สารส่องใจ Enlightenment

พิจารณาทุกขเวทนา (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙



คนเราเหมือนกับต้นไม้
ถ้ารดน้ำให้ปุ๋ยอยู่เรื่อยๆ บำรุงอยู่โดยสม่ำเสมอ ก็มีความสดชื่นดี
และเติบโตขึ้นเร็วกว่าปกติธรรมดา ที่ทิ้งไว้ตามบุญตามกรรมไม่บำรุงรักษา
จิตใจเมื่อบำรุงรักษาโดยสม่ำเสมอก็มีความผ่องใส
มีความสงบเยือกเย็นเป็นลำดับๆ ไป
ถ้าขาดการอบรมก็เหมือนต้นไม้ที่ขาดการบำรุง
ขาดการอบรมในระยะใด ก็แสดงความอับเฉาเศร้าหมองขึ้นมา
เพราะสิ่งที่จะทำให้อับเฉาเศร้าหมองมันมีแทรกอยู่ภายในจิตใจของคนเราอยู่แล้ว



การบำรุงรักษาด้วยจิตตภาวนาโดยสม่ำเสมอ จิตจะมีความสงบเย็นขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อจิตมีความสงบ ความสงบกับความผ่องใส ก็เริ่มเป็นไปในระยะเดียวกัน
เมื่อจิตมีความสงบ เราจะพิจารณาไตร่ตรองอะไรก็ได้เหตุได้ผล
พอเข้าอกเข้าใจตามความจริงทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นทั้งภายนอกและภายในตัวเอง
หากจิตกำลังว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ จะคิดอะไรก็ไม่ได้เรื่องทั้งนั้นแหละ
ถูกก็เป็นผิดไป ผิดก็ยิ่งเป็นผิดไปเรื่อยๆ



ฉะนั้นท่านจึงสอนให้อบรม เพื่อจิตจะได้มีความสงบร่มเย็นและผ่องใส
มองเห็นเงาของตัว ราวกับน้ำที่ใสสะอาด
มองลงไปในน้ำ มีขวากมีหนาม มีสัตว์อะไรอยู่ในน้ำก็เห็นได้ชัด
แต่ถ้าน้ำขุ่นมองลงไปก็ไม่เห็น
ไม่ว่าจะเป็นขวากเป็นหนาม เป็นสัตว์หรืออะไรอยู่ในน้ำนั้น
เราไม่สามารถที่จะเห็นได้เลย



จิตใจก็เช่นเดียวกัน เมื่อกำลังขุ่นมัว
อะไรที่แฝงอยู่ภายในจิตใจมากน้อย ไม่สามารถที่จะมองเห็นโทษของมันได้
ทั้งๆ ที่มันเป็นโทษอยู่ภายในจิตใจของเราตลอดมา
เพราะจิตใจไม่ผ่องใส จิตใจขุ่นมัวไปด้วยอารมณ์อันเป็นตมเป็นโคลน
จึงพิจารณาไม่เห็น จึงต้องอบรมจิตให้มีความผ่องใส แล้วก็เห็น
“เงา” ของตัว


“เงา” นั้นมันแฝงอยู่ภายในจิต คืออาการต่างๆ ที่แสดงออกจากจิตนั่นแหละ
ท่านเรียกว่า “เงา” แล้วทำให้เราหลงติดอยู่เสมอในเงาของเราเอง
ซึ่งไปจากความคิดความปรุงต่างๆ ที่เป็นไปโดยสม่ำเสมอ และออกจากจิตอยู่ทุกเวล่ำเวลา
ทำให้เราเผลอตัวไปเรื่อยๆ เข้าใจว่าสิ่งนี้ก็เป็นเรา สิ่งนั้นก็เป็นเรา
อะไรๆ ก็เป็นเราไปหมด ทั้งๆ ที่เป็น “เงา” ไม่ใช่ตัวจริง!
แต่ความเชื่อถือหรือความหลงตามไปนั้น มันกลายเป็น “ตัวจริง” ไปเสีย
จึงเป็นผลขึ้นมาให้เราได้รับความเดือดร้อน


เวลานี้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายผู้เป็นที่เคารพบูชา
และเป็นหลักทางด้านปฏิบัติ และทางด้านจิตใจ
ก็นับว่าร่อยหรอลงไปโดยลำดับ
ที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้แต่ตัวท่านเองก็ไม่สามารถจะช่วยตัวท่านได้
เกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ชำรุดทรุดโทรมลงไปเป็นลำดับลำดา
อย่างท่านอาจารย์ขาวเป็นต้น เห็นแล้วก็รู้สึกสลดสังเวชเหมือนกัน



เรื่องธาตุเรื่องขันธ์เมื่อถึงเวลามัน “เพียบ” แล้ว
ก็เหมือนกับไม่เคยแข็งแรงเปล่งปลั่งอะไรมาก่อนเลย
นอนอยู่ก็เป็นทุกข์ นั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ อยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็เป็นทุกข์
เมื่อถึงคราวทุกข์รวมตัวกันเข้ามาแล้วในขันธ์ เป็นทุกข์กันทั้งนั้น
แต่พูดถึงท่านผู้เช่นนั้น ก็สักแต่ว่าเป็นไปตามธาตุตามขันธ์
ทางด้านจิตใจท่านไม่มีปัญหาอะไรกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ที่แสดงตัวต่างๆ เลย


แต่สำหรับพวกเรานั้นน่ะ มันคอยต้อนรับกันอยู่เสมอ
ไม่ว่าทางด้านจิตใจแสดงออก ไม่ว่าทางธาตุขันธ์แสดงออก
วิปริตผิดไปต่างๆ นานา จิตก็ผิดไปด้วย
เช่น ธาตุขันธ์วิกลวิการ จิตก็วิกลวิการไปด้วย ทั้งๆ ที่จิตก็ดีอยู่นั่นแหละ
ทั้งนี้ก็เพราะความหวั่นไหวของจิตนี่เอง
เนื่องจากสติปัญญาไม่ทันกับอาการต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว รอบจิต



ท่านจึงสอนให้อบรม “สติปัญญา” ให้มีความสามารถแกล้วกล้า
ทันกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิต และอาการต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว
ได้แก่ขันธ์แสดงตัวออกเป็นอาการวิปริตในส่วนต่างๆ ให้รู้เท่าทันกับสิ่งเหล่านั้น
ถ้าจิตไม่รู้เท่าทันเสียอย่างเดียว หรือจิตหลงไปตามสิ่งเหล่านั้นเสียอย่างเดียวเท่านั้น
ก็ชื่อว่า “เป็นการก่อทุกข์ให้ตัวเองอยู่ไม่หยุดไม่ถอย”
ความทุกข์ก็ต้องทับถมเข้ามาทางจิตใจ
แม้ร่างกายจะเป็นทุกข์ตามเรื่องของมันในหลักธรรมชาติก็ตาม
แต่ใจก็ต้องไป “คว้าเอาสิ่งนั้น” มาเป็นทุกข์เผาลนตนเอง
ถ้าไม่ได้พิจารณาให้รู้ทันกัน


จิตถ้ามีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาอยู่โดยสม่ำเสมอ ภัยที่จะเกิดขึ้นก็มีน้อย
เพราะเกิดในที่แห่งเดียวกัน คือ
“ จิต” “สติ” ก็มีอยู่ในที่แห่งเดียวกัน
ความรับทราบว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้น ดีหรือชั่ว เกิดขึ้นภายในตัว
“ปัญญา” เป็นผู้คลี่คลาย เป็นผู้พินิจพิจารณาและแก้ไขอารมณ์นั้นๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิต
เรื่องก็เริ่มสงบลงไป แต่ถ้าขาดสติ เรื่องจะสืบต่อกันไปเรื่อยๆ
แม้ความคิดความปรุงเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป กี่ครั้งกี่หนก็ตาม
แต่ “สัญญา ความสำคัญมั่นหมาย” นั้นจะไม่ดับ จะต่อกันเป็นสายยาวเหยียด
“ทุกข์” ก็ต้องสืบต่อกันเป็นสายยาวเหยียด
มารวมอยู่ที่ จิต จิตเป็นผู้รับทุกข์ทั้งมวลแต่ผู้เดียวอยู่ตลอดไป


เพราะ “กรรม” ทั้งหลายที่ “สัญญา” ที่ “สังขาร” คิดปรุงขึ้นมา
ใจจะเป็นภาชนะอันสำคัญสำหรับรับไว้ทั้ง “สุข” และ “ทุกข์” ส่วนมากก็รับทุกข์
ถ้าสติปัญญาไม่มีก็รับแต่ของเก๊ๆ ของทิ้ง ของใช้ไม่ได้ ของเป็นพิษเป็นภัยนั้นแล ไว้ในจิตใจ
ถ้ามีสติปัญญาก็เลือกเฟ้นออกได้
อันใดไม่ดี ก็เลือกเฟ้นตัดทิ้งออกไป สลัดตัดทิ้งออกไปเรื่อยๆ
เหลือแต่สิ่งที่เป็นสาระอยู่ภายในใจ ใจก็เย็น
ใจไม่เย็นด้วยน้ำ ไม่ได้สุขด้วยสิ่งภายนอก
แต่เย็นด้วยอรรถด้วยธรรม มีความสุขด้วยอรรถด้วยธรรม
ต้นเหตุก็คือมีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาใจ


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา "พิจารณาทุกขเวทนา"
ใน ธรรมชุดเตรียมพร้อม โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP