จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

มิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่ห้ามมรรคและห้ามสวรรค์ (ตอนที่ ๑)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



290 destination



ในช่วงที่ผ่านมานี้ ก็มีกระแสการเผยแพร่ความเข้าใจผิด ๆ
ในโซเชียลมีเดียให้แก่เด็ก ๆ นะครับว่า พ่อแม่ไม่มีบุญคุณต่อลูก
ซึ่งบางท่านก็อ้างว่าเรื่องนี้เป็นแนวคิดใหม่ของคนรุ่นใหม่
ในความเป็นจริงแล้ว ความเข้าใจผิด ๆ เช่นนี้ไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่เลย
แต่เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล หรือเมื่อสองพันห้าร้อยปีก่อนแล้ว
โดยในสมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านก็ทรงสอนว่า
แนวคิดเช่นนี้เป็นหนึ่งในมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งห้ามมรรค และห้ามสวรรค์
และเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ของอกุศลธรรม


ในอรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี กล่าวว่า
“มิจฉาทิฏฐิบางอย่างห้ามสวรรค์ด้วย ห้ามมรรคด้วย
บางอย่างห้ามมรรคเท่านั้น ไม่ห้ามสวรรค์
บางอย่างไม่ห้ามทั้งสวรรค์ ไม่ห้ามทั้งมรรค
บรรดามิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น มิจฉาทิฏฐิ ๓ อย่างนี้
คือ อเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ ห้ามสวรรค์ และห้ามมรรค
อันตคาหิกมิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ห้ามมรรค แต่ไม่ห้ามสวรรค์
สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ไม่ห้ามสวรรค์ ไม่ห้ามมรรค ...”
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=181


ดังนี้ มิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่ห้ามสวรรค์และห้ามมรรค ได้แก่
๑. อกิริยทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ, เห็นว่าการกระทำไม่มีผล
๒. อเหตุกทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นว่าไม่มีเหตุ, เห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีเหตุปัจจัย
๓. นัตถิกทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นว่าไม่มี,
เห็นว่าไม่มีการกระทำหรือสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักได้
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=14


โดยในคราวนี้จะขอคุยในส่วนของนัตถิกทิฏฐิก่อนนะครับ
ใน นัตถิทินนสูตร (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค)
ได้กล่าวถึง นัตถิกทิฏฐิ ในความเชื่อ ดังต่อไปนี้ว่า
(๑) ทานไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) การเซ่นสรวงไม่มีผล
(๔) ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี (๕) โลกนี้ไม่มี (๖) โลกหน้าไม่มี
(๗) มารดาไม่มี (๘) บิดาไม่มี (๙) สัตว์โอปปาติกะไม่มี
(๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ กระทำโลกนี้ และโลกหน้าให้แจ้ง
ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก”
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=4992&Z=5042&pagebreak=0


ในอรรถกถาของนัตถิทินนสูตรได้อธิบายว่า
อุจเฉทวาทีบุคคล กล่าวว่า นตฺถิ มาตา ปิตา (มารดาไม่มีบิดาไม่มี) ดังนี้
เป็นเพราะเขาถือว่าไม่มีผลการปฏิบัติชอบและการปฏิบัติผิดในมารดาบิดานั้น
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=425


ทั้งนี้ “อุจเฉททิฏฐิ” หมายถึง ความเห็นว่าขาดสูญ เช่น
เห็นว่าคนและสัตว์จุติจากอัตภาพนี้ แล้วขาดสูญ; ตรงข้ามกับ สัสสตทิฏฐิ
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D8%A8%E0%A9%B7&original=1


เช่นนี้แล้ว ความเชื่อหรือความเข้าใจที่ว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ
หรือไม่มีผลในการปฏิบัติชอบและการปฏิบัติผิดในบิดามารดาแล้ว
เท่ากับว่าเป็น “นัตถิกทิฏฐิ” ซึ่งเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ประเภทหนึ่ง
มีผลคือ ห้ามสวรรค์และห้ามมรรค


ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงโทษร้ายแรงของมิจฉาทิฏฐิคือ
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง
ซึ่งจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น
และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง”
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=884&Z=949&pagebreak=0


เราย่อมจะเห็นได้ว่า มิจฉาทิฏฐิ เป็นธรรมที่ให้โทษร้ายแรง
กล่าวคือ เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดนั้น เกิดขึ้น

หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญไพบูลย์ยิ่ง
เช่น ความเชื่อหรือความเข้าใจผิดต่อพ่อแม่ดังกล่าวย่อมทำให้
บุตรที่ไม่เคยกล่าวหรือทำไม่ดีต่อพ่อแม่ ก็ได้กล่าวหรือทำไม่ดีต่อพ่อแม่
บุตรที่เคยกล่าวหรือทำไม่ดีต่อพ่อแม่แล้ว ก็กล่าวหรือทำไม่ดีต่อพ่อแม่ยิ่งขึ้นอีก
ส่งผลให้เกิดอกุศลกรรมอย่างยิ่งแก่บุตรนั้นเอง
เช่นนี้แล้ว การสอนเด็ก ๆ ว่า พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ
เท่ากับว่าเป็นการสอนเพื่อความเจริญไพบูลย์ของอกุศลธรรม
ซึ่งย่อมก็จะพาทั้งคนสอน และเด็ก ๆ ที่เชื่อเช่นนี้ไปสู่อบายภูมิครับ


(ขอคุยต่อในคราวหน้าครับ)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP