จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เป้าหมายผิด ทำให้ทุกข์


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



273 destination



ในช่วงก่อนวันหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมา
ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่ง ซึ่งเล่าว่าตนเองไปเที่ยวต่างจังหวัด
และได้แวะกราบไหว้พระและทำบุญในหลายวัด
แล้วก็ได้แวะซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาด้วย
โดยระหว่างที่กราบไหว้พระและทำบุญในหลายวัดนั้น
ตนเองได้อธิษฐานขอให้ตนเองถูกรางวัลที่หนึ่งด้วย


โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าญาติธรรมท่านนี้มีฐานะพอใช้ได้
โดยมีกินมีใช้อย่างสุขสบายพอสมควร และไม่ได้เดือดร้อนอะไร
จึงสอบถามว่าทำไมจึงต้องการที่จะถูกรางวัลที่หนึ่ง
ญาติธรรมท่านนี้ตอบว่าตนเองต้องการที่จะถูกรางวัลที่หนึ่ง
เพื่อที่จะได้มีเงินเพียงพอไว้ใช้ยามเกษียณได้อย่างสบาย


ผมได้ฟังเรื่องดังกล่าวแล้วก็อธิบายให้ญาติธรรมท่านนี้ว่า
คือถ้าเราไปกำหนดเป้าหมายว่าจะต้องถูกรางวัลที่หนึ่ง
จึงจะมีเงินเพียงพอไว้ใช้ยามเกษียณได้อย่างสบายแล้ว
ถามว่าโอกาสที่จะถูกรางวัลที่หนึ่งนั้นมีเพียงไร
เราคงตอบได้ว่ามีน้อยมาก ๆ (หรือแทบไม่มีเลย)
แล้วถ้าหากไม่ถูกรางวัลที่หนึ่งแล้ว
เท่ากับว่าเราจะไม่มีเงินเพียงพอไว้ใช้ยามเกษียณเช่นนั้นหรือ
โดยหากมองเช่นนี้แล้ว โอกาสที่เราจะมีเงินเพียงพอ
ไว้ใช้ยามเกษียณได้อย่างสบายนั้น มีน้อยมาก ๆ (หรือแทบไม่มีเลย)


ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ในระหว่างระยะเวลาการใช้ชีวิตในปัจจุบันนี้
เรื่อยไปจนถึงเวลาที่เกษียณเราก็ไม่มีความสุข
เพราะจะต้องห่วงกังวลว่าไม่มีเงินเพียงพอไว้ใช้ยามเกษียณ
แม้ว่าเราจะมีโอกาสได้ไปกราบไหว้พระในวัดต่าง ๆ ก็ตาม
แทนที่เราจะมีจิตใจสงบ ร่มเย็น จิตใจมีความสุขในเวลานั้น
แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เราถูกความโลภครอบงำใจ
เผาผลาญจิตใจต้องการได้รางวัลที่หนึ่ง
อยากจะมีเงินเพียงพอตามที่ต้องการ
เราจะไปวัดไหนหรือจะกราบไหว้พระที่ไหน ก็ต้องคอยขอให้ถูกรางวัล
เท่ากับว่าเราสูญเสียความสุขที่เราควรจะมีได้ในปัจจุบันไป
ในขณะที่โอกาสที่จะได้ความสุขที่ต้องการนั้น
มีน้อยมาก ๆ (หรือแทบไม่มีเลย)


อีกประการหนึ่ง เราสูญเสียโอกาสที่จะได้บุญกุศล
กล่าวคือในระหว่างที่ได้ไปกราบไหว้พระและทำบุญในสถานที่ต่าง ๆ นั้น
แทนที่เราจะได้บุญกุศลอย่างเต็มที่จากการกราบไหว้พระและทำบุญนั้น
เรากลับได้บุญกุศลน้อยลง หรืออาจจะไม่ได้บุญกุศลในคราวนั้นเลย
เพราะว่าเรามัวแต่ห่วงอธิษฐานขอให้ตนเองถูกรางวัลที่หนึ่ง


อีกประการหนึ่ง การที่เรามีเงินเยอะ ๆ ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันที่แน่นอน
ว่าเราจะมีเงินเพียงพอไว้ใช้ยามเกษียณได้อย่างสบาย
เพราะเงินทั้งหลายที่เรามีนั้นก็มีโอกาสสูญหาย ถูกโกง หรือถูกปล้นได้
ยกตัวอย่างว่า เราคงจะเคยเห็นข่าวมากมายที่ว่า
คนสูงอายุมีเงินเก็บจำนวนมากถูกเหล่ามิจฉาชีพหลวงลวงหรือโกงเงินไป
หรือแม้แต่ถูกลูกหลานตนเองโกงเงินไปก็ยังมี เป็นต้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาไปมากยิ่งขึ้น
โอกาสที่คนสูงอายุที่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน
จะถูกหลอกลวงหรือถูกโกงก็ยิ่งมีมากขึ้นไปด้วย


อีกประการหนึ่ง การที่เรามีเงินจำนวนมาก
ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องรู้สึกเพียงพอหรือมีความสุขกับเงินนั้นไปด้วย
เพราะตราบใดที่ใจเราไม่รู้สึกว่าเพียงพอ
ไม่ว่าเราจะมีเท่าไรก็ตาม เราก็ไม่มีทางที่จะรู้สึกเพียงพอได้
ใน “รัฐปาลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
ท่านรัฐปาละได้กล่าวคาถาว่า
“เราเห็นมนุษย์ทั้งหลายในโลกที่เป็นผู้มีทรัพย์
ได้ทรัพย์แล้วย่อมไม่ให้ เพราะความหลง
โลภแล้วย่อมทำการสั่งสมทรัพย์
และยังปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป
พระราชาทรงแผ่อำนาจชำนะตลอดแผ่นดิน
ทรงครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุด
มิได้ทรงรู้จักอิ่มเพียงฝั่งสมุทรข้างหนึ่ง
ยังทรงปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก”
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6825&Z=7248&pagebreak=0
โดยลักษณะเช่นนี้แล้ว เมื่อเรามีหมื่น ก็อยากจะมีแสน
เมื่อเรามีแสน ก็อยากจะมีล้าน เมื่อเรามีล้าน ก็อยากจะมีสิบล้าน
เป็นเช่นนี้เรื่อยไปโดยไม่มีวันสิ้นสุด


โดยสรุปแล้ว การที่จะมุ่งหวังฝากชีวิตในวัยเกษียณไว้
กับสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่งเลยครับ
เพราะเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นต่ำมาก ๆ (หรือไม่มีเลย)
แต่กลับทำให้เราสูญเสียความสุขในปัจจุบันโดยทันที
ในเรื่องนี้ สิ่งที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์สำหรับเรา
และสมควรที่จะทำคือ การพัฒนาและเตรียมความพร้อม
สำหรับตนเองในหลาย ๆ เรื่อง ได้แก่ เรื่องเป้าหมายชีวิต
เรื่องการปฏิบัติและการภาวนา เรื่องจิตใจ เรื่องสุขภาพ
เรื่องวิถีการดำเนินชีวิตอย่างมักน้อยและสันโดษ
เรื่องบุตรหลาน เรื่องการเงินและอาชีพ
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเรื่องการเงินนั้นเป็นเพียงเรื่องหนึ่ง
ในหลาย ๆ เรื่องที่เราควรจะต้องเตรียมความพร้อม
แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่จะช่วยให้เรามีชีวิตมีความสุขได้
ในรายละเอียดของการเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้สูงวัยนั้น
ผมเคยเขียนบทความเรื่อง “เตรียมตัวเป็นผู้สูงวัย” ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้
โดยท่านที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ครับ
http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/1179-2015-04-23-07-52-05



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP