สารส่องใจ Enlightenment

มีวิธีสังเกตหรือไม่ว่าพระสงฆ์รูปใดเป็นพระที่ดี



วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร




ปุจฉา (๑) – การทำบุญกับพระสุปฏิปันโน มีพระโสดาบัน สกิทาคา อนาคา อรหันต์
ได้บุญมากโดยลำดับ หรือพระที่ท่านออกจากนิโรธสมาบัติ
เนื่องจากทุนน้อย ผมจึงอยากให้หลวงปู่ชี้แนะบอกวิธีสังเกตสังกา (จะได้ทำบุญไม่สูญเปล่าครับ)
ว่าพระที่กล่าวมา มีลักษณะอะไรเป็นข้อสังเกต ข้อพิจารณา
(อย่างนี้คนเขาก็เลือกทำกับพระอรหันต์ซิครับเพราะได้บุญมาก)



วิสัชนา (๑) – การทำบุญเราจะเลือกพระนั้น มันก็ต้องขึ้นอยู่กับใจของเรา
แต่ส่วนหลวงปู่ต้องพิจารณาว่าข้อวัตรปฏิบัติของพระเหล่านั้นไปแถวใด
ไปแถวไสยศาสตร์ หรือพุทธศาสตร์
ท่านเหล่านั้นเท่าที่สังเกตบวชเพื่อเลี้ยงชีวิต หรือเพื่อลาภยศ หรือเพื่อพ้นทุกข์ในวัฏสงสาร
เราก็คงพออ่านออก เรื่องแผ่ๆ ขอๆ เรี่ยๆ ไรๆ มีหรือไม่
มีข้อวัตรรักใคร่ในการปฏิบัติหรือไม่
คำพูดคำสอนของท่านหนักไปในทางอามิส หรือในทางโลกุตรเพื่อหลุดเพื่อพ้น
เสนาสนะที่อยู่ที่อาศัยวิเวกบ้างหรือไม่ เราดูก็คงรู้แพล็บเดียวกระมัง
(แต่เท่าที่ลูกๆ หลานๆ ทำบุญมาแล้วนั้น
มันก็เท่ากับว่าเลือกครูบาอาจารย์และพระเจ้าพระสงฆ์ถูกแล้ว)



..............................................................................



ปุจฉา (๒) – อาการวาระที่จิตสงบนั้นเป็นอย่างไร


วิสัชนา (๒) – การสงบนั้นมีอยู่หลายอย่าง
อย่างหนึ่งมันสงบพั่บเข้าไป ร่างกายและจิตก็เบาหวิว
ไม่เห็นนิมิตอะไร คล้ายกับตัวลอยอยู่ในอากาศ
แต่ไม่ปรากฏว่าเคลื่อนที่ มีแต่ผู้รู้อยู่เฉยๆ นี่แบบหนึ่ง
แต่ถ้าหมดกำลังก็ถอนออกมา เวลาเข้าพั่บก็ถอนออกพั่บเหมือนกัน



วิธีรวมอีกแบบหนึ่ง เมื่อจิตเข้าไปก็สว่างโร่เหมือนแสงอาทิตย์ก็มี
แสงพระจันทร์ก็มี แสงดาวก็มี แสงเหมือนตะเกียงเจ้าพายุก็มี
เหมือนกลางวันก็มี บางทีก็เห็นดอกบัวหลวงและกงจักร
ตลอดถึงเทวบุตรเทวดา และบุคคลสารพัดจะนับคณนา
สิ่งทั้งเหล่านี้หากเกิดให้เราเห็นอยู่ซึ่งหน้า
(คำว่าหน้า คือ หน้าสติหน้าปัญญา) แล้วดับอยู่ที่นั้น
ถ้าเราเพ่งต่อที่มันดับอยู่ มันก็เกิดอีกตะพึด แต่ไม่เป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องใหม่
แต่จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องเก่า (คำว่าเก่า คือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป)
ถ้าจิตของเราเพลินไปก็ลืมกัมมัฏฐานเดิม
คล้ายๆ กับโบราณท่านกล่าวว่า
“หมาตาเหลืองเมื่อเห็นไฟที่ไหนเรือง ก็แล่นเข้าไปหา”


และขอให้เข้าใจว่านิมิตที่เราตั้งไว้เดิมก็ดี
(และให้เข้าใจคำว่า นิมิต แปลเป็นไทยว่า เครื่องหมาย ที่ผูกให้ใจติดอยู่)
นิมิตเดิมก็ดี นิมิตใหม่ก็ดี ที่มาเกยพาดก็ดับเป็น
จะมีกี่ล้านๆ ก็ตามหรือจนนับไม่ไหว ก็เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น
เราก็ได้ตัวพยานแล้ว เพราะมันเป็นอันเดียวกันกับนิมิตเดิม
ที่เราจับนิมิตเดิมไว้ก็เพื่อจะเป็นตัวประกัน ให้เป็นพยาน
หรือจะเรียกว่านิมิตเดิมเป็นกระจกเงา นิมิตผ่านเป็นนิมิตแขก
แต่ก็เกิดดับเป็นเสมอกันนั่นเอง


ถ้าจะเอาด้านปัญญามาตัดสิน ก็ตอบตนว่านิมิตเดิมก็ดีไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
มีอภินิหารให้เห็นก็เพียงเกิดดับเท่านั้น เราไม่มีหน้าที่จะถือว่าได้ว่าเสีย
ต้องลงเอยแบบนี้ รู้ตามเป็นจริงแบบนี้ จึงเป็นตัวปัญญา
มิฉะนั้นแล้ว คล้ายๆ กับหยอกเงาตนเอง เมื่อตนเหนื่อยเงาก็เหนื่อย



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP