สารส่องใจ Enlightenment

อนุปุพพิกถา (ตอนที่ ๓)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๒๙




อนุปุพพิกถา (ตอนที่ ๑) (คลิก)
อนุปุพพิกถา (ตอนที่ ๒)(คลิก)



ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงแสดงอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ให้ยสกุลบุตรฟัง
เมื่อยสกุลบุตรได้ฟังอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นั้นจบลง
จึงได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพุทธศาสนานี้
ใจความในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นะ พระองค์ก็ทรงยกทุกข์นี่แหละขึ้นมาแสดงก่อน
เพราะว่าทุกข์นี้มันมาปรากฏชัดๆ อยู่แล้ว ใครๆ ก็ย่อมมองเห็นได้
เช่นอย่างทุกข์อันเกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตายอย่างนี้น่ะ
แม้ว่าตนจะยังหนุ่มแน่นอยู่ก็ตาม แต่คนที่เกิดก่อนตัวเองโน่นนะ
เพื่อนก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย มาให้เห็นเป็นสักขีพยานอยู่แล้ว
แม้ตัวของตัวเองนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันนั่นแหละ
เมื่อหากมีชีวิตยืนยาวนานอยู่ต่อไป
ก็จะต้องถูกความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ครอบงำเช่นเดียวกัน



เมื่อยสกุลบุตรได้ฟังเรื่องของความทุกข์
ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความปรารถนาสิ่งใดก็ไม่ได้สมหวัง
ความได้คบหาสมาคมกับบุคคลที่ไม่เป็นที่น่ารักน่าพอใจต่างๆ
หมู่นี้ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้นเลย
ก็จึงได้เกิดความเบื่อหน่ายในสังขารนามรูปอันนี้นั่นแหละ
แล้วเมื่อบุคคลมาพิจารณาเห็นว่าทุกข์นี้มันเป็นของมีจริงอยู่ในปัจจุบันนี้แหละ
มันปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้เลย ไม่ใช่มีอยู่ในอดีตอนาคตอะไร ทุกข์มีอยู่ในปัจจุบัน
ดูอัตภาพร่างกายนี้แล้วกัน มันทรุดโทรมไปอยู่เรื่อย ไปอยู่อย่างนี้แหละ
ในที่สุดมันก็จะหมุนไปหาความแตกดับเท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารทีนี้



พระศาสดาจึงได้ทรงตรัสว่า เมื่อบุคคลมาเห็นทุกข์ เบื่อหน่ายในทุกข์ดังกล่าวมานี้แล้ว
ปรารถนาจะพ้นจากทุกข์เหล่านี้นั้น ก็ต้องเป็นผู้มาละตัณหาเสีย
ตัณหา หมายถึงความอยาก ความทะเยอทะยานอยาก
ความพอใจในกามคุณทั้งหลายนั้นแหละ
ความติดความผูกพันอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในเครื่องสัมผัสต่างๆ
หมู่นี้ก็ล้วนตั้งแต่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ทั้งนั้นเลย
เพราะว่าเมื่อมันเกิดความพอใจขึ้นแล้ว มันก็ยึดถือเอาไว้
เมื่อมันยึดถือเอาไว้แล้ว มันก็เป็นเหตุให้แสวงหา
การแสวงหานั้นบางทีเมื่อแสวงหาโดยทางสุจริตไม่ได้ ก็ต้องแสวงหาเอาในทางทุจริต
เพราะว่ามันกลายเป็นความโลภไปแล้วนะบัดนี้
เมื่อมันอยากได้มากๆ ขึ้นไป ก็เลยกลายเป็นความโลภ
เพ่งเล็งเห็นคนอื่นเขาร่ำรวย เขาได้อะไรมาตามประสงค์อย่างนั้น
ตนก็ไปวางแผนยื้อแย่งเอาโดยวิธีหนึ่งเข้าไปอย่างนี้แล้ว
มันก็เป็นเหตุเกิดบาปอกุศลขึ้นมา
บาปอกุศลเหล่านี้แหละอำนวยผลให้บุคคลผู้กระทำเช่นนั้น
เป็นทุกข์ไปทั้งปัจจุบันและเบื้องหน้า



เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงทรงสอนให้ละตัณหานั่นแหละ
ความอยาก ความดิ้นรน ทะเยอทะยานเกินขอบเขตนั้น มันก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ถ้าหากว่าพูดถึงตัณหาชั้นละเอียดแล้ว
เมื่อมาเห็นโทษแห่งรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อันจัดว่าเป็นกามตัณหานี่แล้ว
ก็ไม่ผูกพันอยู่ในรูป เสียง เป็นต้นดังกล่าวมานี่
แต่มันมาติดอยู่ในรูปกายในขันธ์ ๕ นี้ ยังไม่สามารถจะปลงและวางขันธ์ ๕ นี้ได้
แต่ถ้าหากว่าหมดอายุสังขารลง ท่านก็ว่าไปเกิดในพรหมโลก
เป็นรูปพรหมเพราะเป็นผู้ระงับกามวิตกเสียได้
มีจิตสงบอยู่ในฌาน เพ่งรูปเป็นอารมณ์อยู่อย่างนี้แหละ
อานิสงส์อันนี้พาให้ไปเกิดในพรหมโลก เป็นพรหมที่มีรูปเป็นอย่างนั้น
ที่ท่านเรียกว่าภวตัณหา วิภวตัณหานั้น
เมื่อบุคคลภาวนาไปเพ่งรูปนี้อยู่ ก็มาเบื่อหน่ายในรูปนี้
แต่เบื่อหน่ายหากไม่มีปัญญาที่จะสอนจิตให้ปล่อยให้วางได้
อาศัยแต่การเพ่งอย่างเดียว เพ่งเพื่อให้รูปนี้มันหายไปจากดวงจิต
เมื่อเพ่งนานๆ เข้ารูปนี้ก็จะหายไปจากดวงจิต จริงๆ จิตนี้ปรากฏว่าว่างเลยบัดนี้นะ
เมื่อจิตว่างลงไปก็ยึดความว่างนั้นน่ะเป็นอารมณ์ไป
ท่านเรียกว่าอรูปฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนะ อากิญจัญญายตนะ
นั่นแหละหมู่นี้แหละเป็นอรูปฌาน
เมื่อหมดอายุสังขารลง ก็ไปเกิดเป็นพรหม เป็นพรหมที่ไม่มีรูป ท่านเรียกว่าอรูปพรหม
อันนี้หมู่นี้ล้วนแต่เป็นตัณหาทั้งนั้นเลย เป็นตัณหาชั้นละเอียด


เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญสมถะ วิปัสสนาแล้ว
ท่านจะไม่ถือมั่นในสมาธิ ในฌานเหล่านี้ไว้
จะต้องเจริญวิปัสสนา ทำความรู้เท่าฌาน รูปฌาน อรูปฌาน เหล่านี้เสมอ
แล้วก็เจริญวิปัสสนา เพ่งพิจารณาในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ดังกล่าวมานั้นแหละ
เมื่อเห็นว่าบุคคลมาดับตัณหาทั้งหลายเหล่านี้ได้แล้ว ทุกข์ก็ย่อมดับไปหมด
ท่านก็เจริญปัญญา สอนจิตเนี่ยให้ละตัณหาอันนี้ไปเรื่อยๆ
เมื่อตัณหาเหล่านี้ดับ ทุกข์ทางใจมันก็ดับลง ก็เห็นที่ดับทุกข์ได้
มาดับตรงไหน ดับทุกข์ ดับที่ใจนั่นแหละ
เมื่อใจละตัณหาลงไปได้อย่างสนิทสนมแล้ว ทุกข์ทางใจมันก็ดับลง
การดับทุกข์ไม่ได้ไปดับที่อื่นหรอก ดับที่จิตดวงเดียวนั้นเอง เป็นอย่างนั้น



แล้วการที่เราบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติมา
เช่นอย่างถ้าเป็นทายกทายิกา ก็ได้ให้ทาน ได้รักษาศีล
ได้ฟังธรรม ได้ไหว้พระ นั่งสมาธิภาวนา มาจนตลอด
จึงได้มาเจริญสมถะ วิปัสสนาอย่างว่านี้แหละ
อันนี้ได้ชื่อว่าเป็นแนวทางข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อได้บำเพ็ญกุศลดังกล่าวมาเนี่ย
เมื่อรวมกำลังแห่งบุญกุศลต่างๆ เหล่านั้นมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในจิตใจแล้ว
ใจก็มีกำลังเข้มแข็ง สามารถที่จะกำหนดละตัณหาดังกล่าวนั้นได้
นี่แหละท่านจึงเรียกว่ามรรค คือข้อปฏิบัติ
มรรคอันมีองค์ ๘ คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ทางใจได้จริงๆ
แต่ถ้าหากมันดับทุกข์ได้ พร้อมทั้งเหตุปัจจัยจริงๆ แล้ว
อย่างนี้มันจะเกิดญาณความรู้ขึ้นมา
เกิดญาณความรู้ขึ้นว่ากิเลสเหล่านี้ ตนได้ละมันขาดไปแล้ว
อย่างนี้นะ ก็รู้ชัดเห็นแจ้ง ด้วยประจักษ์ด้วยตนเองได้อย่างนี้แหละ



ขึ้นชื่อว่าธรรมของจริง ไม่มีใครมารู้ให้ได้ ใครทำใครย่อมรู้ย่อมเห็นได้ด้วยตนเอง
เพราะว่าฉะนั้นแหละ เมื่อพุทธบริษัทได้สดับฟังอนุปุพพิกถา
ดังที่แสดงมาให้ฟังโดยสังเขปโดยลำดับนี้แล้ว ก็พากันพินิจพิจารณาจดจำ
แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติตามด้วยความไม่ประมาท
ถ้าเมื่อลงมือปฏิบัติโดยความไม่ประมาทแล้ว
ก็ต้องได้รับอานิสงส์ผลอย่างแน่นอนทีเดียว
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษในปัจจุบันชาตินี้
ก็จะได้เป็นอุปนิสัยปัจจัยอย่างแรงกล้าติดตามตนไป เป็นอย่างนั้น
แต่ในสมัยครั้งพระพุทธเจ้านั้น
ถ้าหากว่าพระองค์พิจารณาดูคนที่มานั่งอยู่ต่อพระพักตร์ของพระองค์เหล่านั้น
ไม่มีอุปนิสัยที่จะบรรลุมรรคผลธรรมวิเศษแล้ว
พระองค์จะไม่แสดงอนุปุพพิกถา ๕ ประการในสมาคมนั้นเลย
พระองค์จะแสดงธรรมไปอย่างอื่น
เป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ของผู้ฟังทั้งหลายให้แก่กล้าไปโดยลำดับ


เช่นอย่างทรงแสดงเรื่องธรรมสังเวชอย่างนี้แหละ
อย่างเช่นควรพิจารณาทุกวันๆ ว่าเรามีความแก่
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้เลย
เราจักพลัดพรากจากของรักชอบใจทั้งสิ้น
เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ดี ชั่วก็ดี ก็จักได้รับผลของกรรมอันนั้นสืบไป
การที่พระองค์เจ้าทรงแสดงธรรมสังเวชอย่างนี้
ก็เพื่อที่จะให้ผู้ฟังทั้งหลายนั้นได้พิจารณาถึงตัวเอง แล้วให้เกิดความสังเวชสลดใจ
ในการที่ตนได้มาอาศัยอยู่ในสังขารอันไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนนี้
เต็มไปด้วยทุกข์ทนทรมานต่างๆ นี่
แล้วเบื่อหน่ายในการที่จะมารักใคร่ มาผูกพันกับของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเหล่านี้
เพราะว่าไปรักใคร่กับสิ่งอันไม่เที่ยงเช่นนั้น
เมื่อเวลามันแปรปรวนหวั่นไหวไป แตกดับไป ก็เป็นทุกข์โศกเพราะอาลัยมาก
ดังนั้นแหละก็ขอให้สำรวมใจให้ดีดังแสดงมา



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา อนุปุพพิกถาใน ธรรมโอวาทหลวงปู่เหรียญ
โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย ชมรมกัลยาณธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙





แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP