ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

พราหมณสูตร ว่าด้วยตรัสการถึงที่สุดโลกแก่พราหมณ์


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๒๔๒] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ ๒ คน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ปูรณกัสสปะเป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง เห็นสิ่งทั้งปวง
ย่อมปฏิญาณการรู้การเห็นอันไม่มีส่วนเหลือว่า
เมื่อเราเดิน ยืน หลับ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะปรากฏติดต่อเนื่องกันไป
ปูรณกัสสปะนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นโลกอันไม่มีที่สุดด้วยญาณอันไม่มีที่สุด
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้นิครนถ์นาฏบุตรก็เป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง เห็นสิ่งทั้งปวง
ย่อมปฏิญาณการรู้การเห็นไม่มีส่วนเหลือว่า
เมื่อเราเดิน ยืน หลับ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะปรากฏติดต่อเนื่องกันไป
นิครนถ์นาฏบุตรนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็นโลกอันไม่มีที่สุดด้วยญาณอันไม่มีที่สุด
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ คนทั้ง ๒ ต่างก็พูดอวดรู้กัน มีวาทะเป็นข้าศึกกัน
ใครจริง ใครเท็จ.


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พราหมณ์ อย่าเลย ข้อที่คนทั้ง ๒ นี้ต่างพูดอวดรู้กัน
มีวาทะเป็นข้าศึกกัน ใครจริง ใครเท็จนั้น พักไว้ก่อนเถิด
พราหมณ์ เราจักแสดงธรรมแก่ท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
พราหมณ์เหล่านั้น รับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ววว่า พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พราหมณ์ เปรียบเหมือนชาย ๔ คน ยืนอยู่ใน ๔ ทิศ
ประกอบด้วยความเร็วอย่างการไปของบุรุษและประกอบด้วยฝีเท้าเป็นเยี่ยม
บุรุษเหล่านั้นเป็นผู้ประกอบด้วยฝีเท้าเร็วเห็นปานนี้ ฉันใด
เปรียบเหมือนนายขมังธนูถือธนูหนัก ศึกษามา เจนฝีมือแล้ว
ผ่านการประลองฝีมือแล้ว จะพึงใช้ลูกธนูอย่างเบา
ยิงผ่านเงาตาลด้านขวางได้โดยง่าย ก็ด้วยการไปเร็วเห็นปานนี้ ฉันใด
เปรียบเหมือนมหาสมุทรในทิศประจิม ตรงข้ามมหาสมุทรทิศบูรพา
ถ้าคน ๆ หนึ่ง ยืนอยู่ทางทิศบูรพาจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เราจะเดินทางไปให้ถึงที่สุดโลก เขาเว้นการดื่มกิน การเคี้ยว การลิ้ม
เว้นจากการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และเว้นจากการหลับและการพัก
เขามีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ ๑๐๐ ปี เดินไปตลอด ๑๐๐ ปี ยังไม่ทันถึงที่สุดโลกเลย
ก็พึงกระทำกาละลงในระหว่าง
ถ้าคน ๆ หนึ่ง ยืนอยู่ในทิศประจิมจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เราจะเดินทางไปให้ถึงที่สุดโลก เขาเว้นการดื่มกิน การเคี้ยว การลิ้ม
เว้นจากการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และเว้นจากการหลับและการพัก
เขามีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ ๑๐๐ ปี เดินไปตลอด ๑๐๐ ปี
ยังไม่ทันถึงที่สุดโลกเลย ก็พึงกระทำกาละในระหว่าง
ถ้าคน ๆ หนึ่ง ยืนอยู่ในทิศอุดรจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เราจะเดินทางไปให้ถึงที่สุดโลก เขาเว้นการดื่มกิน การเคี้ยว การลิ้ม
เว้นจากการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และเว้นจากการหลับและการพัก
เขามีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ ๑๐๐ ปี เดินไปตลอด ๑๐๐ ปี
ยังไม่ทันถึงที่สุดโลกเลย ก็พึงกระทำกาละในระหว่าง
ถ้าคน ๆ หนึ่งยืนอยู่ในทิศทักษิณ จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เราจะเดินทางไปให้ถึงที่สุดโลก เขาเว้นการดื่มกิน การเคี้ยว การลิ้ม
เว้นจากการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และเว้นจากการหลับและการพัก
เขามีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ ๑๐๐ ปี เดินไปตลอด ๑๐๐ ปี
ยังไม่ทันถึงที่สุดโลกเลย ก็พึงกระทำกาละในระหว่าง ฉันใด
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราไม่กล่าวว่า บุคคลจะพึงรู้ จะพึงเห็น
จะพึงถึงที่สุดของโลกด้วยการวิ่งเห็นปานนั้น ฉันนั้น
และเรายังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก ก็ไม่กล่าวการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.


พราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้ เรียกว่า โลกในวินัยของพระอริยเจ้า
๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด
เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด
กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด
รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด
โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด
พราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้แล เรียกว่า โลกในวินัยของพระอริยเจ้า.


พราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลก และอยู่ในที่สุดแห่งโลก
คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก
พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน
มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลก และอยู่ในที่สุดแห่งโลก
คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก
พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุ เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย
สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติเสวยสุขอยู่
ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลก และอยู่ในที่สุดแห่งโลก
คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก
พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้
ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลก และอยู่ในที่สุดแห่งโลก
คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก
พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา
ไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง บรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่
โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า อากาศไม่มีที่สุด
ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลก และอยู่ในที่สุดแห่งโลก
คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก
พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า วิญญาณไม่มีที่สุด
ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลก และอยู่ในที่สุดแห่งโลก
คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก
พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่ โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า อะไร ๆ น้อยหนึ่งไม่มี
ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลก และอยู่ในที่สุดแห่งโลก
คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก
พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุเนวสัญญานาสัญญาตนฌานอยู่
โดยเข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลก และอยู่ในที่สุดแห่งโลก
คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก
พราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า
แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก.


อีกประการหนึ่ง ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ อาสวะของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา
พราหมณ์ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลก และอยู่ในที่สุดแห่งโลก
ข้ามพ้นตัณหาเครื่องข้องในโลกนี้แล้ว.


พราหมณสูตร จบ



(พราหมณสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP