สารส่องใจ Enlightenment

ไม่มีอะไรตาย (ตอนที่ ๓)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙




ไม่มีอะไรตาย (ตอนที่ ๑) (คลิก)
ไม่มีอะไรตาย (ตอนที่ ๒) (คลิก)



รูปมันก็ “สักแต่ว่า” รูปแห่งธาตุขันธ์
เวทนาก็ “สักแต่ว่า” เวทนา ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
เราจะไปคว้าเอามาทับถมจิตใจให้เกิดความเดือดร้อนไปทำไม
เพราะเวทนานั้นก็เป็นของร้อนอยู่แล้ว แบกหามเข้ามาเผาตนทำไม
ถ้าเป็นความฉลาดแล้วจะไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปแบกหาม
จะต้องพิจารณาตามความจริงของมัน
ทุกขเวทนาขนาดไหนก็รู้ตามความจริงของมันด้วยสติปัญญา
เพราะจิตเป็นนักรู้ ไม่มีถอยเรื่องรู้ๆ รู้ รู้อยู่กับจิต


ขอให้ส่งเสริมสติ เป็นผู้คอยกำกับให้ดีเถิด
แม้ขณะที่จิตจะดับก็จะไม่เผลอ
เพราะสติกำกับจิต
จิตทำหน้าที่รู้ความหมายต่างๆ แต่การพิจารณาแยกแยะต่างๆ
เป็นเรื่องของ
“ปัญญา” แยกแยะให้เห็นเป็นตามความจริง
จะได้ชื่อว่า “เป็นผู้ฉลาดในการเรียนเรื่องของตัว”
ตามหลักศาสนาที่ให้เรียนรู้ตัวเองเป็นสำคัญ


คำว่า “โลกวิทู” ถ้าไม่รู้แจ้งเห็นจริงในโลกในขันธ์นี่
จะหมายถึง “โลกวิทู” แห่งโลกใด? นี้เป็นอันดับแรกทีเดียว
พระพุทธเจ้าทรงรู้และสั่งสอนไว้ คำว่า “โลกวิทู” “รู้แจ้งโลก”
รู้แจ้งโลกของพระพุทธเจ้า ก็ต้องรู้แจ้งธาตุแจ้งขันธ์
และรู้พร้อมทั้งละกิเลสตัณหาอาสวะนี้โดยสิ้นเชิงก่อน
แล้วจึงไปรู้สภาพแห่งโลกทั่วๆ ไปที่เรียกว่า “โลกวิทู” รู้แจ้งโลกทั่วไป
คุณสมบัติของสาวกในบทนี้ก็มีได้เหมือนกันที่เป็น “โลกวิทู”
คือ รู้แจ้งโลกในธาตุในขันธ์โดยรอบขอบชิด พร้อมทั้งละกิเลสทั้งมวล
แล้วยังมี “ญาณ” หยั่งทราบสภาพทั้งหลายตามกำลังแห่งนิสัยวาสนาของแต่ละองค์
ส่วน “โลกวิทู” ซึ่งเป็น “อัตสมบัติ”
ได้แก่รู้เท่าปล่อยวางอุปาทานในขันธ์และกิเลสทั้งปวงนั้น
สาวกมีได้ด้วยกันทุกองค์บรรดาที่เป็นอรหันต์
ส่วน “โลกวิทู” เกี่ยวกับความหยั่งทราบเหตุการณ์
ตลอดรู้อุปนิสัยของโลกในแง่ต่างๆ นั้นมีกว้างแคบต่างกัน


จิตเป็นรากเป็นฐานสําคัญภายในตัวเรา ทําไมจึงไปหลงไปงมงาย
ไปจับนั้นคว้านี้เอาสิ่งนั้นๆ มาเผาตน เอาสิ่งนี้มาเผาตน ไม่มีความเข็ดหลาบ
?
ทุกข์อยู่กับทุกข์
มันไม่มีความหมายอะไร เช่นเดียวกับไฟมันแสดงเปลวสูงจรดฟ้า
ถ้าเราไม่ไปเกี่ยวข้องกับไฟ หรือถอยตัวออกให้ห่างไฟ ไฟก็เผาไม่ได้
ก็ “สักแต่ว่า” ส่งเปลวอยู่เท่านั้น ไม่สามารถยังความรุ่มร้อนมาสู่ตัวเราได้
แต่ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับไฟ ไฟก็เผาไหม้ได้
ทุกขเวทนาก็เหมือนกัน มันเป็นความจริงอันหนึ่งของมันที่แสดงอยู่ภายในร่างกายของเรา
เมื่อจิตเราก็รู้ด้วยสติปัญญา พิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้เห็นตามความเป็นจริงอยู่แล้ว
สภาพความร้อนที่เป็นธรรมชาติของเวทนานั้น
ก็ไม่สามารถจะแผดเผาจิตใจเราให้ร้อนไปตามได้
นี่ชื่อว่า “เรียนธรรม คือทุกขเวทนาในขันธ์”
ให้ซาบซึ้งด้วยปัญญาแล้วปล่อยวาง



เวทนาก็เป็นธรรม สัญญาก็เป็นธรรม สังขารก็เป็นธรรม
วิญญาณก็เป็นธรรม รูปกายนี้ก็เป็นธรรม
ถ้าเราเป็นธรรมสิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมหมด
ถ้าเราเป็น
“ผู้หลง”เป็น “อธรรมโง่” สิ่งเหล่านี้ก็เป็นข้าศึกต่อเราได้
ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้
เราจะเชื่อกิเลสตัณหาอาสวะ หรือจะเชื่อพระพุทธเจ้า?
ถ้าเชื่อกิเลสตัณหาก็ยึดถือว่าอันนี้ๆ เป็นตัวตนหมด
รูปก็เป็นตน เวทนาก็เป็นตน สัญญาเป็นตน สังขารเป็นตน วิญญาณเป็นตน
อะไรๆ เป็นตน ทั่วโลกสงสารเป็นตนเป็นของตนหมดสิ้น
พอสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงยักย้ายไปหน่อยใจหายไปเลย
เป็นทุกข์ขึ้นมาแบบไม่มีสติสตังประคองตัว
ฉะนั้นเครื่องก่อกวนเครื่องทําลายจึงเกิดขึ้นจากความสําคัญของจิต
ด้วยความลุ่มหลงว่าอันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นของเรา
อะไรๆ เปลี่ยนแปลงไปเล็กๆ น้อยๆ
จึงเป็นเหมือนสิ่งนั้นมาฟันหัวใจเราให้ขาดสะบั้นไปด้วยกัน
เป็นทุกข์ด้วยกันไปหมดหาที่ปลงวางไม่ได้


ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไม่เป็นเช่นนั้น
กลับทวนกระแสโลกที่ยึดถือกัน! เช่น
“รูปํ อนิจฺจํ รูปํ อนตฺตา”
ว่า
“นี้เป็น อนิจฺจํเป็นของไม่เที่ยง” พอเราจะอาศัยได้บ้างเท่านั้น
“อนตฺตา” ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา” ทรงสอนให้ทราบว่า “ไม่ใช่ของใครทั้งนั้น !”
เป็นแต่สภาพของส่วนต่างๆ ที่รวมกันอยู่ตามธรรมชาติของเขาเท่านั้น”
เวทนาก็เช่นเดียวกัน เป็นธรรมชาติกลางๆ
ถ้าเราไม่ไปหลงเสียเท่านั้นก็ไม่เกิดปัญหายุ่งยาก
สังขาร วิญญาณ ก็เหมือนกัน เป็นธรรมกลางๆ
ขอให้พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง จิตก็เป็นกลางได้
เมื่อจิตเป็นกลาง จิตก็เป็นความจริงขึ้นมา
เมื่อจิตเป็นความจริง สิ่งนั้นก็เป็นความจริง
เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นความจริงมาแล้วแต่ดั้งเดิม
เป็นเพียงใจหลงไปสําคัญมั่นหมายเท่านั้น
เหล่านี้คือหลักธรรมที่สอนให้รู้ทุกสิ่งจนปล่อยวางได้
ใจก็เป็นกลาง คือเห็นตามความจริง


“ความตาย ตามโมหะนิยม” นั้นตัดออก อย่าให้เข้าไปแทรกสิงในจิตได้
จะกลายเป็นความท้อถอยอ่อนแอและล้มละลายไปได้
เพราะคําว่า “ความตาย” นั้นเป็นสิ่งจอมปลอม
เป็นกิเลสเสกสรรหลอกลวงเรามาเป็นเวลานาน
ทั้งๆ ที่จิตไม่ตายตามความเสกสรรของกิเลสนั่นเลย แล้วจะกลัวตายไปทําไม
ถ้าพิจารณาตามหลักธรรมด้วยความเชื่อธรรมแล้ว
จะกลัวตายไปหาอะไร อะไรตาย? ไม่มีอะไรตาย!


จิตก็เป็นจิต และเคยเป็นจิตมาแต่ดั้งเดิม
ไปก่อภพก่อชาติที่ไหนก็มีแต่เปลี่ยนร่างไปตาม
“กรรมวิบาก” เท่านั้น
ส่วนจิตไม่ตายนี่ หลักเดิมเป็นมาอย่างนี้
ทีนี้เวลาพิจารณาเวทนา เพื่อความเข้าใจความจริงของมัน
ทําไมจิตจะตาย! และทําไมเราถึงกลัวตาย อะไรตาย?
ค้นหาความตาย ให้เห็นชัดเจนลงด้วยความจริงโดยทางปัญญาดูซี
เมื่อทราบประจักษ์ใจแล้วจะไม่กลัวตาย เพราะความตายไม่มีในจิต
มีแต่ความเสกสรรปั้นยอลมๆ แล้งๆ เท่านั้น
ตามโลกสมมุติ ก็ได้แก่ “อวิชชา” ความรู้แบบงูๆ ปลาๆ นั่นแหละพาให้โลกเป็นอย่างนี้
พาโลกให้ตั้งชื่อตั้งนามกันว่า “เกิด” ว่า “ตาย” อย่างนี้ ความจริงแล้วไม่มีอะไรตาย
เมื่อพิจารณาให้ถึงความจริงทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจะได้ความขึ้นมาเองว่า
ต่างอันต่างจริงต่างอันต่างอยู่ ไม่มีอะไรตาย
จิตยิ่งเด่นยิ่งรู้ชัดภายในตัวขึ้นมา ลงได้เห็นชัดขึ้นมาว่า
“ที่เคยเข้าใจว่าจิตตายนั้นเป็นจิตโง่ที่สุด”
ในขณะเดียวกันก็เป็นจิตที่ฉลาดพอตัวแล้ว จึงสามารถรู้ความจริงอย่างถึงฐาน


เมื่อจิตไม่ตายและไม่กลัวตายแล้ว
ก็สนุกที่จะพิจารณาตัวเองละซิ อะไรจะเป็นขึ้นมาหนักเบาก็สนุก
เพลินที่จะพิจารณาให้เห็นเหตุเห็นผลโดยถ่ายเดียวไม่สะทกสะท้าน
เพราะจิตไม่อั้นกับการรู้สิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับตน รู้อยู่ตลอดเวลา
ขอให้พยายาม บํารุง
“สติ” รักษาสติให้ดี บํารุง “ปัญญา” ให้มีกําลังแก่กล้าสามารถ
จะรู้ทุกระยะจนขณะที่ขาดจากกันระหว่างขันธ์กับจิต
คือจะตายตามโลกสมมุตินั่นแหละ
จนกระทั่งขาดจากกันเป็นวาระสุดท้าย ระหว่างขันธ์กับจิตแยกจากกัน
นี้คือรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งทําหน้าที่ในเวลาตายตามสมมุติ


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา "ไม่มีอะไรตาย"
ใน ธรรมชุดเตรียมพร้อม โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP