันใจ เพราะเป็นภายในจิตเอง
เมื่อเทศน์เข้ามาสู่ภายในนี้ ย่อมเป็นเครื่องกล่อมจิตใจได้อย่างสนิทมาก
ลึกซึ้งมาก เพราะพริ้งมาก มีรสมีชาติขึ้นโดยลำดับ


ท่านเทศน์เรื่อง “วิถีจิต” เทศน์เรื่อง “สติ” เทศน์เรื่อง “ปัญญา”
เทศน์หมุนเข้ามาใน “สัจธรรม” ซึ่งมีอยู่กับตัวทุกคน
ท่านยกสัจธรรมขึ้นเป็นสนามรบ หรือเป็นธรรมเทศนา
ย่อมเข้ากับจิตที่มีความสงบได้ดี เพราะจิตเต็มไปด้วยสัจธรรม
ทุกข์ก็เสียดแทงเข้ามาที่จิต สมุทัยก็เกิดที่จิต เสียดแทงที่จิต มรรคก็ผลิตขึ้นมาที่จิต
คือสติปัญญา จะผลิตขึ้นมาจากไหนถ้าไม่ผลิตขึ้นจากจิต ผลิตขึ้นจากที่นี่
เมื่อมีอำนาจมีกำลังมากเพียงไร ก็ระงับดับกิเลสตัณหา
ดับทุกข์กันลงไปเป็นลำดับๆ ก็ดับในที่นี้ ที่เรียกว่า “นิโรธๆ” นั่นน่ะ


สัจธรรมมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้อยู่ภายในจิต หมุนอยู่ตลอดเวลา เป็น “ธรรมจักร”
ถ้าจะพิจารณาให้เป็นธรรม สัจธรรมนี้ก็เหมือนธรรมจักร
ถ้าจิตเราคิดไปแบบโลกแบบสงสารซึ่งไม่เคยภาวนาเลย
มันก็เป็น “กงจักร” ผันให้เรารุ่มร้อนอยู่ตลอดเวลาวุ่นไปหมด จนหาที่ปลดเปลื้องไม่ได้
นั่งก็ไม่สบาย นอนก็ไม่สบาย อิริยาบถทั้งสี่มีแต่ไฟเผาจิตเผาใจ
ไฟกิเลสตัณหาอาสวะนั่นแหละ ไม่ใช่ไฟอื่น ที่จะร้อนยิ่งกว่าไฟอันนี้


ถ้าจิตเป็นอรรถเป็นธรรม พินิจพิจารณาเพื่อถอดเพื่อถอนด้วยมรรคผลปฏิบัติอยู่แล้ว
เรื่องสัจธรรมทั้งสี่นี่ก็เป็น
“ธรรมจักร” เป็นเครื่องซักฟอกสติปัญญาได้เป็นอย่างดี
ทุกข์เกิดขึ้นที่ตรงไหนจะกระเทือนถึง ปัญญานำมาพิจารณา
เราเคยทราบอยู่แล้วว่าทุกข์คืออะไร เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ
เป็นสิ่งที่ทรมานจิตใจของสัตว์โลกอย่างมากมาย และทุกข์นี้เกิดขึ้นมาจากอะไร


ย้อนไปเรื่องสติปัญญา การค้นคว้าอย่างนี้ การคิดอย่างนี้
เป็นเรื่องของมรรค พิจารณาเหตุพิจารณาผลไปโดยลำดับ
เฉพาะอย่างยิ่งควรเอา
“ขันธ์ห้า” เป็น “สนามรบ”
รบที่ไหนไม่ถนัดเหมือนรบในขันธ์ห้า เพราะขันธ์ห้านี้เป็นเจ้าตัวการสำคัญ
ที่ก่อทุกข์ภายในร่างกายและจิตใจไม่หยุดหย่อน
การพิจารณาขันธ์ห้าจึงเหมือนว่า การรบกับกิเลสในขันธ์ห้า
การรบด้วยการพิจารณาขันธ์ห้า จึงเป็นการปลดเปลื้องภาระจากข้าศึก
และนำชัยชนะกลับมาได้ จากการรู้เท่าทันขันธ์ห้านี้โดยไม่ต้องสงสัย


พระพุทธเจ้าท่านรบข้าศึกก็อยู่ภายในขันธ์ห้า สาวกท่านก็ได้ชัยชนะภายในขันธ์ห้า
ไม่ได้ชัยชนะจากที่อื่นใด เพราะแพ้ก็แพ้ที่นี่เอง
หลงก็หลงเพราะสิ่งนี้ ไม่หลงเพราะสิ่งอื่น หลงเพราะสิ่งนี้สิ่งเดียว
การพิจารณาจึงต้องพิจารณาจุดที่หลง เพื่อให้เกิดความรู้ขึ้นมาในจุดที่เคยหลง
เมื่อรู้สิ่งใดย่อมแยกตัวออกได้จากสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้นขันธ์ทั้งห้านี้จึงเป็นหินลับปัญญาได้อย่างดีเยี่ยม
จึงไม่ควรมองข้ามขันธ์ห้า ถ้าผู้พิจารณาเพื่ออรรถเพื่อธรรมไม่ใช่เพื่อเห็นแก่ตัว
คำว่า
“เพื่อเห็นแก่ตัว” นั้นเป็นเรื่องของกิเลส
กลัวตายก็กลัว อะไรก็กลัวไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกข์เกิดขึ้นมาก็กลัวจะสู้ไม่ไหว
ความกลัวจะสู้ไม่ไหวก็คือเรื่องของกิเลส
ฉะนั้นจงอย่าไปกลัว สร้างความกลัวขึ้นมาทำลายตัวทำไม!
ความกลัวนี้เป็นตัวภัย สร้างขึ้นมามากน้อยก็เสียดแทงจิตใจ
ให้เกิดความทุกข์มากน้อยตามที่เราสร้างขึ้นมา


ความจริงมีอย่างไรให้นำมาใช้ ความจริงคืออะไร?
ให้รู้ความจริงของ “สัจธรรม” หรือของขันธ์ห้าที่มีอยู่ในตัวของเรา
ผู้ไม่รู้ความจริงในขันธ์ห้าที่อยู่กับตัวนั้น ไม่จัดว่าเป็นผู้ฉลาด และหาทางพ้นภัยไปไม่ได้
จะต้องถูกสิ่งที่เราถือว่าเป็น “ข้าศึก” สิ่งที่เรากลัวนั้นแลย่ำยีเรา
ให้ได้รับความทุกข์ทรมาน และแพ้อยู่ตลอดไป
ยิ่งเป็นวาระสุดท้ายด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะกลัวตายมาก กลัวเจ็บกลัวปวดตรงนั้นตรงนี้มาก
นั้นแลคือการสร้างเสี้ยนหนามขึ้นมาเสียดแทงจิตใจของตัวเอง
ให้เกิดความท้อแท้อ่อนแอ ดีไม่ดีเกิดความเผลอตัวไปได้
เพราะผิดจากสัจธรรม ผิดจากหลักความจริง


ปัญญามีอยู่ สติมีอยู่ จงนำมาใช้
สติปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้รู้แจ้งเห็นจริงกับสิ่งที่เป็นข้าศึกนี้
จนกลายเป็นมิตรกันได้ คือต่างอันต่างจริง



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “ธรรมชุดเตรียมพร้อม” รวมพระธรรมเทศนา โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP