สารส่องใจ Enlightenment

ไม่มีอะไรตาย (ตอนที่ ๔)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙




ไม่มีอะไรตาย (ตอนที่ ๑) (คลิก)
ไม่มีอะไรตาย (ตอนที่ ๒) (คลิก)
ไม่มีอะไรตาย (ตอนที่ ๓) (คลิก)



ทีนี้รู้อีกชนิดหนึ่ง คือรู้ขณะกิเลสทั้งมวลขาดกระเด็นออกจากใจ
ด้วยอํานาจของสติปัญญา
ไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในใจเลย
นี่ก็รู้ รู้ทุกระยะ จิตไม่เคยลดละความรู้ รู้ทุกระยะทุกเวลา
“อกาลิโก”
แล้วจิตจะตายไปไหนเล่า จะเสกสรรให้จิตเป็นอะไรไปจากเดิม
จะไปจับไปยัดจิตให้เป็นป่าช้าขึ้นเหมือนสิ่งทั้งหลายนั่นเหรอ
จิตไม่ใช่ป่าช้า จิตเป็น “อมตํ” ทั้งที่ยังมีกิเลสและสิ้นกิเลสแล้ว
ฉะนั้น จงเอาจิตพิจารณาสภาวธรรมทั้งปวงมีขันธ์เป็นต้นให้ชัดเจน
จะได้เห็นความอัศจรรย์ขึ้นมาในวงการพิจารณาอยู่ในขันธ์ในธาตุอันนี้แล
จะเป็นขันธ์ใดก็ตาม ถ้าได้จ่อสติปัญญาลงไปจะเห็นชัด
เฉพาะอย่างยิ่ง ทุกขเวทนาในเวลาเกิดขึ้นมากๆ หรือในวาระสุดท้าย
ให้จิตฝึกซ้อมไว้เสียแต่บัดนี้ อย่าให้เสียท่าเสียทีของการปฏิบัติธรรม
เพราะการปฏิบัติ ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อแพ้ข้าศึก ปฏิบัติเพื่อชัยชนะ
ปฏิบัติเพื่อความเห็นจริง เพื่อปล่อยวาง เพื่ออยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น
ไม่ให้กดขี่บังคับใจได้อีกต่อไป มีแต่ความเป็นอิสระเต็มตัว


ใจจะเป็นอิสระได้ด้วยเหตุใด? ก็ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยการพินิจพิจารณา
ไม่ลดละท้อถอย เป็นกับตายขอให้เห็นความจริงเท่านั้นก็เป็นที่อบอุ่นใจ
เป็นก็เป็น ตายก็ตาย นี่เป็นคติธรรมดา ไม่จําเป็นต้องไปกั้นกางหวงห้าม
เพราะเป็นหลักธรรมชาติธรรมดา แม้กั้นกางหวงห้ามก็ไม่อยู่ในอํานาจ
นอกจากจะก่อความทุกข์ขึ้นมา เมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามใจหวังเท่านั้น
เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เป็นไปตามความจริงให้ปล่อยไปตามความจริง
อย่ากีดขวางความจริงให้เกิดทุกข์
อย่าไปปลูกบ้านปลูกเรือนขวางถนนหลวง จะถูกปรับไหมใส่โทษ
คติธรรมดานี้มีอํานาจยิ่งกว่าถนนหลวงเสียอีก


คติธรรมดา คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ที่เต็มอยู่ในธาตุในขันธ์
จงพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง ปล่อยวางลงตามลําดับ
เราจะมีความสุขความสบายหายห่วง หายหลงใหลใฝ่ฝัน
อันเป็นการรบกวนตัวเองอยู่ไม่หยุด
มีกิเลสเท่านั้นเป็นเครื่องหลอกลง เป็นเครื่องให้ทุกข์แก่สัตว์โลก
ถ้าแก้กิเลสด้วยสติปัญญาให้สิ้นซากไปแล้ว
จะหมดห่วงหมดใยทั้งภายในภายนอก ความสว่างไสวจะเกิดขึ้นภายในจิตใจ
ใจทั้งดวงที่แสนกลัวตายก็หมดความกลัว
และจะมาเห็นโทษตัวเองและตําหนิตนเอง
ว่า
“โอ๊ย” ความกลัวตายมาตั้งแต่วันเกิดเป็นเวลาหลายปี
นับแต่จําความได้จนกระทั่งบัดนี้ โกหกเราทั้งเพ! เราโง่ชะมัด
แม้จะมีผู้มาจัดเข้าในประเภทสัตว์ที่กลัวตายด้วยกันก็ยังได้
ด้วยใจเป็น “นักธรรม” และ “นักกีฬา” ไม่มีอะไรจะถือสาถือโกรธเลย!


เพราะเมื่อค้นดูแล้ว ความตายไม่มี มีแต่ความจริงเต็มตัว
ฉะนั้น จงพิจารณาอย่างนี้แหละ คือ
“นักรบ” ต้องสู้จนได้ชัยชนะ
ถ้า “นักหลบ” แล้ว มีแต่หลบๆ ซ่อนๆ หลบๆ หลีกๆ จะเอาความจริงที่ไหนเอาไม่ได้
เวลาทุกข์เกิดขึ้นมากน้อยก็มีแต่ความกระวนกระวาย
ความกระวนกระวายก็ไม่มีใครช่วยได้
ใครจะช่วยได้ ถ้าเราไม่ช่วยตัวเราเองไม่มีใครจะช่วยได้เลย
มีแต่สติปัญญาเท่านั้นที่จะช่วยให้ความกระจ่างตามความจริง
ความกระวนกระวายนี้ก็หายไปเอง ใจสงบได้อย่างอัศจรรย์
กระทั่งวาระสุดท้ายที่ลมหายใจจะขาดไป ก็ไม่มีสะทกสะท้านเลย นี้แลคือความจริง


ขอให้จริงในใจเถิด ใจของใครเหมือนกันหมด
ถ้าได้รู้ความจริงอย่างเต็มใจแล้ว เพราะความจริงนี้เหมือนกัน
เมื่อเข้าถึงความจริงแล้วจิตจะเป็นเหมือนกันหมด ไม่มีความสะทกสะท้าน
เพราะรู้ความจริงแล้วตื่นอะไร! ตอนที่ตื่นก็คือตอนที่ยังไม่รู้ความจริงเท่านั้นถึงได้ตื่น
ตื่นมากตื่นน้อยตามความรู้มากรู้น้อย หรือหลงมากหลงน้อยต่างกัน
ถ้ารู้จริงๆ คือรู้รอบตลอดทั่วถึงแล้วไม่ตื่น เรื่องความเป็นความตายมีน้ำหนักเสมอกัน
ธาตุทั้งสี่นั้นเอามาจากไหน
? ก็เอามาจากของที่มีอยู่
คือ ดิน น้ํา ลม ไฟ เป็นของมีอยู่ในโลก
เมื่อผสมกันเข้าเป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิงเป็นชาย
จิตซึ่งเป็นของที่มีอยู่ก็เข้าอาศัยสิ่งนี้ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา

เวลาสลายไปแล้วจะไปไหน? ก็ลงไปสู่ธาตุ คือ ดิน น้ำลม ไฟตามเดิม
จิตก็เป็นจิตจะเป็นอะไรไปอีก


ถ้าจิตบริสุทธิ์ก็เป็น “ธรรมทั้งแท่ง” เท่านั้น
เราจะให้ชื่อว่า “ธรรมทั้งดวง” ก็ได้ “ธรรมทั้งแท่ง” ก็ถูก
จะเรียกว่า “จิตบริสุทธิ์” ก็ได้ ไม่มีความสําคัญใดในการให้ชื่อให้นาม
ขอให้เป็นความจริงประจักษ์ใจเท่านั้นก็พอ ไม่หิวโหยกับชื่อกับนามอะไรอีก
เรื่องชื่อเรื่องนามไม่จําเป็น ขั้นนั้นขั้นรู้ว่าไปเถอะ
เหมือนเรารับประทานอิ่มเต็มที่แล้ว “เวลานี้เรารับประทานได้ขั้นไหนนี่?”
ไม่ต้องไปถามเอาขั้นเอาภูมิ มันเต็มพุงแล้วก็หยุดเท่านั้นเอง ฝืนรับประทานไปได้เหรอ
ถ้าไม่อยากสืบต่อประวัติของ “ชูชกพราหมณ์” ให้ยืดยาวไปอีก
การรับประทานเมื่อถึงขั้นพอกับธาตุแล้วก็รู้เอง
ทําไมจะไม่รู้ “สนฺทิฏฺฐิโก” พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาดเฉพาะพระองค์ผู้เดียว!


คําว่า “สนฺทิฏฺฐิโก” นี่ พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาด
มอบให้ผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเองด้วยตนเองทั้งนั้น
ธรรมนี้เป็น “ของกลาง” ผู้ใดปฏิบัติผู้นั้นก็รู้ความจริง
นี่แหละการแก้ความหลงด้วยธรรมมีสติปัญญาเป็นต้น
เราจะไปแก้กับสิ่งใดไม่ได้ เราต้องแก้กับตัวเราเอง
แม้แต่ก่อนเราเต็มไปด้วยความลุ่มหลง จงพยายามแก้ตนให้เต็มไปด้วยความรู้
ในเวลานี้ชาตินี้อย่านอนใจ จงอยู่สบายในท่ามกลางแห่งโลกที่วุ่นวาย
เอ้า ร่างกายนี้จะเป็นไฟทั้งกองก็ให้เป็น จิตที่มีความรู้รอบ “ไฟทั้งกอง” นี้
แล้วเป็นแต่เพียงอยู่ในท่ามกลางแห่งกองไฟด้วยความสงบสุขของ “เกราะเพชร”
คือสติปัญญาที่ทันกับเหตุการณ์นี่แล


มีจิตดวงเดียวเท่านี้ที่เป็นเหตุสําคัญ เพราะสิ่งที่เป็นตัวเหตุนี้มันลุ่มหลง
จึงอยู่ใต้บังคับบัญชาของ
“วัฏวน” วนไปเวียนมาด้วยการเกิดตายซ้ำๆ ซากๆ
เหมือนมดไต่ขอบกระด้ง เห็นขอบกระด้งเป็นของใหม่อยู่เรื่อยไป
จิตก็เป็น “วัฏวน” คือเห็นการเกิดตายเป็นของใหม่อยู่เรื่อยไป
พอเอาสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยที่อยู่ในดวงใจออกได้หมดด้วยสติปัญญาแล้ว
แสนสบาย! เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ไม่มีความหมายอะไร
เรื่องเป็นเรื่องตายเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของธาตุขันธ์เท่านั้นเอง
จิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย มีอะไรเป็นทุกข์ล่ะ?
มันแสนสบายอยู่ที่ความบริสุทธิ์หมดจดนี้น่ะ
เพราะฉะนั้น ขอให้พากันพิจารณา เอาชัยชนะภายในจิตใจเราให้ได้
แพ้ก็เคยแพ้มานานแล้วเกิดประโยชน์อะไร
ผลแห่งความแพ้ก็มีแต่ความทุกข์ความลําบาก
ผลที่เกิดจากชัยชนะจะเป็นอย่างไรบ้าง เอาให้เห็นชาตินี้เดี๋ยวนี้!


พระพุทธเจ้าประเสริฐด้วยความชนะ
สาวกทั้งหลายท่านประเสริฐด้วยความชนะกิเลส อยู่เหนืออํานาจของกิเลส
เราอยู่ใต้อํานาจกิเลสเรามีทุกข์แค่ไหนทราบด้วยกันทุกคน
ถ้าเราพยายามให้อยู่เหนืออํานาจแห่งกิเลสที่พาให้ลุ่มหลง
จะมีความสุขแค่ไหน ไม่ต้องไปถามใคร
ผลที่เกิดจะประกาศขึ้นอย่างเต็มตัวภายในใจของผู้ปฏิบัตินี้แล



ขอให้ปฏิบัติเถิด ธรรมอย่างนี้อยู่กับใจของเราทุกคน
เป็นแต่สิ่งไม่พึงปรารถนามันครอบหัวใจอยู่เท่านั้น
หลอกเราอยู่ตลอดเวลา มันมีอํานาจออกหน้าออกตา
คนเราที่แสดงตัวอย่าง
“ออกหน้าออกตา” ก็ด้วยสิ่งเหล่านี้พาให้เป็นไป
ธรรมของจริงจึงออกหน้าออกตาไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีอํานาจมากกว่า
จงพยายามแก้อันนี้ออกให้หมด
จิตที่เป็นธรรมทั้งดวงจะได้ออกหน้าออกตาสว่างกระจ่างแจ้งครอบโลกธาตุ
ให้ได้เห็นได้ชมประจักษ์ใจ
ไม่เสียทีที่เป็นมนุษย์และเป็นชาวพุทธผู้ปฏิบัติจนเห็นผล “อยัมภทันตา”
นี่คืออํานาจของจิตของธรรมแท้ ผิดกับอํานาจกิเลสเป็นไหนๆ
อํานาจกิเลสมีมากเท่าไรทําโลกให้เดือดร้อนมาก ตัวเองก็เดือดร้อน คนอื่นก็เดือดร้อน
เมื่อปราบกิเลสตัวเป็นพิษเป็นภัยออกหมดกลายเป็น “ธรรมทั้งดวง” ขึ้นมาแล้ว
ตัวก็เย็น โลกก็เย็น เย็นไปหมด


เอาละพูดย่อๆ เพียงเท่านี้


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา "ไม่มีอะไรตาย"
ใน ธรรมชุดเตรียมพร้อม โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP