ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ฉัฏฐปฏิปทาสูตร ว่าด้วยปฏิปทาคือสัมปทา ๘


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑๗๓] ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน
คือ อุฏฐานสัมปทา ๑ อารักขสัมปทา ๑ กัลยาณมิตตตา ๑ สมชีวิตา ๑
สัทธาสัมปทา ๑ สีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑.


ภิกษุทั้งหลาย ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน
กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือ
กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร
รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น
ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น
สามารถจัดทำได้ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา.


ภิกษุทั้งหลาย ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน
กุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
สั่งสมด้วยกำลังแขน เหงื่อโซมกาย ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม
เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้พร้อมมูลด้วยทำไว้ในใจว่า
ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงริบโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก
ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา.


ภิกษุทั้งหลาย ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน
กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด
ย่อมดำรงตนเหมาะสม เจรจาสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น
ซึ่งเป็นคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มผู้เคร่งศีลหรือคนแก่ผู้เคร่งศีล
ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
คอยศึกษาสัทธาสัมปทาของท่านผู้พร้อมด้วยศรัทธาตามสมควร
คอยศึกษาสีลสัมปทาของท่านผู้พร้อมด้วยศีลตามสมควร
คอยศึกษาจาคสัมปทาของท่านผู้พร้อมด้วยจาคะตามสมควร และ
คอยศึกษาปัญญาสัมปทาของท่านผู้พร้อมด้วยปัญญาตามสมควร
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา.


ภิกษุทั้งหลาย ก็สมชีวิตาเป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลายกุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์
และรู้ทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ
ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า
รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่งหรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง
ยกตราชั่งขึ้นดูก็รู้ว่า ต้องลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด
กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์
และรู้ทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ
ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า
รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรผู้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่อ่า
จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้ากุลบุตรผู้มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง
จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างอนาถา
แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้ รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์
และรู้ทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ
ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า
รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสมชีวิตา.


ภิกษุทั้งหลาย ก็สัทธาสัมปทาเป็นไฉน
กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า
แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว
ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว
เป็นผู้จำแนกธรรม ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสัทธาสัมปทา.


ภิกษุทั้งหลาย ก็สีลสัมปทาเป็นไฉน
กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา
คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่าศีลสัมปทา.


ภิกษุทั้งหลาย ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน
กุลบุตรในโลกนี้ มีจิตปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน
มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ
ยินดีในการจำแนกทาน ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า จาคสัมปทา.


ภิกษุทั้งหลาย ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน
กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ
ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ
ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าปัญญาสัมปทา
ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๘ ประการนี้แล.


คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสม
เลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ มีศรัทธา
ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ความประสงค์ของผู้อื่น ปราศจากความตระหนี่
ชำระทางสัมปรายิกประโยชน์อันสวัสดีเป็นนิตย์
ธรรม ๘ ประการดังกล่าวนี้ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา
อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระนามอันแท้จริงตรัสว่า
นำสุขมาให้ในโลกทั้งสอง คือ ประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบันนี้
และความสุขในภายหน้า จาคะและบุญนี้ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์
ด้วยประการฉะนี้.


ฉัฏฐปฏิปทาสูตร จบ



(ฉัฏฐปฏิปทาสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP