จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ภิกษุประท้วงการเมือง


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



296 destination



ในช่วงที่ผ่านมานี้ ข่าวที่เป็นที่น่าสนใจก็น่าจะมี ๒ เรื่องได้แก่
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
และสถานการณ์ประท้วงการเมืองในประเทศไทย
ซึ่งปรากฏว่าในการประท้วงการเมืองในประเทศไทยนี้
ได้มีภาพภิกษุและสามเณรบางรูปเข้าร่วมการประท้วงด้วย
ซึ่งต่อมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้มีมติเร่งด่วน
ให้ทำหนังสือแจ้งไปยังวัดทั่วประเทศ ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้


๑. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครอง
ดำเนินการกับพระภิกษุและสามเณรที่เข้าข่ายฝ่าฝืน
คำสั่ง เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๘


๒. มีมติมอบถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ)
เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งเป็นประธานกรรมการฝ่ายการปกครองสงฆ์
ให้วางแนวทางการป้องกันการชุมนุมของพระภิกษุและสามเณร
เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว


๓. มีมติให้นำรายชื่อผู้ฝ่าฝืนของพระภิกษุและสามเณร
ส่งให้เจ้าคณะผู้ปกครองเพื่อพิจารณาทางพระธรรมวินัยต่อไป


๔. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งประสาน
หน่วยงานที่มีหน้าที่ทางกฎหมายตรวจสอบสถานะพระที่เข้าร่วมชุมนุมทุกรูป
เพื่อป้องกันพระปลอมเข้าร่วมชุมนุม เพราะจะทำให้ศาสนาเกิดความเสียหาย
https://thestandard.co/prohibit-monks-from-engaging-in-political-activities/


ทั้งนี้ ในกรณีของพระปลอมนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘
ได้กำหนดความผิดและโทษไว้ว่า “ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมาย
ที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวชในศาสนาใด โดยมิชอบ
เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”


ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนากันในเรื่องของภิกษุประท้วงการเมืองกันนะครับ
ซึ่งหากเราพิจารณาสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ ก็อาจจะไม่พบเรื่องห้ามประท้วงการเมือง
แต่ก็มีสิกขาบทใกล้เคียงในเรื่องห้ามภิกษุไปอยู่ในสนามรบ หรือไปดูกองทัพครับ
ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ (อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๑๐)
ได้เล่าเรื่องของพระฉัพพัคคีย์ว่า ในสมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์อยู่ในกองทัพ ๒-๓ คืน
ไปสู่สนามรบบ้าง ไปสู่ที่พักพลบ้าง ไปสู่ที่จัดขบวนทัพบ้าง
ไปดูกองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้วบ้าง พระฉัพพัคคีย์รูปหนึ่งไปสู่สนามรบแล้วถูกยิงด้วยลูกปืน
คนทั้งหลายจึงล้อว่า พระคุณเจ้าได้รบเก่งมาแล้วกระมัง, พระคุณเจ้าได้คะแนนเท่าไร
ชาวบ้านจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร
จึงได้มาถึงสนามรบ เพื่อจะดูเขาเล่า


ภิกษุทั้งหลายได้ยินขาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่
บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ
ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ไปถึงสนามรบเพื่อจะดูเขาเล่า?
แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์แล้วพบว่า
พระฉัพพัคคีย์ว่าได้ถึงสนามรบเพื่อดูเขาจริง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกร โมฆบุรุษทั้งหลาย
ไฉน พวกเธอจึงได้ถึงสนามรบเพื่อดูเขาเล่า?
การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
หรือไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
โดยที่แท้การกระทำของพวกเธอนั้นเป็นไป
เพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนยังที่ไม่เลื่อมใส
และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
ครั้นทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์โดยอเนกปริยายแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
ถ้าภิกษุอยู่ในเสนา ๒-๓ คืน ไปสู่สนามรบก็ดี ไปสู่ที่พักพลก็ดี
ไปสู่ที่จัดขบวนทัพก็ดี ไปดูกองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้วก็ดี, เป็นปาจิตตีย์


บทภาชนีย์
ภิกษุไปเพื่อจะดู, ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุยืนอยู่ในสถานที่เช่นไรมองเห็น, ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุละทัศนูปจารแล้ว ยังมองดูอยู่อีก, ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุไปเพื่อจะดูกองทัพแต่ละกอง, ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุยืนดูอยู่ในที่ใดมองเห็น, ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุละทัศนูปจารแล้วยังมองดูอีก, ต้องอาบัติทุกกฏ


อนาปัตติวาร
ภิกษุอยู่ในอารามมองเห็น ๑,
การรบพุ่งผ่านมายังสถานที่ภิกษุยืน นั่ง หรือนอนเธอมองเห็น ๑,
ภิกษุเดินสวนทางไปพบเข้า ๑, ภิกษุมีกิจจำเป็นเดินไปพบเข้า ๑, มีอันตราย ๑,
ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติ
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=11853&Z=11914&pagebreak=0


บางท่านอาจจะมองว่าการชุมนุมประท้วงย่อมไม่ใช่กองทัพหรือสนามรบ
จึงน่าจะไม่ได้ขัดกับสิกขาบทในข้อนี้ แต่เราก็ย่อมจะเห็นได้ว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ ก็ด้วยเหตุว่า
การกระทำของพระฉัพพัคคีย์นั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
หรือไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
แต่เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนยังที่ไม่เลื่อมใส
และเป็นไปเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
กล่าวคือ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้มาถึงสนามรบ เพื่อจะดูเขาเล่า


ดังนี้แล้ว ในการเข้าร่วมประท้วงการเมืองหรือกิจกรรมการเมือง
ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมในความเลื่อมใสของประชาชน
เพราะในเรื่องของการเมืองนั้นก็ย่อมจะมีความเห็นที่แตกต่างกันหลายฝ่าย
ในกรณีที่ภิกษุไปเชียร์การเมืองหรือร่วมกิจกรรมการเมืองประชาชนฝ่ายหนึ่ง
ก็ย่อมจะทำให้เกิดความเสื่อมในความเลื่อมใสของประชาชนฝ่ายอื่น ๆ
และย่อมจะทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างหมู่ภิกษุหรือหมู่สงฆ์
ที่ภิกษุแต่ละรูปก็ย่อมจะมีความคิดเห็นการเมืองที่แตกต่างกัน


อนึ่ง ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนั้น
พระองค์ได้ทรงบัญญัติโดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑
https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=1&A=316


ในเรื่องความเลื่อมใสของชุมชนที่มีต่อภิกษุสงฆ์นี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งครับ
เพราะเหล่าภิกษุสงฆ์ย่อมเลี้ยงชีพด้วยอาศัยอาหารจากญาติโยม
ดังนั้น หากญาติโยมไม่เลื่อมใสและไม่ถวายอาหารแล้ว
เหล่าภิกษุสงฆ์ก็ย่อมจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้
และในทางกลับกัน หากญาติโยมไม่เลื่อมใสแล้ว
ก็ย่อมจะไม่ฟังธรรมจากเหล่าภิกษุสงฆ์นั้น
ซึ่งก็ย่อมจะทำให้เสียประโยชน์แก่เหล่าญาติโยมด้วย
เราจึงจะเห็นได้ว่าการประพฤติตนที่จะทำให้เกิดความเสื่อม
ในความเลื่อมใสของชุมชนต่อภิกษุสงฆ์นี้
จึงย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งเหล่าภิกษุสงฆ์ และเหล่าญาติโยม


ดังนั้น ในพระธรรมวินัยจึงได้คำนึงถึงความประพฤติที่ไม่ให้ถูกติเตียนได้
โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าได้บัญญัติสิกขาบทกระทั่งในเรื่อง “เสขิยวัตร”
หมายถึง ธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุพึงสำเหนียก หรือพึงฝึกฝนปฏิบัติ
เช่น มารยาทในการนุ่งห่ม การมอง การโครงกาย การไกวแขน การสั่นศีรษะ
การบิณฑบาต การฉันอาหาร การแสดงธรรม การขับถ่าย เป็นต้น
ว่าจะต้องมีมารยาทที่ไม่ให้ชุมชนติเตียนได้
ซึ่งในเรื่องเสขิยวัตรนี้เป็นสิกขาบทสำหรับสามเณรด้วย
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%E0%CA%A2%D4%C2%C7%D1%B5%C3&original=1


ในขณะเดียวกัน การประท้วงหรือร่วมกิจกรรมการเมือง ก็ไม่ใช่กิจของภิกษุครับ
โดยในอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑ ได้เล่าว่า
มหาปาละทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“พระเจ้าข้า ในพระศาสนานี้มีธุระกี่อย่าง?”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ภิกษุ ธุระมี ๒ อย่าง คือ คันถธุระ (กับ) วิปัสสนาธุระ เท่านั้น”
พระมหาปาละทูลถามว่า “พระเจ้าข้า ก็คันถธุระเป็นอย่างไร? วิปัสสนาธุระเป็นอย่างไร?”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ธุระนี้ คือ การเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี
จบพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกก็ดี ตามสมควรแก่ปัญญาของตนแล้วทรงไว้
กล่าวบอกพุทธวจนะนั้น ชื่อว่า คันถธุระ.
ส่วนการเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ ยังวิปัสสนาให้เจริญ
ด้วยอำนาจแห่งการติดต่อแล้ว ถือเอาพระอรหัตของภิกษุผู้มีความประพฤติแคล่วคล่อง
ยินดียิ่งแล้วในเสนาสนะอันสงัด ชื่อว่า วิปัสสนาธุระ”
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=1


ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
ธุระ ๒ หมายถึงหน้าที่การงานที่พึงกระทำ, กิจในพระศาสนา ได้แก่
๑. คันถธุระ คือธุระฝ่ายคัมภีร์, กิจด้านการเล่าเรียน
๒. วิปัสสนาธุระ คือธุระฝ่ายเจริญวิปัสสนา, กิจด้านการบำเพ็ญภาวนา
หรือเจริญกรรมฐาน ซึ่งรวมทั้งสมถะด้วย
เรียกรวมเข้าในวิปัสสนาโดยฐานเป็นส่วนคลุมยอด
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=26


ฉะนั้นแล้ว เราย่อมจะเห็นได้ว่าการประท้วงการเมือง
ย่อมไม่ใช่กิจของภิกษุสงฆ์ และไม่ใช่คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดมาก่อนแล้วในอดีต
ทางมหาเถรสมาคมจึงได้เคยออก คำสั่งมหาเถรสมาคม
เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๘
(ซึ่งได้ยกเลิกคำสั่งเดิม พ.ศ. ๒๕๑๗) โดยได้ห้ามในเรื่อง ดังต่อไปนี้
ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปในที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่ากรณีใด ๆ
ห้ามพระภิกษุสามเณรทำการใด ๆ อันเป็นการสนับสนุนแก่การหาเสียงเลือกตั้งใด ๆ
ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ
ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปราย หรือบรรยายเรื่องเกี่ยงกับการเมือง
https://www.watmoli.com/wittaya-one/1594/
ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าข้อห้ามตามคำสั่งของมหาเถรสมาคมนั้น
สอดคล้องกับพระธรรมวินัยแล้ว และเป็นไปเพื่อประโยชน์
แก่ทั้งเหล่าภิกษุสงฆ์ และเหล่าญาติโยมเองครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP