สารส่องใจ Enlightenment

ความรักและความชัง (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดยหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร
แสดงธรรม ณ วัดเขาบันไดอิฐ จังหวัดเพชรบุรี พุทธศักราช ๒๕๐๘




เมื่อภาวนาได้ที่จนจิตสงบนิ่งแล้วย่อมมีความอ่อนละมุนละไมยิ่งในใจ
มีความเย็นอกเย็นใจ เบายิ่งกว่าสำลี ใจเราเหมือนกับลมหายใจนี่แหละ
สบายหายหมดความเจ็บความปวด นั่งกระดานเหมือนกับไม่ได้นั่ง
มันนิ่งหมด มันเพ่งดูอยู่ มันไม่เอาอื่นหรอกเพราะเห็นแล้วสมุฏฐาน
เหมือนหมอพอเห็นสมุฏฐานแล้วก็วางยาถูก
ตอนนี้มันเห็นสมุฏฐานว่าเพราะอย่างนั้นๆ พาให้เป็นบาปเป็นกรรม
คือดวงจิตที่ไม่หยุดไม่อยู่ ดวงจิตที่ทะเยอทะยาน ดวงจิตที่วิ่งวุ่นอยู่
เที่ยวทำบาป เที่ยวทำกรรม เที่ยวก่อภพก่อชาติ ภเวภวา สัมภวันติ
ภพน้อยๆ ภพใหญ่ๆ มันเที่ยวก่ออยู่ นั่งเดี๋ยวมันก็ยังก่ออยู่



เห็นไหมล่ะ มันต้องเห็นซิ ให้หยุดมันไม่หยุด
มันบอกไม่นอนสอนไม่ได้ มันเป็นอย่างนี้แหละ
อุปมาเหมือนลูกเต้าที่บอกไม่ได้ มันก็พึ่งไม่ได้ซี่
นี่ใจของเราก็คือกันแหละ เมื่อเราบอกไม่ได้จะพึ่งอะไรได้
บอกไม่ให้ไปตกนรก มันก็ไปตกนรก จะว่าอย่างไรล่ะ
ถ้ามันบอกนอนสอนได้ มันก็สอนจิตของเราได้ มันเห็นอยู่แล้ว มันไม่หลง
มันไม่หลงมันก็สอนได้ซี่ บอกนอนสอนได้ เมื่อสอนได้เราก็ได้ที่พึ่งของเราละ
ได้พระพุทธ ได้พระธรรม ได้พระสงฆ์ รวมอยู่ในจิตของเรา ประชุมรวมกันหมด
จิตของเราก็เบิกบาน เราก็เห็นธรรม เราก็เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบละ
เมื่อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว จิตก็สงบลง อ่อนหมดแล้ว
นี่คือกายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ ความสงบระงับทั่วหมด กิเลสจัญไรทั้งหลายไม่มี
เพราะจิตไม่มีกิเลส จะเอาอะไรมาเป็นกิเลสเล่า จิตไม่มีภัย จะเอาอะไรมาเป็นภัย
จิตไม่มีบาปมีกรรม จะเอาอะไรมาเป็นบาปเป็นกรรม



นี่ก็ต้องเพ่งดูน้อมดูอยู่เสมอ โอปนะยิกะธรรม น้อมเพ่งอยู่อย่างนั้น
พอมันเคลื่อนจากที่ ทีนี้ละมันพาให้ก่อภพก่อชาติ มันพาให้ก่อกรรมก่อเวร
หากว่าเราไม่อยากเป็นกรรมไม่อยากเป็นเวร เราก็ต้องตัด ตัดอารมณ์นั่นแหละ
ให้อยู่ในที่รู้ ให้กำหนดว่าความรู้อยู่ตรงไหนแล้ว เราก็เพ่งอยู่ตรงนั้น
อย่าให้มันเคลื่อนออกจากนั้น ให้มันตั้งอยู่นั่น ให้รู้อยู่นั่น
ไม่มีอะไรก็ให้รู้อยู่อันเดียวเท่านั้นแหละ
มันไม่มีตัวไม่มีตนอะไรหรอก มันเป็นแต่รู้อยู่อย่างนั้น
สิ่งใดเกิดขึ้นก็ให้รู้ พุทธะคือผู้รู้ จิตมันไม่อยู่ ก็ให้รู้
สิ่งใดเกิดขึ้นให้รู้ให้หมด เพราะเราต้องการความรู้ เราอยากรู้
เราไม่ไปยึดเอาสิ่งเหล่านั้น มันก็ไม่มายึดเอาเรา เรื่องมันเป็นอย่างนั้น
เรามันคอยเข้าไปยึดเสียหมด เมื่อเรารู้แล้ว เราก็ไม่ยึดสิ่งเหล่านั้น
ความชั่วทั้งหลายทุกข์ทั้งหลายเราก็ไม่ยึด มันก็วางหมด ว่างหมด
ใจเรามันก็ปล่อย มันก็ละหมดซี เรียกว่าปล่อยว่าง
มันเห็นแล้วก็ปล่อยเอง มันเห็นแล้วก็วางเอง



เพราะฉะนั้นท่านจึงเทศนาให้ปล่อยให้วางหมด
ปล่อยได้ยังไง มันเห็นทุกข์แล้วมันก็วางเอง ถ้ามันไม่เห็นมันก็ไม่วาง
ถ้ามันเห็นแล้วมันก็วาง ปล่อยวางเอง ละเอง ถอนเอง
จิตมันก็นิ่งอยู่ได้ มันก็มีแต่ความเบาความสบาย ความสว่างไสว
มีแต่ความผ่องใส ความเยือกความเย็นเท่านั้น
ข้อสำคัญคือมันก็สุขสบาย อันใดจะเสมอได้
นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอันใดเสมอใจสงบไม่มี
มันก็ได้รับความสุขความสบาย สมความมุ่งมาดปรารถนาของเรา



นี่เราเห็นแล้วก็พ้นทุกข์ จิตเราไม่ทุกข์แล้วจะเอาอะไรมาทุกข์
มันก็พ้นในตรงนั้นหละ จิตดวงนั้นพ้นทุกข์ มันจะหาทุกข์ที่ไหนมี
ได้พุทโธแล้ว ได้ธัมโมแล้ว ได้สังโฆแล้ว มีแก้วสามประการมาประดับไว้แล้ว
เราก็รู้แจ้งเห็นจริง ไม่เชื่อใครทั้งหมดละทีนี้ เห็นแท้แน่นอน
สันทิฐิโก เราผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเอง
จะไม่เห็นยังไงเล่า สบายก็จะไม่เห็นยังไงเล่า ไม่สบายก็จะไม่เห็นยังไงเล่า
มันเห็นนี่ ก็เชื่อมันอยู่อย่างนั้น ของมีจริงๆ ไม่ใช่ว่าไม่มี
ของมันเป็นอยู่จริงๆ ไม่ใช่ว่าไม่เป็น
มันเป็นอยู่ในจิตของเรา มันนิ่งมันก็เห็น มันไม่นิ่งมันก็เห็น
มันอยู่อย่างไรมันก็เห็น มันเบามันก็เห็น มันหนักมันก็เห็น
มันมืดมันก็รู้อยู่ยังงั้น มันสว่างมันก็รู้อยู่อย่างนั้นแหละ
อย่าไปเอาสิ่งใดๆ มันมืดก็อย่าไปจับเอามืด เอาแต่ความรู้อยู่
เอาผู้รู้ รู้ว่ามืด มันเฉยๆ ก็ดูเฉย ๆ ผู้รู้ว่าเฉยมันมีอยู่ เมื่อมันหมด ผู้รู้ว่าหมดก็มีอยู่
ผู้รู้มันมีอยู่ยังงั้น มันหมดไม่เป็น ดับไม่เป็น สูญไม่เป็น จึงเรียกว่าผู้รู้
พุทธะคือผู้รู้ มันมีอยู่ยังงั้น มันดับไม่เป็น สูญไม่เป็น มีอยู่ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา
ปุพเพ เต ธัมมา ธรรมทั้งหลายมีอยู่ยังงั้น แต่ไม่มีบุคคลผู้ใดมารู้ได้
เราต้องรู้ด้วยตนเองซิ ธรรมะทั้งหลายมีอยู่ยังงั้น
พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ก็มีอยู่ยังงั้น ตรัสรู้แล้วก็มีอยู่ยังงั้น
แต่เราไม่ได้พบ ค้นยังไม่ทันพบ เรื่องมันเป็นยังงั้น



เพราะฉะนั้นทำให้พบเสียที นั่งสมาธิ น้อมเข้าไป เพ่งดูตัวรู้นั่น
ความรู้มันไม่มีตัวไม่มีตน เป็นแต่รู้อยู่นั่น เป็นแต่รู้อยู่อันเดียวเท่านั้น
ผู้รู้เป็นของไม่ตายและเป็นของไม่แตกไม่ทำลาย
เป็นของไม่อดไม่จน เป็นของไม่ทุกข์ไม่ยาก เป็นของไม่ลำบากไม่รำคาญ
เดี๋ยวนี้เรายังไม่รู้ สิ่งใดเกิดขึ้นเราก็ยึดเอาอันนั้นมาเป็นตน มันก็เลยได้ทุกข์ได้ยาก
ทีนี้สิ่งใดเกิดขึ้นมาเราก็ไม่ไปยึด ไม่ไปปรุง ไม่ไปแต่ง เรายังเป็นอวิชชาอยู่
เมื่อมีอวิชชาความหลง มันก็ไปปรุงไปแต่ง ไปยึดเอาสิ่งอื่นมา
เมื่อเราเป็นวิชชาแล้วเราก็มีความรู้แจ้งเห็นจริง
โลกะวิทู ความรู้แจ้งโลก เรารู้อยู่แล้วจะมาหลอกเราได้ยังไง
เรารู้อยู่แล้ว เห็นอยู่แล้ว มันก็หลอกเราไม่ได้
เราต้องไม่ให้เคลื่อนไปจากที่ตั้งไว้ คือที่รู้



สมาธิคือจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวง่อนแง่นคลอนแคลนในสิ่งทั้งหลายทั้งหมด
ตั้งมั่นเปรียบเหมือนกับกุฏิที่ตั้งมั่นอยู่นี่
ใครมาก็พึ่งพาอาศัยได้ ถึงลมมาแดดฝนมาก็พึ่งพาอาศัยได้
สรณะที่พึ่งคือต้องพึ่งได้ จิตของเราก็เช่นเดียวกัน
ที่ว่าพึ่งไม่ได้ก็คือว่าเราจะอยู่นี่แต่มันไปอยู่อีกแห่งหนึ่ง
เราจะเอาแห่งหนึ่งมันไปเอาอีกแห่งหนึ่ง นั้นพึ่งไม่ได้
ถ้าให้นิ่งแล้วมันก็นิ่งอยู่ได้ มันก็พึ่งได้อาศัยได้
นี่แหละเราจะตัดบาปตัดกรรมตัดเวร ตัดภัยอกุศลทั้งหลายให้ระงับดับได้
นี่แหละผู้ถึงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว
โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง หิตัง เทวะมนุสสานัง
สัพเพ ทุกขา สัพเพ ภยา สัพเพ โรคา ภวันตุ เต วินัสสันตุ
ทุกข์ภัยโรคทั้งหลายทั้งหมดก็พินาศฉิบหาย ก็เพราะอาศัยจิตสงบน่ะแหละ
จิตสงบระงับดับหมดซึ่งกิเลสจัญไรทั้งหลายเหล่านี้



ให้ภาวนาพุทโธ พุทโธใจเบิกบาน พุทโธผู้รู้ ให้รู้มันให้หมด อย่าให้ปกปิดไว้
ทุกข์เกิดขึ้นก็ให้รู้ สุขเกิดขึ้นก็ให้รู้ ดีเกิดขึ้นก็ให้รู้
พุทโธ พุทโธ มันเป็นยังไงก็ให้รู้ให้หมด มันข้องตรงไหนก็ให้รู้ มันไม่ข้องก็ให้รู้
ทำความรู้อยู่อย่างนั้นเรียกว่าพุทโธ
เห็นความรู้นั้นอยู่ มีอยู่ มันเฉยๆ ก็ให้รู้อยู่ ให้น้อมเข้ามา
มันมืดก็ให้รู้ มันสว่างก็ให้รู้ ผู้รู้พุทโธนั้นก็รู้อยู่ยังงั้น
มันสว่างก็รู้ว่าสว่าง อย่าไปเอาความสว่างมาเป็นตน
เราคือผู้รู้ เราก็เพ่งเล็งความรู้อันนั้นอยู่ เห็นผู้รู้นั้นอยู่ ให้รู้ว่าผู้รู้มีอยู่
มันพ้นทุกข์หรือมันยังติดอยู่ตรงไหน
สาวหาเหตุผล หาเบื้องต้นเบื้องปลาย เราก็เพ่งเล็งดู
มันติดรูปหรือติดเสียงติดกลิ่น ติดรส ติดสัมผัส ติดอารมณ์ทั้งหลาย


เมื่อติดรูปก็ยกรูปขึ้นมาวินิจฉัย รูปนี้ทำไมมันจึงติด
ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา
ท่านสอนว่าจะไปติดทำไม ให้เห็นว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
เห็นสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เห็นสังขารว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

มันก็เลิกมันก็ละในสังขารทั้งหลาย
ให้เพ่งดูในเรื่องสังขารทั้งหมด ความปรุงความแต่ง พิจารณาสังขาร
ปัญญาคือความรอบรู้ในกองสังขาร จึงเรียกว่าปัญญา
สิ่งใดเกิดขึ้นให้รู้มัน นั่งสมาธิเพ่งดู พอมันเคลื่อนจากที่หรือมันไหวปรุงขึ้นมา
เราต้องบอกเลย นั่นคือตัวสังขาร บางทีนั่งไปมันปวดแข้งปวดขา นี่ตัวสังขารทั้งหมด
สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
โลกนี้เป็นสังขารทั้งหมด สังขารความปรุงความแต่ง แต่งปรุงขึ้นแล้วก็ดับไป
สังขารเมื่อเปรียบก็เหมือนกับระลอกน้ำ คือมีตนมีตัว
เมื่อระลอกน้ำหมดลมพัดแล้วก็หายไป หายไปที่ไหน มันก็ไปในน้ำนั่นเอง
ร่างกายนี้ก็ปรุงขึ้นเป็นรูปเป็นนาม ถึงเวลาก็ดับลงไป
ลงไปไหน ดินก็เป็นดิน น้ำก็เป็นน้ำ ลมก็เป็นลม ไฟก็เป็นไฟ
อากาศธาตุก็เป็นอากาศ ก็ลงไปหมด นี่มันเป็นยังงั้น



เหตุนั้นท่านจึงให้รู้เท่าในกองสังขาร
นี่แหละผู้มีปัญญาย่อมรอบรู้ในกองสังขาร
สิ่งใดเกิดขึ้นให้รู้มันหมด ให้รู้เท่าในสังขาร ให้รู้เท่าวิญญาณ
เป็นผู้ปฏิสนธิ เป็นผู้ประกอบ เป็นผู้สัญญา
สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้แหละรู้มันให้หมด ให้เห็นว่าไม่เที่ยงทั้งหมด
สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัว
เราก็เพ่งให้มันรู้อยู่ยังงั้น อย่าให้มันเกิดได้ หากเกิดขึ้นมาก็ให้รู้เท่าทัน
จึงเรียกว่าวิปัสสนาญาณ คือความรู้ วิปัสสนาเพื่อรู้อันใดเล่า
ก็รู้ที่เกิดที่ดับของสังขาร รู้ทุกข์รู้โทษในสังขาร รู้ภัยในสังขาร
นี่แหละเกิดวิปัสสนาญาณ คือความรู้ที่เกิดดับในสังขาร
เกิดตรงไหนเราก็ดับตรงนั้น เกิดปั๊บดับพร้อม
ทีนี้เราเห็นทุกข์เห็นโทษในสังขาร ทุกข์โทษในสังขารคือความเกิดแก่เจ็บตาย
เราเห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสารนี้แล้ว มันก็ดับสังขารนั่นซี



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -



จาก “อาจาโรวาท” ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๕๐


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP