สารส่องใจ Enlightenment

ถ้ารักษาศีล ๕ ได้ไม่ครบทุกข้อ จะปฏิบัติธรรมได้ดีหรือไม่



วิสัชนาธรรม โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




ครูโรงเรียนคนหนึ่งได้ถามปัญหาผู้เขียนมานานแล้ว
แต่ปัญหานั้นผู้เขียนเห็นว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป จึงได้นำมาลงไว้ ณ ที่นี้


ปุจฉา - ผู้ไม่มีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ หรือมีแต่ไม่ครบทั้งหมด
จะทำสมาธิภาวนาให้แน่วแน่เต็มที่ได้หรือไม่



วิสัชนา - ปัญหานี้กว้างขวางมาก จะขอตอบแต่เฉพาะข้อแรก
คือข้อที่ว่ามีศีล ๕ แต่ไม่ครบทั้ง ๕ ข้อ จะทำสมาธิภาวนาได้หรือไม่
ตอบว่าไม่ได้แน่นอน
เพราะศีล ๕ ข้อ แต่ละข้อจะล่วงละเมิดได้ก็เพราะเจตนา
เจตนาเป็นตัวศีล ๕ ข้อนั้นเป็นแดนให้เกิดโทษต่างหาก
ถึงผู้นั้นจะไม่มีเจตนาที่จะรักษาศีลเลย ไม่ว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ในเบื้องต้น
แต่เมื่อภาวนาเป็นแล้ว ศีลเข้าถึงจิต
ตัวเจตนาในศีลข้อนั้นๆ ศีลจะสมบูรณ์ขึ้นมาเอง
คราวนี้ไม่ต้องสมาทานและไม่ต้องรักษาศีล ศีลกลับมารักษาตัวของเราเอง
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ ผู้ปฏิบัติธรรมดีแล้วย่อมนำสุขมาให้



ครูผู้นั้นแกบอกว่า บางคนพูดว่าศีลและสมาธิไม่ต้องเจริญ
เพราะเป็นของภายนอกเจริญวิปัสสนาเอาเลยทีเดียว
ผู้เขียนอยากจะร้องขอว่า คำคำนั้นอย่าได้เอามาพูดเลยในที่นี้
เพราะเป็นพาหิรศาสนาไม่ใช่สัตถุศาสนา
ถ้าจะสอนให้คนปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงแล้ว
จงสอนตามแนวคำสอนของพระองค์เถิด
พระองค์สอนว่า สิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางดำเนินในพุทธศาสนา
มรรค ๘ ก็รวมลงใน ศีล สมาธิ ปัญญา นี่แหละ
ผู้เจริญศีลให้มากแล้วมีสมาธิเป็นอานิสงส์มาก
สมาธิเมื่อเจริญให้มากแล้วมีปัญญาเป็นอานิสงส์มาก
เมื่อมีปัญญาแล้วจะทำให้จิตใจพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวงได้

คำสอนของพระองค์บ่งชัดอยู่อย่างนี้ จะสอนนอกลู่นอกทางไปทำไม
ผู้พูดอย่างนั้นคือผู้ที่ไม่เคยรักษาศีลเลย หรือรักษาศีลไม่ได้จึงพูดอย่างนั้น



ศีลห้าเป็นรากฐานของการกระทำกรรมต่างๆ ไม่ว่ากรรมดีและกรรมชั่ว
กรรมดีต้องเว้นจากโทษห้านี้ ข้ออื่นๆ เป็นเรื่องปลีกย่อยออกไปจากศีล ๕ ทั้งนั้น
เมื่อไม่มีศีล ๕ ข้อนี้กำกับอยู่กับใจแล้ว
ความชั่วนอกนั้นทั้งหมดจะหลั่งเข้ามาครองใจ
ความดีทั้งปวงไม่สามารถจะทำให้เกิดมีขึ้นมาได้
ถึงทำให้เกิดมีขึ้นมาได้ก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้นาน
ไม่ต้องพูดถึงสมาธิ สมาบัติ ปัญญาหรอก



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก ปุจฉาวิสัชนาในประเทศและต่างประเทศ
โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี). กรุงเทพ : ชวนพิมพ์ ๕๐
, ๒๕๕๓.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP