สารส่องใจ Enlightenment

พิจารณาทุกขเวทนาในวาระสุดท้าย (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙




เมื่อจิตยังอยู่ในที่มืดมนด้วยกิเลสชนิดต่างๆ ปกปิดกำบัง
ก็เช่นเดียวกับเราเข้าไปในป่ารกชัฏและกว้างขวาง
ขณะอยู่ในป่านั้น ความรู้สึกเหมือนไม่เคยผ่านทุ่งผ่านนาที่เวิ้งว้างมาก่อนบ้างเลย
ทั้งๆ ที่เราก็เคยผ่านเคยอยู่มาแล้ว
แต่เวลาเข้าไปในดงอันรกชัฏแล้ว ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปกับสิ่งที่เกี่ยวข้อง
จึงเป็นเหมือนว่าเราไม่เคยผ่านทุ่งโล่งโถงเวิ้งว้างอะไรมาเลย
เหมือนกับโลกนี้เป็นโลกมืดไปหมด เช่นเดียวกับป่าอันรกชัฏนั้น



แต่จิตนี้ยังไม่เคยเห็นแสงสว่าง ความเวิ้งว้างภายในตัวเองมาก่อนก็ยังพอทำเนา
แต่ผู้ที่เข้าป่าดงอันรกชัฏนั้น ทั้งๆ ที่เคยเห็นทุ่งเห็นนาอะไรที่เวิ้งว้างมาอยู่แล้ว
มันก็ยังเกิดความสำคัญขึ้นมาว่า โลกนี้จะไม่มีที่ว่างจากป่าบ้างเลย
มีแต่ความรกชัฏด้วยป่าอย่างนี้ไปหมด
จิตในขณะที่อยู่ในความมืดมนอนธการ ก็เป็นลักษณะนี้เหมือนกัน
แต่เมื่อก้าวไปถึงที่เวิ้งว้างโดยไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องเลย
เพราะความผ่านพ้นไปหมดแล้วนั้น
ก็เหมือนกับโลกนี้ไม่มีอะไรเป็น
“นิมิต เครื่องหมาย” แห่งวัตถุต่างๆ
เหลืออยู่บ้างเหมือนกัน



ถ้าเราไม่คิดแยกไปว่าที่นั่นเป็นนั่น ที่นี่เป็นนี่ ให้แก่ “สมมุติ” ต่างๆ
ซึ่งเกี่ยวกับสัตว์ บุคคล ต้นไม้ ภูเขา ดิน ฟ้า อากาศ ตามธรรมชาติที่มีอยู่ของเขา
ก็เหมือนกับไม่มีอะไรเลยในบรรดาที่กล่าวมาเหล่านี้
เพราะจิตไม่ออกไปเกี่ยวข้อง จิตมีแต่ความว่างประจำตน
หาเหตุปัจจัยอะไรเข้าไปหมุนไปเกี่ยวข้องไม่ได้เลย อยู่โดยปกติของตน
โลกแม้จะมีก็เหมือนไม่มี ถ้าจะพูดว่า “โลกไม่มี สัตว์ สังขาร ไม่มี” ก็ได้
เพราะไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องในจิต จิตอยู่โดยหลักธรรมชาติแห่งความบริสุทธิ์แท้
เลยกลายเป็นธรรมด๊า...ธรรมดาไป



แต่คำว่า “ธรรมดา” นี้ ผู้สมมุติก็จะคิดและตีความหมายไปอีกแง่หนึ่ง
คำ “ธรรมดา” ในธรรมชาตินี้ ไม่เหมือนกับธรรมดาที่เราพูดกันทั่วๆ ไป
เป็นแต่เพียงข้อเทียบเคียงเล็กน้อยเท่านั้น
เรื่องอะไรๆ ก็ “ธรรมด๊า ธรรมดา ไปหมด”
นั่นฟังซี ! เรื่องเกิดเรื่องตาย เรื่องทุกข์ลำบาก เรื่องได้เรื่องเสีย
เรื่องประสบอารมณ์ต่างๆ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ในโลกธรรมมาสัมผัส
ก็เป็นเรื่องธรรมด๊า ธรรมดา ไปหมด
เพราะจิตอิ่มตัว และคลายอารมณ์ต่างๆ ออกหมดแล้วไม่มีอะไรเหลือ
สิ่งเหล่านั้นแม้มีอะไรอยู่ก็“สักแต่ว่า” รับรู้เพียงขณะๆ แล้วก็ดับไปในขณะๆ
โดยหลักธรรมชาติของจิตที่มีความพอตัวแล้ว รับอะไรเข้าไปอีกไม่ได้
ความสรรเสริญซึ่งเคยชอบมาแต่ไหนแต่ไรก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา
เช่นเดียวกับความนินทา เพียงแต่จิตรับทราบเท่านั้น
เพราะจิตพอตัวแล้วไม่สามารถจะรับอะไรได้
ทั้งฝ่ายต่ำ ฝ่ายสูง ฝ่ายนินทา สรรเสริญ ฝ่ายทุกข์ ฝ่ายสุข
ที่เป็นเรื่องของ “สมมุติ” ทั้งปวง ใจไม่เกี่ยวข้องจึงเป็นธรรมดาไปเสียหมด
ทั้งนี้ออกจากจิตที่ถึงความอ้างว้างโดยหลักธรรมชาติของตัวแล้วเป็นอย่างนั้น
อะไรจะมาผ่านก็เหมือนไม่ผ่าน


แต่การที่จิตสามัญชนเราจะพยายามดำเนิน หรือก้าวไปด้วยความเพียร
เพื่อให้ถึงสถานที่นั้นๆ ตามขั้นของจิตของธรรมไปโดยลำดับๆ ตามสายทาง
จนถึงที่จุดหมายปลายทางอันเป็นที่เวิ้งว้างโดยหลักธรรมชาตินั้น
ย่อมเป็นสิ่งที่ยากลำบากเป็นธรรมดา
ราวกับการเชือดเฉือนตัวเรา ตัวเราคือกิเลส ด้วยมีดอันคมกล้า คือสติปัญญานั้นแล
จะว่ายากมากก็ได้ แล้วแต่ใจของผู้ดำเนินนั้นมีความรักชอบมากน้อยต่างกันเพียงใด
แต่ผู้ที่มีความรักชอบ มีความสนใจมากอยู่แล้ว
การงานที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นหรือเพื่อความเห็นแจ้งโดยลำดับนี้ ก็ไม่เป็นของยากนัก
เพราะทำด้วยความพอใจทุกอาการแห่งการกระทำ
เรื่องที่ว่ายากๆ ซึ่งเคยมีอยู่ในหัวใจนั้น ก็ไม่ยาก ความพอใจมาทำให้ง่าย



คำว่า “การเจริญของจิต” ก็อย่าได้คิดคาดไปในแง่ต่างๆ
ให้ผิดจากหลักความจริงของความเจริญอันแท้จริงภายในจิต
และความเสื่อมภายในใจอันแท้จริงของจิต
คือจิตมีความเปลี่ยนแปลงอาการของตัวอยู่โดยเฉพาะเท่านั้น
ไม่ได้ก้าวไปไหน ไม่ได้ลงที่ไหน
เป็นแต่ความเปลี่ยนแปลงแห่งอาการของจิตที่แสดงให้ตนทราบเท่านั้น


ใจเปลี่ยนแปลงไปอย่างหนึ่ง เป็นความทุกข์ขึ้น
เปลี่ยนแปลงไปอย่างหนึ่ง เป็นสุขขึ้นมา อยู่ภายในจิตนี้เท่านั้น
การเจริญจิตตภาวนา แม้จะได้รับคำของครูอาจารย์ที่ท่านแสดงไปในแง่ใดก็ตาม
ท่านพูดเรื่องสมาธิก็ตาม เรื่องปัญญาก็ตาม เรายึดไว้พอเป็นคติเท่านั้น
ส่วนหลักธรรมชาติที่จะเป็นขึ้นภายในใจเรานั้น
เริ่มจากการนำธรรมคติจากท่านมาปฏิบัติ ให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติจริตนิสัยของเรา
อย่าเอาธรรมชาติที่เป็นจริตนิสัยของเราไปเทียบกับที่ท่านแสดง
เพราะท่านแสดงธรรมอย่างกว้างขวางสำหรับ
“นานาจิตตัง” ซึ่งมีจำนวนมาก
พูดง่ายๆ ก็ว่า จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน
ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดถึงการประพฤติปฏิบัติในแง่ความรู้ ความเห็น การพิจารณานี้
จะให้เหมือนกันไม่ได้ แม้จะอยู่ในวงแห่งสัจธรรมด้วยกันก็ตาม
แต่อาการแห่งการพิจารณาและการดำเนินนั้น ผิดแปลกกันอยู่เป็นลำดับลำดาตามจริตนิสัย


เมื่อเป็นเช่นนั้น อาการแห่งความสงบหรือความรู้ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตจึงมีต่างกัน
ส่วนความสงบนั้นเป็นที่ยอมรับด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจริตนิสัย
เพราะความสงบสุขของจิตนั้นเป็นผลเกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตน จึงเป็นที่ยอมรับด้วยกัน
เราจึงคอยดูผลที่ปรากฏขึ้นจากการปฏิบัติของเราอย่างนี้



คำว่า “สงบ” นั้น มีหลายประเภทตามจริตนิสัย
คือ สงบลงในขณะเดียวเหมือนกับตกเหวตกบ่อ อย่างนั้นก็มี
คืออยู่ๆ ที่เรากำหนดภาวนา “พุทโธ ๆ” แล้วก็พลิกขณะเดียวแพล็บ หายเงียบไปเลย
คือ จิตพลิกขณะเดียวเท่านั้นเหมือนกับเราตกเหวตกบ่อ
แล้วปรากฏเป็นความรู้ขึ้นมาทันที นี่เป็นแง่หนึ่ง
อีกแง่หนึ่ง จิตสงบแล้วหายเงียบจากอารมณ์ต่างๆ แม้ “พุทโธ” ไปเลยก็มี
นี่เป็นจิตนิสัยประเภทหนึ่ง ที่กล่าวมานี้เรียกว่า “ร้อยละ ๕ ราย” จะมีเพียง ๕ ราย
หรือจะมากไปด้วยซ้ำในร้อยคนของผู้มีความสงบเยือกเย็น
หรือเห็นผลในการทำสมาธิภาวนาแบบนี้ เพราะมีน้อยมากในการปฏิบัติสมัยปัจจุบันนี้
อีก ๙๕ รายนั้น จะเป็นในลักษณะที่ค่อยสงบ
ค่อยๆ เยือกเย็นเข้าไปเป็นลำดับๆ นี้มีเป็นจำนวนมาก
ให้เราสังเกตดูจริตนิสัยของเราว่า เป็นไปในจริตใด
หรือเป็นไปในลักษณะใดในแง่ใดในสองแง่นี้ ส่วนมากจะเป็นไปในแง่ที่สองนี้


คำว่า “สงบ” คือ ความสงบเย็นอยู่ภายในใจ
ใจมีที่อยู่ ใจมีความร่มเย็นเป็นสุข มีฐานแห่งความสงบอยู่ภายในจิตของตน
ทั้งๆ ที่คิดอ่านไตร่ตรองอะไรก็ได้ตามธรรมดาของโลกทั่วๆ ไป
แต่ภายในจิตของตัว มีความโล่ง มีความสบาย มีความเบา หรือมีความสว่างไสว
ตามกำลังจิตที่มีมากน้อย แล้วแต่กำลังแห่งสมาธิ หรือความสงบ
นี่ท่านเรียกว่า “จิตสงบ” มีความคิดได้ปรุงได้อยู่อย่างนั้น
แต่จิตที่เป็นเจ้าของความคิดนั้น มีความสงบสบายอยู่ภายในตน
กำหนดเข้าเมื่อไร ก็ปรากฏความรู้ที่เป็นความสบายนั้นอยู่เรื่อยๆ ไม่หายไป
นี่ชื่อว่า “จิตได้ฐานแห่งความสงบ หรือมีฐานแห่งความสงบ” ขึ้นมาแล้ว


ประการหนึ่ง ที่เป็นธรรมชาติของจิตเอง เราจะปรุงแต่งไม่ได้
ก็คือขณะที่ใจดับความคิดปรุงต่างๆ นั้น ดับจริงๆ
ความคิดความปรุงขาดจากกันไม่มีอะไรเหลือเลย
เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ อยู่โดยลำพังตนเอง
นี่ก็ให้เป็นตามหลักธรรมชาติของจิตที่เป็นขึ้นมาในตัวเอง
การคาดการหมายไม่เกิดประโยชน์อะไร จึงไม่ควรคาดหมาย
ให้ปล่อยไปตามจริตนิสัยของตนในส่วนนี้ ไม่ผิด
ข้อสำคัญคือการปฏิบัติ ท่านสอนอย่างไร และเหมาะกับจริตนิสัยของเราอย่างไรบ้าง
วิธีปฏิบัติ วิธีพิจารณา หรือวิธีบริกรรม
ให้กำหนดตามนั้นเป็นของสำคัญ ให้ความรู้อยู่กับการภาวนานั้นๆ
จะภาวนาแบบไหนก็ตาม สติเป็นสิ่งสำคัญอยู่มาก ซึ่งจะให้พรากจากกันไม่ได้
จะขาดวรรคขาดตอนในทางความเพียรเพื่อจะยังผลให้สืบต่อเนื่องกันโดยลำดับ



ที่พูดถึงจริตนิสัยของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
ผู้นั้นเป็นอย่างนั้น หรือครูบาอาจารย์ท่านแสดงอย่างนั้น
ผู้นั้นจิตรวมอย่างนั้น จิตรู้อย่างนั้นๆ ให้เราเพียงฟังไว้เฉยๆ
หากจริตนิสัยของเราเป็นไปในทางใดแล้ว เรื่องที่ท่านกล่าวนั้นจะมาสัมผัสเราเอง
เรารู้ในแง่ใด แง่ที่ท่านแสดงแล้วจะเข้ามาสัมผัส จะโผล่ขึ้นมารับกันทันทีๆ
ถ้านิสัยของเราไม่มี ก็เป็นเพียงแต่ฟังไปๆ
อย่าไปยึดเอาข้อนั้นมาเป็นอารมณ์จนกระทั่งเกิดความร้อนใจ
ในเมื่อจิตของเราไม่เป็นไปตามที่เรามุ่งหวังอย่างที่ท่านสอน
อันนี้ก็เป็นความคิดอันหนึ่งของเรา ต้องระมัดระวัง



ความสงบของใจ ที่เป็นความถูกต้องดีงามหรือเป็นที่ยอมรับกัน
ก็คือความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวายไปกับอะไร มีแต่ความเย็นใจ
ถึงจะคิดในหน้าที่การงานต่างๆ ก็คิดไปได้อย่างธรรมดา
แต่ไม่กวนใจเจ้าของเหมือนอย่างแต่ก่อนที่ยังไม่เคยอบรมภาวนา
นี่ท่านเรียกว่า
“จิตสงบ” ถ้ามากกว่านั้นก็เป็นฐานมั่นคงอยู่ภายในใจ
แม้จะคิดเรื่องอะไรก็คิดไป แต่พอย้อนเข้ามาสู่จุดแห่งความรู้
ก็เป็นจุดความรู้ ที่เด่นชัด ผ่องใส และเบา ให้เห็นอย่างชัดเจนภายใน
นี่เป็นที่ยอมรับว่า “จิตสงบ” และมีฐานสมาธิประจำใจ
และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “จิตเป็นสมาธิ” ถ้าจิตเป็นอย่างนี้!


เพราะฉะนั้น การที่จะไปยึดเอาเรื่องของคนนั้นคนนี้มาเป็นเรื่องของตัว
หรือพยายามจะทำจิตของตนให้เป็นอย่างนั้น เป็นการขัดต่อจริตนิสัยของเรา
จะเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา เพราะการสร้างความกังวลหม่นหมองให้เกิดขึ้นแก่ตน
ด้วยเหตุนี้จึงควรทำความเข้าใจไว้ในข้อนี้
ความเจริญของจิตนั้น ก็คือความสงบตัวนั้นแลเป็นสำคัญ
ใจมีความละเอียดลออเข้าไปเป็นลำดับ มีความแน่นหนามั่นคงเข้าไปเรื่อยๆ
ความเจริญในขั้นเริ่มแรกเป็นอย่างนี้



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “ธรรมชุดเตรียมพร้อม” รวมพระธรรมเทศนาโดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP