จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๒๗๐ ปฏิบัติเอาความจริง หรือ ปฏิบัติเอาตามอยาก



270 talk



ช่วงแรกของการเจริญสติปัฏฐา
ซึ่งเป็นแนวรู้ตามจริงแบบพระพุทธเจ้า
สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจ
และตกลงกับตัวเองให้ได้
คือ ยอมรับตามจริง
เท่าที่มันจริงให้ดูอยู่เดี๋ยวนั้น


ดูเผินๆเหมือนง่าย
แต่เอาเข้าจริงยากมาก
สำหรับเราๆท่านๆที่เคยชิน
กับการพยายามเอาอะไรดีๆเข้าตัว
วันไหนนั่งสมาธิได้ดี
ก็เอาวันนั้นเป็นตัวตั้งสำหรับวันต่อๆมา
พยายามเอาความรู้สึกในวันที่ทำได้ดีกลับมาใหม่
ซึ่งเท่ากับพยายามก๊อปของเก่ามาเป็นของใหม่
เอาอนัตตาเก่าๆในอดีตที่ผ่านล่วงไปแล้ว
มาแทนที่ภาวะที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน
สิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่ดู
จะดูของเก่าที่พยายามปั้นขึ้นมาใหม่
ซึ่งยิ่งทำนานขึ้นเท่าไร
สติของจริงยิ่งริบหรี่
กลายเป็นภวตัณหา
อยากให้ตัวเองได้ดิบได้ดี
อยากมี หรืออยากเป็นอะไรอย่างหนึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ


ที่ถูก คือ เราควรทำใจไว้ชิวๆแต่แรก
สร้างเหตุเดิม
แต่สังเกตผลต่าง
ตามที่มันเกิดขึ้นจริงๆ
ถ้าวันนี้ไม่ได้เหมือนเดิม
แปลว่าอนัตตากำลังแสดงความต่างให้ดู
ของมันมีให้ดูอย่างไร
ก็ยอมรับตามจริงไปสบายๆอย่างนั้น
อาจจะสรุปกับตัวเองตอนท้ายด้วยว่า
หากมีแต่ภาวะที่เป็นสุข ควบคุมได้ดังใจ
ก็ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้ามาสอนให้ดูความไม่เที่ยง
สอนว่าอย่าเป็นทุกข์กับสิ่งที่ไม่เที่ยง


สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราเข้าใจถูก
คือ มีสติเห็นตามจริง
บางวันถ้ามีเหตุปัจจัยให้สงบง่าย
ชีวิตไม่วุ่นวาย หายใจเข้าออกไม่คิดมาก
เรานั่งสมาธิแป๊บเดียวก็สงบ
บางวันถ้ามีเหตุปัจจัยให้วุ่นวาย
ชีวิตไม่สงบ คิดมาก หวังมากอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ยิ่งนั่งสมาธินานเท่าไร ก็ยิ่งปั่นป่วนมากเท่านั้น


การติดตั้งสัมมาทิฏฐิทางการเจริญสติไว้อย่างนี้
จะทำให้ทุกวันเรา ‘ได้ปัญญา’
และ ‘สละตัณหา’ ออกจากใจได้ทุกครั้ง
ที่นั่งสมาธิหรือเดินจงกรม
ซึ่งก็หมายความว่า
เพิ่มความสามารถในการทิ้งอุปาทาน
มาเห็นกายใจตามจริงว่า ไม่เที่ยง เป็นเท็จ
และเริ่มรู้ขึ้นมารำไรว่า
ยังมีธรรมชาติอีกอย่างที่อยู่พ้นกายใจออกไป
คือ นิพพาน ที่เที่ยง และเป็นที่สุดของความจริง!



ดังตฤณ
พฤศจิกายน ๒๕๖๒






review


การปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้
ย่อมนำไปสู่ความพ้นทุกข์อันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด
ดังความตามพระธรรมเทศนา
โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง "รู้อสุภะ รู้อย่างไร (ตอนที่ ๓)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" ค่ะ (-/\-)


ควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะลดความยึดมั่นถือมั่น
จนสามารถตัดใจจากคนที่มีเจ้าของแล้วได้อย่างเด็ดขาด
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรจะตัดใจจากคนที่ไม่มีสิทธิ์รักได้"


เมื่อธุรกิจส่วนตัวกำลังประสบปัญหายอดขาย
และสินเชื่อที่รอการอนุมัติก็ยังไม่มีคำตอบ
แล้วจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร
ติดตามได้จากกรณีศึกษาใน "โหรา(ไม่) คาใจ" ตอน "ขาดสภาพคล่อง"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP