จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

มิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่ห้ามมรรคและห้ามสวรรค์ (ตอนที่ ๓)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


292 destination




(ต่อจากฉบับที่แล้ว)


มิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่ห้ามสวรรค์และห้ามมรรค ได้แก่
อกิริยทิฏฐิ, อเหตุกทิฏฐิ และ นัตถิกทิฏฐิ
โดยในคราวที่แล้ว ได้กล่าวถึง “นัตถิกทิฏฐิ” ๑๐ อย่างครบแล้ว
ในคราวนี้ก็จะกล่าวถึงอกิริยทิฏฐิ และอเหตุกทิฏฐิต่อไปครับ


ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
“อกิริยทิฏฐิ” หมายถึง ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ, เห็นว่าการกระทำไม่มีผล
อธิบายอย่างง่าย เช่น ทำชั่ว หากไม่มีคนรู้คนเห็น ไม่มีคนชม
ไม่มีคนลงโทษ ก็ชื่อว่าไม่เป็นอันทำ
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%A1%D4%C3%D4%C2%B7%D4%AF%B0%D4&original=1


ใน “ติตถายตนสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย
เอก-ทุก-ติกนิบาต ฉบับมหาจุฬาฯ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
ที่เกิดแห่งทิฏฐิ ๓ ประการ ซึ่งเมื่อถูกบัณฑิตไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงเข้า
ก็อ้างการถือสืบ ๆ กันมา ยืนกรานอยู่ในหลักอกิริยวาท มีดังนี้
๑. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
“สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขที่บุรุษบุคคลนี้เสวย
ทั้งหมดล้วนแต่มีกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ”
๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
“สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขที่บุรุษบุคคลนี้เสวย
ทั้งหมดล้วนแต่มีการเนรมิตของพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ”
๓. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
“สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุข ที่บุรุษบุคคลนี้เสวย
ทั้งหมดล้วนแต่ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย”


ในทิฏฐิข้อแรกที่ว่า “สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขที่บุรุษบุคคลนี้เสวย
ทั้งหมดล้วนแต่มีกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ” นั้น
หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ
บุคคลทั้งหลายก็จักเป็นคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดพรหมจรรย์
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา
(เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) มีจิตพยาบาท และเป็นมิจฉาทิฏฐิ
อนึ่ง เมื่อบุคคลยึดถือกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนโดยความเป็นแก่นสาร
ย่อมไม่มีความพอใจหรือความพยายามว่า “สิ่งนี้ควรทำ หรือสิ่งนี้ไม่ควรทำ”
ก็เมื่อไม่ได้กรณียกิจและอกรณียกิจโดยจริงจังมั่นคง ดังมากล่าวนี้แล้ว
สมณวาทะที่ชอบธรรม ย่อมไม่มี


ในทิฏฐิข้อที่สองที่ว่า “สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขที่บุรุษบุคคลนี้เสวย
ทั้งหมดล้วนแต่มีการเนรมิตของพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ” นั้น
หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะการเนรมิตของพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ
บุคคลทั้งหลายก็จักเป็นคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดพรหมจรรย์
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา
(เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) มีจิตพยาบาท และเป็นมิจฉาทิฏฐิ
อนึ่ง เมื่อบุคคลยึดถือการเนรมิตของพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่โดยความเป็นแก่นสาร
ย่อมไม่มีความพอใจหรือความพยายามว่า “สิ่งนี้ควรทำ หรือสิ่งนี้ไม่ควรทำ”
ก็เมื่อไม่ได้กรณียกิจและอกรณียกิจโดยจริงจังมั่นคง ดังมากล่าวนี้แล้ว
สมณวาทะที่ชอบธรรม ย่อมไม่มี


ในทิฏฐิข้อที่สามที่ว่า “สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุข ที่บุรุษบุคคลนี้เสวย
ทั้งหมดล้วนแต่ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย” นั้น
หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย
บุคคลทั้งหลายก็จักเป็นคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดพรหมจรรย์
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา
(เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) มีจิตพยาบาท และเป็นมิจฉาทิฏฐิ
อนึ่ง เมื่อบุคคลยึดถือความไม่มีเหตุโดยความเป็นแก่นสาร
ย่อมไม่มีความพอใจหรือความพยายามว่า “สิ่งนี้ควรทำ หรือสิ่งนี้ไม่ควรทำ”
ก็เมื่อไม่ได้กรณียกิจและอกรณียกิจโดยจริงจังมั่นคง ดังมากล่าวนี้แล้ว
สมณวาทะที่ชอบธรรม ย่อมไม่มี
https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=20&siri=106


ดังนี้แล้ว “อกิริยทิฏฐิ” ไม่ได้รวมถึงแค่การยึดถือความไม่มีเหตุเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงการยึดถือกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนโดยความเป็นแก่นสาร
หรือการยึดถือการเนรมิตของพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่โดยความเป็นแก่นสาร
เพราะเมื่อยึดถือสิ่งเหล่านี้ โดยความเป็นแก่นสารแล้ว
เท่ากับเห็นว่าการกระทำไม่มีผล ย่อมไม่มีความพอใจหรือความพยายามว่า
“สิ่งนี้ควรทำ หรือสิ่งนี้ไม่ควรทำ”
ซึ่งเมื่อไม่ได้กระทำสิ่งที่ควรทำ และไม่ได้ละเว้นสิ่งที่ไม่ควรทำ
ย่อมเป็นการห้ามสวรรค์และห้ามมรรคครับ


ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
“อเหตุกทิฏฐิ” หมายถึง ความเห็นว่าไม่มีเหตุ
คือ ความเห็นผิดว่า คนเราจะได้ดีหรือชั่วตามคราวเคราะห์
ถึงคราวจะดี ก็ดีเอง ถึงคราวจะร้าย ก็ร้ายเอง
ไม่มีเหตุอื่นจะทำให้คนดีคนชั่วได้
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%E0%CB%B5%D8%A1%B7%D4%AF%B0%D4&original=1


ใน “เหตุสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า เมื่อรูปมีอยู่ เพราะถือมั่นรูป เพราะยึดมั่นรูป
เมื่อเวทนามีอยู่ เพราะถือมั่นเวทนา เพราะยึดมั่นเวทนา
เมื่อสัญญามีอยู่ เพราะถือมั่นสัญญา เพราะยึดมั่นสัญญา
เมื่อสังขารมีอยู่ เพราะถือมั่นสังขาร เพราะยึดมั่นสังขาร
เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะถือมั่นวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ
จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย
เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายหาเหตุมิได้ หาปัจจัยมิได้ ย่อมเศร้าหมองเอง
ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายหาเหตุมิได้ หาปัจจัยมิได้ ย่อมบริสุทธิ์เอง ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร
ไม่มีเรี่ยวแรงของบุรุษ ไม่มีความบากบั่นของบุรุษ
สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง
ไม่มีความเพียร แปรไปตามภาวะแห่งความแน่นอนและความไม่แน่นอน
ย่อมเสวยสุขเสวยทุกข์ในอภิชาติทั้ง ๖
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=5096&Z=5142&pagebreak=0


เมื่อมีทิฏฐิว่า ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย
เพื่อความเศร้าหมองหรือความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเอง ย่อมบริสุทธิ์เอง
โดยหาเหตุมิได้ หาปัจจัยมิได้
ก็ย่อมไม่มีความพอใจหรือความพยายามว่า
“สิ่งนี้ควรทำ หรือสิ่งนี้ไม่ควรทำ”
ซึ่งเมื่อไม่ได้กระทำสิ่งที่ควรทำ และไม่ได้ละเว้นสิ่งที่ไม่ควรทำ
ย่อมเป็นการห้ามสวรรค์และห้ามมรรคเช่นกันครับ


(ขอคุยต่อในคราวหน้าครับ)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP