จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

มิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่ห้ามมรรคและห้ามสวรรค์ (ตอนจบ)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



293 destination



(ต่อจากฉบับที่แล้ว)


ในคราวที่แล้ว ได้กล่าวถึงอกิริยทิฏฐิ และอเหตุกทิฏฐิจนครบแล้วครับ
ในคราวนี้ก็จะอธิบายเปรียบการยึดถือใน
มิจฉาทิฏฐิ ๓
ว่าจะก่อให้เกิดโทษอย่างไร
ในทางกลับกัน หากไม่ได้ยึดถือตามมิจฉาทิฏฐิ ๓
และยึดถือทิฏฐิที่ถูกต้องจะก่อให้เกิดคุณอย่างไรนะครับ


ใน “อปัณณกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
ได้สอนในเรื่อง “นัตถิกทิฏฐิ” เทียบกับ “
อัตถิกทิฏฐิว่า
สำหรับนัตถิกทิฏฐินั้น สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงก็ไม่มีผล
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ก็ไม่มี
สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้
และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็ไม่มีในโลก
สมณพราหมณ์ที่ยึดถือนัตถิกทิฏฐิเหล่านี้
พึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้
ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต
จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้
ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต แล้วประพฤติอยู่
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทรามแห่งอกุศลธรรม
ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม


ในลัทธิของสมณพราหมณ์ที่ยึดถือนัตถิกทิฏฐิเหล่านี้
วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้
บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้ว จักทำตนให้มีความสวัสดีได้
ถ้าโลกหน้ามีจริง เมื่อเป็นอย่างนี้
บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด
เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ย่อมถูกวิญญูชน ติเตียนได้ในปัจจุบันว่า
เป็นบุรุษบุคคลผู้ทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาทะ
ถ้าโลกหน้ามีจริง บุรุษบุคคลนี้จะได้รับโทษในโลกทั้ง ๒ คือ
(๑) ในปัจจุบันถูกวิญญูชนติเตียนได้
(๒) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก


สำหรับอัตถิกทิฏฐินั้น สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงก็มีผล
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี
มารดามีคุณ บิดามีคุณ โอปปาติกสัตว์มีอยู่
สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้ และ
โลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็มีอยู่ในโลก
สมณพราหมณ์ที่ยึดถืออัตถิกทิฏฐิเหล่านี้พึงหวังข้อนี้ได้
คือ จักเว้นอกุศลธรรม ๓ ประการนี้
ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต
จักสมาทานกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่
(๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต แล้วประพฤติอยู่
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นเห็นโทษ ความต่ำทรามแห่งอกุศลธรรม
เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม

 

ในลัทธิของสมณพราหมณ์ที่ยึดถืออัตถิกทิฏฐิเหล่านี้ 
วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นอย่างนี้ 
บุรุษบุคคลนี้ หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ 
ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด 
เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ก็ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากวิญญูชนในปัจจุบันว่า 
เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นอัตถิกวาทะ 
ถ้าโลกหน้ามีจริง บุรุษบุคคลนี้ก็จะได้รับคุณในโลกทั้ง ๒ คือ 
(๑) ในปัจจุบันวิญญูชนย่อมสรรเสริญ 
(๒) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ อย่างนี้ 

 

นอกจากนี้ ได้สอนในเรื่องของ “อกิริยทิฏฐิ” เทียบกับ “กิริยทิฏฐิ” ว่า
สำหรับอกิริยทิฏฐินั้น สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัดเบียดเบียนเอง
ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก
ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง
ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้
ตัดช่องย่องเบา ปล้นเรือนหลังเดียว ดักจี้ในทางเปลี่ยว
เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ(เช่นนั้น) ก็ไม่จัดว่าทำบาป
เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา
สมณพราหมณ์ที่ยึดถืออกิริยทิฏฐิเหล่านี้
พึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้
ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต
จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้
ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต แล้วประพฤติอยู่
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทรามแห่งอกุศลธรรม
ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม


ในลัทธิของสมณพราหมณ์ที่ยึดถืออกิริยทิฏฐิเหล่านี้
วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ถ้าการกระทำไม่มีผล เมื่อเป็นอย่างนี้
บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้ว จักทำตนให้มีความสวัสดีได้
ถ้าการกระทำมีผลจริง เมื่อเป็นอย่างนี้
บุรุษบุคคลนี้ หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ถ้าการกระทำไม่มีผลจริง คำของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด
เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ย่อมถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า
เป็นบุรุษบุคคลผู้ทุศีลเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นอกิริยวาทะ
ถ้าการกระทำมีผลจริง บุรุษบุคคลผู้เจริญนี้จะได้รับโทษในโลกทั้ง ๒ คือ
(๑) ในปัจจุบันถูกวิญญูชนติเตียนได้
(๒) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อย่างนี้

สำหรับกิริยทิฏฐินั้น สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง
ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก
ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน
ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา
ปล้นเรือนหลังเดียว ดักจี้ในทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำเช่นนั้นจัดว่าทำบาป
เขาย่อมมีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น มีบาปมาถึงเขา
สมณพราหมณ์ที่ยึดถือกิริยทิฏฐิเหล่านี้พึงหวังข้อนี้ได้
คือ จักเว้นอกุศลธรรม ๓ ประการนี้
ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต
จักสมาทานกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่
(๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต แล้วประพฤติอยู่
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นเห็นโทษ ความต่ำทรามแห่งอกุศลธรรม
เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม


ในลัทธิของสมณพราหมณ์ที่ยึดถือกิริยทิฏฐิเหล่านี้
วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ถ้าการกระทำมีผลจริง เมื่อเป็นอย่างนี้
บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ถ้าการกระทำไม่มีผลจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด
เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ก็ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากวิญญูชนในปัจจุบันว่า
เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นกิริยวาทะ
ถ้าการกระทำมีผลจริง บุรุษบุคคลนี้ก็จะได้รับคุณในโลกทั้ง ๒ คือ
(๑) ในปัจจุบันวิญญูชนย่อมสรรเสริญ
(๒) หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ อย่างนี้

นอกจากนี้ ได้สอนในเรื่องของ “เหตุกทิฏฐิ” เทียบกับ “อเหตุกทิฏฐิ” ว่า
สำหรับเหตุกทิฏฐินั้น สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเอง
ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เอง
ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีความสามารถของมนุษย์
ไม่มีความพยายามของมนุษย์ สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะทั้งปวง
ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามโชคชะตา
ตามสถานภาพทางสังคมและตามลักษณะเฉพาะตน
ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖
สมณพราหมณ์ที่ยึดถือเหตุกทิฏฐิเหล่านี้ พึงหวังข้อนี้ได้
คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้
ได้แก่ (๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต
จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้
ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต แล้วประพฤติอยู่
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทรามแห่งอกุศลธรรม
ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม



ในลัทธิของสมณพราหมณ์ที่ยึดถือเหตุกทิฏฐิเหล่านี้
วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ถ้าเหตุไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้
บุรุษบุคคลนี้หลังจากตายแล้ว จักทำตนให้มีความสวัสดีได้
ถ้าเหตุมีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้
บุรุษบุคคลนี้ หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ถ้ายอมรับว่า เหตุไม่มีจริง
คำของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด
เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ย่อมถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า
เป็นบุรุษบุคคลผู้ทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นอเหตุกวาทะ
ถ้าเหตุมีอยู่จริง บุรุษบุคคลนี้จะได้รับโทษในโลกทั้ง ๒ คือ
(๑) ในปัจจุบันถูกวิญญูชนติเตียนได้
(๒) หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อย่างนี้

สำหรับอเหตุกทิฏฐินั้น สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายจึงเศร้าหมอง
ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายจึงบริสุทธิ์
มีกำลัง มีความเพียร มีความสามารถของมนุษย์
มีความพยายามของมนุษย์ สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะทั้งปวง
ไม่ใช่ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามโชคชะตา
ตามสถานภาพทางสังคมและตามลักษณะเฉพาะตน
เสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖
สมณพราหมณ์ที่ยึดถืออเหตุกทิฏฐิเหล่านี้พึงหวังข้อนี้ได้
คือ จักเว้นอกุศลธรรม ๓ ประการนี้
ได้แก่ (๑) กายทุจริต (๒) วจีทุจริต (๓) มโนทุจริต
จักสมาทานกุศลธรรม ๓ ประการนี้ ได้แก่
(๑) กายสุจริต (๒) วจีสุจริต (๓) มโนสุจริต แล้วประพฤติอยู่
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นเห็นโทษ ความต่ำทรามแห่งอกุศลธรรม
เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม


ในลัทธิของสมณพราหมณ์ที่ยึดถืออเหตุกทิฏฐิเหล่านี้
วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ถ้าเหตุมีอยู่ เมื่อเป็นอย่างนี้
บุรุษบุคคลนี้ หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ถ้ายอมรับว่าเหตุไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด
เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ก็ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากวิญญูชนในปัจจุบันว่า
เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล มีสัมมาทิฏฐิ เป็นเหตุกวาทะ
ถ้าเหตุมีอยู่จริง บุรุษบุคคลนี้ ก็จะได้รับคุณในโลกทั้ง ๒ คือ
(๑) ในปัจจุบันวิญญูชนย่อมสรรเสริญ
(๒) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ อย่างนี้
https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=10

 

ดังนี้จึงจะเห็นได้ว่า การยึดถือในมิจฉาทิฏฐิ ๓ ย่อมก่อให้เกิดโทษ
ในทางกลับกัน หากไม่ได้ยึดถือตามมิจฉาทิฏฐิ ๓
และยึดถือทิฏฐิที่ถูกต้องจะก่อให้เกิดคุณเช่นนี้


นอกจากนี้ อรรถกถาของสามัญญผลสูตร (พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) ได้กล่าวอธิบายว่า
บุคคลที่ยึดถือใน
มิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่แน่วแน่ในชวนะที่ ๗
แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ทรงเยียวยาไม่ได้ มีอันไม่กลับเป็นธรรมดา
โดยในมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ นี้ บางคนยึดถือเพียงมิจฉาทิฏฐิเดียว
บางคนยึดถือ ๒ มิจฉาทิฏฐิ บางคนยึดถือ ๓ มิจฉาทิฏฐิก็มี
เมื่อยึดถือในมิจฉาทิฏฐิเดียวก็ดี ใน ๒-๓ มิจฉาทิฏฐิก็ดี
ย่อมเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ ห้ามทางสวรรค์และห้ามทางนิพพาน
ไม่ควรไปสวรรค์แม้ในภพที่ติดต่อกันนั้น จะกล่าวไปไยถึงนิพพาน
สัตว์นี้ชื่อว่าเป็นตอวัฏฏะ เป็นผู้เฝ้าแผ่นดิน
โดยมากคนมีทิฏฐิเห็นปานนี้ ออกจากภพไม่ได้
เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เห็นประจักษ์หวังความเจริญ
พึงเว้นอกัลยาณปุถุชนให้ห่างไกล เหมือนคนเว้นห่างงูมีพิษร้ายฉะนั้น
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=91&p=3



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP