สารส่องใจ Enlightenment

จิตเป็นของฝึกยาก (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๑




ต่อนี้ไปพึงพากันตั้งใจ สำรวมใจของตนให้ดี อย่าปล่อยใจไปทางอื่น
เพราะใจนี้เป็นการรักษาได้ยากเหลือเกิน
ขอให้พากันพากเพียรพยายามรักษาใจดวงนี้ให้มันได้
การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานี้ ความหมายมุ่งหมายก็เพื่อให้รักษาใจดวงนี้แหละ
ให้มันตั้งมั่นอยู่ในบุญในกุศล อย่าให้มันไปตั้งมั่นอยู่ในบาปอกุศล
เพราะว่าบุญกุศลกับบาปกรรมนี้ เป็นคู่ศัตรูกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรเลยทีเดียว
ถ้าหากว่าตนเองไม่ฝึกตัวเองให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญในคุณแล้ว
บาปอกุศลมันก็จะมีอำนาจเหนือจิตใจนี้ มันเป็นคู่แข่งกันมาแต่ไหนแต่ไร
แต่ว่ามีใจเป็นประมุขประธานของบุญและบาป สุดแล้วแต่ใจน้อมไปทางไหน
เมื่อใจน้อมไปทางบาป บาปมันก็มีกำลังขึ้นในใจ
ถ้าใจน้อมไปทางบุญกุศล กุศลก็มีกำลังขึ้นในใจ
ก็มันเป็นอย่างนั้น จิตของปุถุชนผู้ยังไม่ได้บรรลุถึงโลกุตตรธรรมเนี่ย



รวมความแล้ว เรียกว่ามันมีทั้งบุญทั้งบาปติดตามมาตั้งแต่อเนกชาติโน้น
เหตุฉะนั้นแหละ การเกิดมามีขันธ์ ๕ อันนี้มันจึงไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนได้
เนื่องจากว่าคนเรานั้นทำทั้งบุญทั้งบาปพร้อมกันมา
บางคนก็ทำบุญมากกว่าบาป บางคนก็ทำบาปมากกว่าบุญ
ผู้ใดทำบาปมากกว่าบุญ บาปนั้นมันก็มาตกแต่งอวัยวะร่างกายนี้ให้ไม่สมบูรณ์
ก็ต้องวิบัติ ต้องทนทุกข์ทรมาน ใครล่ะ ทนทุกข์ทรมาน
ก็จิตดวงนี้แหละเป็นผู้ทนทุกข์ทรมาน อันว่าร่างกายนี้มันไม่ว่าอะไร
ถึงมันจะวิบัติแปรปรวนไป มันก็แปรไปตามเรื่องของมัน
แต่มันไม่รับรู้ความแปรปรวนของตัวเอง จิตต่างหากเป็นผู้รับรู้



เนี่ยจึงเป็นปัญหาที่ควรคิด การเกิดมามีชีวิตชีวาในโลกอันเนี้ย
เมื่อหากว่าคิดไม่ถึงต้นตอของมันแล้ว มันก็ไม่รู้จักทางแก้ไขเรื่องมันน่ะ
ถ้าเราคิดเข้าไปแล้ว ให้ไปถึงต้นตอมันจริงจัง มันก็รู้จักทางแก้ไขแล้วนะ บัดนี้นะ
โดยน้อมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นบรรทัดฐาน
ไอ้การที่จิตมันจะตกไปในทางอกุศล นั่นก็เพราะว่าไม่ได้ฝึกให้มันสงบ นี่ข้อสำคัญ
เมื่อมันไม่สงบแล้วมันก็ไม่มีกำลังเข้มแข็ง จิตนี้น่ะอ่อนแอ
เมื่อมันอ่อนแอแล้ว อะไรกระทบเข้ามาน้อยหนึ่ง มันก็หวั่นไหวไปตามเป็นอย่างนั้น
เอ้า เรื่องดีมาถึงเข้าก็ยินดีไปตามเรื่อง
ชั่วมาถึงเข้าก็ยินร้ายไปตาม โกรธไปตาม แสดงความไม่พอใจขึ้นมาทันที
อันนี้จิตใจที่ไม่มีกำลังเข้มแข็งอยู่ด้วยกุศล
มันย่อมอ่อนไหวไปตามอารมณ์อันชั่วร้าย อ่อนไหวไปตามอำนาจของกิเลส



ดังนั้นแหละ ด้วยเหตุผลแล้วเราจึงควรฝึกจิตใจอันนี้ให้สงบ
ตามหลักวิชาธรรมะในศาสนานี้
การที่จิตจะมีกำลังเข้มแข็งก็เพราะทำให้มันสงบลง
ถ้าปล่อยให้มันคิดอะไรต่ออะไรเรื่อยเปื่อยไป
มันได้ความเสียใจบ้าง ดีใจบ้าง มันก็อ่อนแอเลย ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้ เป็นอย่างงั้น
ดังนั้นพอมีอะไรกระทบกระทั่งเข้ามา มันจึงตื่นเต้นหวั่นไหวไป
ตามหาความสงบสุขไม่ได้เลย



เอ้า ทำอย่างไรเล่า มันจึงจะสงบได้ อันนี้เป็นปัญหาที่เราจะต้องคิด
ถ้าไม่คิดก่อน มันก็ไม่เห็นลู่ทางให้เข้าใจ
เพราะว่าจิตที่มันฟุ้งซ่านเลื่อนลอย มันมีหลายเรื่องที่ให้จิตฟุ้งซ่านนั่นน่ะ
บางทีมันผิดหวังในสิ่งที่ตนต้องการปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เอ้า มันก็วิตกวิจารณ์อยู่นั้นแหละ คับแค้นแน่นใจอย่างนี้นะ
วิธีแก้มันก็พิจารณาลงไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง
เมื่อมันไม่เที่ยงแล้ว ทำอะไรจะให้มันได้สมหวังทั้งหมด
มันจะได้มาแต่ที่ไหน อย่างนี้แหละ
ครั้นถ้าหากว่ามันเที่ยงแล้ว มันก็จะไม่ผิดหวัง
เกิดมาในโลกอันนี้น่ะ มีอะไรได้มา มันก็ไม่เสื่อมไม่เสียไป มันก็เป็นอันว่าสมหวัง
อัตภาพร่างกายมันก็อยู่ยั่งยืนนานตลอดกาลไป
ถ้าอย่างนี้มันก็ได้ชื่อว่าเป็นนิพพานในมนุษย์นี่แหละ



อันนี้พระศาสดาทรงตรัสว่าพระนิพพานไม่ได้อยู่ในมนุษย์นี่นั่นแหละ
สวรรค์ก็ไม่มี พรหมโลกโน้นก็ไม่มี พระนิพพานน่ะ
ดินฟ้าอากาศ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ก็ไม่ใช่ทั้งนั้นเลย
นั่นแหละให้พึ่งพากัน สันนิษฐานดูให้ดี
เพราะว่าที่ไหนมีเกิดขึ้นแล้วมีดับไปอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่พระนิพพานทั้งหมดเลย
นิพพาน แปลว่า ดับ ดับอะไร ดับทุกข์ ทุกข์ทางใจ
ทีนี้ในเมื่อจิตนี้ไปอาศัยอยู่ในที่ไหน
สถานที่นั้นยังหวั่นไหวไปมาอยู่อย่างนี้ เนี้ย มันก็เป็นทุกข์แหละ
เหมือนอย่างจิตมาอาศัยอยู่ในอัตภาพร่างกายอันนี้ ในปัจจุบันเนี้ย
ลองสังเกตดูซิ มันเป็นทุกข์ไหมนั่นแหละ
คนที่ไม่ช่างสังเกตมันก็จะไม่รู้ ไม่รู้ว่าตนเป็นทุกข์เดือดร้อนอะไร
หรือว่าเป็นทุกข์เดือดร้อนก็ดิ้นรนไปเฉยๆ แหละ
ไม่ได้คิดเลยว่าเราเป็นทุกข์เพราะอะไร ไม่ได้ทบทวนมาเลย
ไม่ได้ทวนกระแสจิตเข้ามาในปัจจุบันนี้
เป็นทุกข์ก็ทุกข์ทนทรมานไปอย่างนั้นแหละ ไม่รู้จักทางออกจากทุกข์
คนไม่ทวนกระแสจิตเข้ามามันเป็นอย่างนั้น



เพราะฉะนั้น การทำใจให้สงบระงับ เป็นสมาธิภาวนานี่
มันก็ได้แก่การทวนกระแสจิตเข้ามาในปัจจุบันเนี้ย
ไม่ปล่อยให้จิตคิดซ่านออกไปข้างนอกโดยส่วนเดียว
นั่นแหละ มันจึงจะสงบลงได้ แล้วก็จึงจะรู้ความจริงของชีวิตได้
ว่าความจริงของชีวิตเนี่ย หมายถึงดวงจิตนี้มาอาศัยอยู่ในของไม่เที่ยง
ก็อัตภาพร่างกายอันนี้แหละมันไม่เที่ยง จะไม่ให้มันเป็นทุกข์อย่างไรเล่า นี่แล้ว
เมื่อร่างกายนี้ไม่เที่ยงแล้ว สิ่งที่แวดล้อมอยู่ในร่างกายอันนี้มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
ลองสังเกตดูให้ดี เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมล่ะ จึงมาหมกมุ่นกันอยู่
จึงทำความพอใจอยู่กับโลกสันนิวาสอันนี้ๆ นี้
มันก็เนื่องมาแต่อวิชชาความไม่รู้นั่นแหละ
มันหุ้มห่อจิตใจทำให้เกิดความเข้าใจผิดไป นึกว่าโลกอันนี้น่าอาศัย
เพราะว่าสิ่งล่อใจที่ให้เกิดความสุขความสบายชั่วคราวนี่ มันมีอยู่เหมือนกัน
เมื่อมันไม่รู้สิ่งล่อหลอกจิตใจให้หลงให้ติดดังกล่าวมานี่
มันจึงได้หลงติดอยู่ในโลกอันเนี้ย ทั้งที่รู้ว่ามันไม่เที่ยงอยู่
แต่หากว่ามันไม่ได้ทบทวนเข้ามาในปัจจุบันนี้
ไม่ได้พิจารณาดู มันจึงไม่เห็นลู่ทางจึงไม่เบื่อไม่หน่าย



ผู้ใดที่จะเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารนี้ได้
ก็เพราะว่ามันทวนกระแสจิตเข้ามาในปัจจุบันนี้ มาสงบนิ่งอยู่ในนี้
ที่นี้ร่างกายอันนี้มันแปรปรวน มันก็กระทบกระทั่งกับจิต
ก็รู้บัดนี้นะ ก็รู้ว่าแหม มันทุกข์จริง อาศัยอยู่ในร่างกาย
เพราะมันไม่เที่ยง มันกระทบกระทั่งกับจิตอยู่นี้
แล้วร่างกายส่วนไหนมันวิบัติอย่างนี้นะ จิตนี้ก็ไปรับรู้หมดเลย
เจ็บหลังปวดเอว เอ้า จิตนี้ก็รับรู้ว่าเจ็บหลังปวดเอว
ปวดแข้งปวดขา จิตก็ไปตามรู้ว่ามันปวดแข้งปวดขา อย่างนี้แหละ
ปวดท้องปวดไส้ก็ไปตามรู้ว่าปวดท้องปวดไส้
หมายความว่าเจ็บตรงไหนวิบัติตรงไหน จิตนี้ไปรับรู้เอาหมดเลย
เพราะฉะนั้นมันจึงทนได้ยากทนลำบาก จึงได้กระวนกระวายจิตนี้



บัดนี้เมื่ออัตภาพร่างกายนี้ยังปรากฏอยู่ตราบใดนี่นะ
ความแปรปรวนของร่างกายก็มีอยู่ตราบนั้น
เมื่อความแปรปรวนของร่างกายมีอยู่อย่างตราบใด จิตนี้ก็ย่อมได้รับรู้
แล้วก็ย่อมหวั่นไหวไปตามความแปรปรวนของร่างกายอยู่อย่างนั้นแหละๆ
ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ชาติปิ ทุกขา ชาติความเกิดเป็นทุกข์
ก็เพราะว่าอวัยวะร่างกายนี้มันไม่เที่ยง
มันถึงเป็นทุกข์ มันถึงแปรปรวน มันถึงทนได้ยากทนอยู่ไม่ได้
พระศาสดาทรงสอนให้ฝึกจิตใจนี้ให้สงบ ให้ตั้งมั่นลงไปด้วยดี
แล้วให้ใช้ปัญญาสอนจิตใจให้รู้เท่าตามเป็นจริง
นี่แหละมันถึงจะเป็นทางออกจากทุกข์ได้
เพราะว่าทุกข์นี่มันเป็นผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วที่ทำมาแต่ก่อน มันมาตกแต่งให้
ดังนั้นบุคคลจะไปละทุกข์อันนี้ มันละไม่ได้ ละได้แต่เหตุแห่งทุกข์เท่านั้นเอง



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา “จิตเป็นของฝึกยาก” ใน ธรรมโอวาทหลวงปู่เหรียญ
โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย ชมรมกัลยาณธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP