สารส่องใจ Enlightenment

รู้อสุภะ รู้อย่างไร (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาดจ.อุดรธานี

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑



รู้อสุภะ รู้อย่างไร (ตอนที่ )(คลิก)


สมาธิก็อธิบายบ้างแล้ว คำว่าสมาธิคือความแน่นหนามั่นคงของใจ
เริ่มตั้งแต่ความสงบสุขเล็กๆ น้อยๆ ของใจขึ้นไปจนถึงความสงบสุขละเอียดมั่นคง
ใจถ้าไม่ได้ฝึกหัด ไม่ได้ดัดแปลง ไม่ได้บังคับทรมานด้วยอุบายต่างๆ
มี สติ
, ปัญญา, ศรัทธา, ความเพียร เป็นเครื่องหนุนหลังแล้ว
จะหาความสงบไม่ได้จนกระทั่งวันตาย ตายก็ตายไปเปล่าๆ
ตายด้วยความฟุ้งซ่านวุ่นวายส่ายแส่กับอารมณ์ร้อยแปด ไม่มีสติรู้สึกตัว
ตายด้วยความไม่มีหลักมีเกณฑ์เป็นที่ยึดอาศัย
ตายแบบว่าวเชือกขาดอยู่บนอากาศ ตามแต่จะถูกลมพาพัดไปไหน
แม้ยังอยู่ก็อยู่ด้วยความไม่มีหลักมีเกณฑ์
เพราะความลืมตัวประมาทหาเหตุผลเป็นเครื่องดำเนินไม่ได้ อยู่แบบเลื่อนลอย
คนเราทั้งคนถ้าอยู่แบบเลื่อนลอยไม่หาหลักที่ดียึด ก็ต้องไปแบบเลื่อนลอย
จะเกิดผลประโยชน์อะไร หาความดีความแน่ใจในคติของตนที่ไหนได้
เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่รู้ๆ อยู่อย่างนี้
จงสร้างความแน่นอนขึ้นที่ใจของเรา ด้วยความเป็นผู้หนักแน่นในสารคุณทั้งหลาย
จะแน่ตัวเองทั้งยังอยู่ทั้งเวลาตายไป
ไม่สะทกสะท้านหวั่นไหวกับความเป็นความตาย
ความพลัดพรากจากสัตว์แลสังขารที่ใครๆ ต้องเผชิญด้วยกัน เพราะมีอยู่กับทุกคน


ปัญญาไม่ใช่จะเกิดขึ้นในลำดับที่สมาธิคือความสงบใจเกิดขึ้นแล้ว
แต่ต้องอาศัยความฝึกหัดคิดค้นคว้าความพินิจพิจารณา ปัญญาจึงจะเกิดขึ้น
โดยอาศัยสมาธิเป็นเครื่องหนุนอยู่แล้ว
ลำพังสมาธินั้นจะไม่กลายเป็นปัญญาขึ้นมาได้ ต้องเป็นสมาธิอยู่ โดยดี
ถ้าไม่ใช้ปัญญาพิจารณาต่างหาก
สมาธิเพียงทำให้จิตมีความเอิบอิ่มมีความสงบตัว
มีความพอใจกับอารมณ์คือสมถธรรม
ไม่หิวโหยในความคิดโน้นคิดนี้ ไม่วุ่นวายส่ายแส่เท่านั้น
เพราะจิตที่มีความสงบย่อมมีความเย็น
ย่อมเอิบอิ่มในธรรมตามฐานแห่งความสงบของตน
แล้วนำจิตที่มีความอิ่มในสมถธรรมนั้นออกพิจารณา
คลี่คลายดูสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา
ซึ่งในโลกนี้ไม่มีอันใดจะเหนือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไปได้
มันเต็มไปด้วยสภาพเดียวกัน
จงใช้ปัญญาพินิจพิจารณา จะเป็นแง่ใดก็ตาม
ตามแต่จริตนิสัยที่ชอบพอกับการพิจารณาในแง่นั้นๆ
โดยยกสิ่งนั้นขึ้นมาพิจารณาคลี่คลายด้วยความสนใจ
ใคร่รู้ใคร่เห็นตามความจริงของมันจริงๆ
อย่าสักแต่พิจารณาโดยปราศจากเจตนาปราศจากสติกำกับ



เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอสุภะกับจิตที่เต็มไปด้วยราคะความกำหนัดยินดี
นี้เป็นคู่ปรับหรือคู่แก้กันได้ดีและดีมาก
จิตมีราคะมากเพียงไรให้พิจารณาอสุภะอสุภังมากเพียงนั้นหนักเพียงนั้น
จนกลายเป็นป่าช้าผีดิบขึ้นให้เห็นประจักษ์ใจในร่างกายของเขาของเราทั่วโลกดินแดน
ราคะตัณหานั้นจะกำเริบขึ้นไม่ได้เมื่อปัญญาหยั่งรู้ว่ามีแต่ปฏิกูลเต็มตัว
ใครจะไปกำหนัดยินดีในปฏิกูล
ใครจะไปกำหนัดยินดีในสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม ในสิ่งที่อิดหนาระอาใจ
นี่เป็นยาระงับอสุภะอสุภังประการหนึ่ง
เป็นยาแก้โรคราคะตัณหาขนานเอกขนานหนึ่ง
เมื่อพิจารณาสมบูรณ์เต็มที่แล้วให้จิตสงบตัวลงไปในวงแคบ



เมื่อจิตได้พิจารณาอสุภะอสุภังหลายครั้งหลายหน จนเกิดความชำนิชำนาญ
พิจารณาคล่องแคล่วว่องไวทั้งรูปภายนอกทั้งรูปภายใน
จะพิจารณาให้เป็นอย่างไรก็เป็นได้อย่างรวดเร็ว
แล้วจิตก็จะรวมตัวเข้ามาสู่อสุภะภายใน
และจะเห็นโทษแห่งอสุภะที่ตนวาดภาพไว้นั้นว่า เป็นเรื่องมายาประเภทหนึ่ง
แล้วปล่อยวางทั้งสองเงื่อน คือเงื่อนอสุภะและเงื่อนสุภะ



ทั้งสุภะทั้งอสุภะสองประเภทนี้ เป็นสัญญาคู่เคียงกันกับเรื่องของราคะ
เมื่อพิจารณาเข้าใจทั้งสองเงื่อนนี้เต็มที่แล้ว
คำว่าสุภะก็สลายตัวลงไปหาความหมายไม่ได้
คำว่าอสุภะก็สลายตัวลงไปหาความหมายไม่ได้
ผู้ที่ให้ความหมายว่าเป็นสุภะก็ดี อสุภะก็ดี ก็คือใจ ก็คือสัญญา
สัญญาก็รู้เท่าแล้วว่าเป็นตัวหมาย เห็นโทษแห่งตัวหมายนี้แล้ว
ตัวหมายนี้ก็ไม่สามารถที่จะหมายออกไปให้ใจติดและยึดถือได้อีก
นั่น เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตก็ปล่อยวางทั้งสุภะทั้งอสุภะ คือทั้งสวยงามทั้งไม่สวยงาม
โดยเห็นเป็นเพียงตุ๊กตา เครื่องฝึกซ้อมของใจของปัญญาในขณะที่จิตยังยึด
และปัญญาพิจารณาเพื่อถอดถอนยังไม่ชำนาญเท่านั้น



เมื่อจิตชำนาญ รู้เหตุผลทั้งสองประการ คือสุภะอสุภะนี้แล้ว
ยังสามารถย้อนมาทราบเรื่องความหมายของตนที่ออกไปปรุงแต่งว่า
นั้นเป็นสุภะนั่นเป็นอสุภะอีกด้วย
เมื่อทราบความหมายนี้อย่างชัดเจนแล้ว ความหมายนี้ก็ดับลงไป
และเห็นโทษแห่งความหมายนี้อย่างชัดเจนว่านี้คือตัวโทษ
อสุภะไม่ใช่ตัวโทษ สุภะไม่ใช่ตัวโทษ
ความสำคัญว่าเป็นสุภะอสุภะต่างหากเป็นตัวโทษ เป็นตัวหลอกลวงเป็นตัวให้ยึดถือ
นั่นมันย่นเข้ามา นี่การพิจารณาย่นเข้ามาอย่างนี้และปล่อยวางโดยลำดับ



เมื่อจิตเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะกำหนดสุภะหรืออสุภะก็ปรากฏขึ้นอยู่ที่จิต
โดยไม่ต้องไปแสดงภาพภายนอกเป็นเครื่องฝึกซ้อมอีกต่อไป
เช่นเดียวกับเราเดินทางและผ่านสายทางไปโดยลำดับฉะนั้น
นิมิตเห็นปรากฏอยู่ภายในจิต ในขณะที่ปรากฏอยู่ภายในจิตนั้นก็ทราบแล้วว่า
สัญญาตัวนี้หมายขึ้นมาได้แค่นี้ ไม่สามารถออกไปหมายข้างนอกได้
แม้จะปรากฏขึ้นมาภายในจิตก็ทราบได้ชัดว่า
สภาพที่ปรากฏเป็นสุภะอสุภะนี้ ก็เกิดขึ้นจากตัวสัญญาอีกเช่นเดียวกัน
รู้ทั้งภาพที่ปรากฏขึ้นอยู่ภายในใจ
รู้ทั้งสัญญาที่หมายตัวขึ้นมาเป็นภาพภายในใจอีกด้วย
สุดท้ายภาพภายในใจนี้ก็หายไป
สัญญาคือความสำคัญความหมายขึ้นมานั้นก็ดับไป
รู้ได้ชัดว่าเมื่อสัญญาตัวเคยหลอกลวงว่าเป็นสุภะอสุภะ
และเป็นอะไรต่ออะไรไม่มีประมาณ หลอกให้หลงทั้งสองเงื่อนนี้ ดับไปแล้ว
สัญญาก็ดับไปด้วย ไม่มีอะไรจะมาหลอกใจอีก
นี่การพิจารณาอสุภะ พิจารณาอย่างนี้ตามหลักปฏิบัติ
แต่เราจะไปหาในคัมภีร์หาที่ไหนก็ไม่เจอ
นอกจากหาความจริงในหลักธรรมชาติที่มีอยู่กับกายกับใจ
อันเป็นที่สถิตแห่งสัจธรรมและสติปัฏฐานสี่เป็นต้น
และสรุปลงในคัมภีร์ที่ใจนี้ จะเจอดังที่อธิบายมานี้



นี่เป็นรูป รูปกายก็ทราบได้ชัดว่า กายของเราทุกส่วนนี้ก็เป็นรูป
มีอะไรบ้างในรูปนี้ อวัยวะทุกส่วนเป็นรูปทั้งนั้น
ไม่ว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ม้าม หัวใจ ตับ ปอด พังผืด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
ล้วนแล้วแต่เป็นรูป เป็นสิ่งหนึ่งต่างหากจากใจ
จะพิจารณาเป็นอสุภะ มันก็ตัวอสุภะอยู่แล้วตั้งแต่เรายังไม่ได้พิจารณา
และคำที่ว่าสิ่งนี้เป็นสุภะสิ่งนั้นเป็นอสุภะ ใครเป็นผู้ไปให้ความหมาย
สิ่งเหล่านี้เขาหมายตัวของเขาเองเมื่อไร
เขาบอกว่าเขาเป็นสุภะ เขาบอกว่าเขาเป็นอสุภะเมื่อไร
เขาไม่ได้หมายไม่ได้บอกว่าอย่างไรทั้งสิ้น
อันใดจริงอยู่อย่างไรมันก็จริงอยู่ตามสภาพของเขาอย่างนั้นมาดั้งเดิม
และเขาเองก็ไม่ทราบความหมายของเขา
ผู้ไปทราบความหมายในเขาก็คือสัญญา
ผู้หลงความหมายในเขาก็คือสัญญาเอง ซึ่งออกจากใจตัวหลงๆ
เมื่อมารู้เท่าสัญญาอันนี้แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็หายไปอีก ต่างอันก็ต่างจริง
นี่คือความรู้เท่าหรือการรู้เท่าเป็นอย่างนี้



เวทนาคือความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ที่เกิดขึ้นจากร่างกาย
กายก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ทุกข์ยังไม่เกิด
ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป กายก็เป็นกาย ทุกข์ก็เป็นทุกข์
ต่างอันต่างจริง พิจารณาแยกแยะให้เห็นตามความจริง
สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่ากาย ไม่นิยมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล
เป็นเรา เป็นเขา เป็นของเราเป็นของเขา หรือของใคร
เวทนาก็ไม่ใช่เรา ไม่เป็นของเรา ไม่เป็นของเขา ไม่เป็นของใคร
เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาชั่วขณะ แล้วดับไปชั่วกาลเท่านั้นตามสภาพของเขา
ความจริงเป็นอย่างนี้



สัญญาคือความจำได้ จำได้เท่าไรไม่ว่าจำได้ใกล้ได้ไกล
จำได้ทั้งอดีตอนาคต ปัจจุบัน จำได้เท่าไรความดับก็ไปพร้อมๆ กัน
ดับไปๆ เกิดแล้วดับๆ จะมาถือว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลที่ไหน
นี่หมายถึงปัญญาขั้นละเอียดพิจารณาหยั่งทราบเข้าไปตามความจริง
ประจักษ์ใจตัวเองโดยไม่ต้องไปถามใคร



สังขารคือความคิดความปรุง ปรุงดีปรุงชั่วปรุงกลางๆ
ปรุงเรื่องอะไรก็มีแต่เรื่องเกิดเรื่องดับๆ หาสาระอะไรจากความปรุงนี้ไม่ได้
ถ้าสัญญาไม่รับช่วงไปให้เกิดเรื่องเกิดราว สัญญาก็ทราบชัดเจนแล้ว
อะไรจะไปปรุงไปรับช่วงไปยึดไปถือให้เป็นเรื่องยืดยาวต่อไปเล่า
ก็มีแต่ความเกิดความดับภายในจิตเท่านั้น
นี่คือสังขารมันเป็นความจริงอันหนึ่ง อันนี้ท่านเรียกว่าสังขารขันธ์
ขันธ แปลว่ากอง แปลว่าหมวด รูปขันธ์ แปลว่ากองแห่งรูป
สัญญาขันธ์ แปลว่ากองแห่งสัญญา หมวดแห่งสัญญา
สังขารขันธ์ คือกองแห่งสังขาร หมวดแห่งสังขาร



วิญญาณขันธ์ คือหมวดหรือกองแห่งวิญญาณที่รับทราบในขณะสิ่งภายนอกเข้ามาสัมผัส
เช่น ตาสัมผัสรูป เป็นต้น เกิดความรู้ขึ้น พอสิ่งนั้นผ่านไปความรับรู้นี้ก็ดับไป
ไม่ว่าจะรับรู้สิ่งใดย่อมพร้อมที่จะดับด้วยกันทั้งนั้น
จะหาสาระแก่นสารและสำคัญว่าเป็นเราเป็นของเราที่ไหนได้กับขันธ์ทั้งห้านี้



เรื่องของขันธ์ทั้งห้านี้เป็นอย่างนี้
มีอย่างนี้ปรากฏอย่างนี้ และเกิดขึ้นดับไปๆ สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ
อย่างนี้ตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ หาสาระอะไรจากเขาไม่ได้เลย
นอกจากจิตใจไปสำคัญมั่นหมาย แล้วยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตนเป็นของตน
แล้วแบกให้หนักยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูกขึ้นมาภายในใจเท่านั้น
ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องตอบรับหรือเป็นเครื่องสนอง
ความสนองก็คือสนองความทุกข์นั้นเอง เพราะความหลงของตนพาให้สนอง



เมื่อจิตได้พิจารณาเห็นสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจน ด้วยปัญญาอันแหลมคมแล้วนั้น
รูปก็จริงตามรูปโดยหลักธรรมชาติประจักษ์ด้วยปัญญา
เวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ ในส่วนร่างกายก็รู้ชัดตามเป็นจริงของมัน
เวทนาทางใจคือความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ที่เกิดขึ้นภายในใจ
นั่นเป็นสาเหตุให้จิตสนใจพินิจพิจารณา
แม้จะยังไม่รู้เท่าทันสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นเครื่องเตือนจิตให้พิจารณาอยู่เสมอ
เพราะขั้นนี้ยังไม่สามารถที่จะรู้เท่าทันเวทนาภายในจิตได้
คือ สุข ทุกข์ เฉยๆ ภายในจิตโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับเวทนาทางกาย



วิญญาณก็สักแต่ว่าต่างอันต่างจริง นี่ชัดแล้วตามความเป็นจริง
จิตหายสงสัยที่จะยึดจะถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตนอีกต่อไป
เพราะต่างอันต่างจริงแม้จะอยู่ด้วยกัน
ก็เช่นเดียวกับผลไม้หรือไข่เราวางลงในภาชนะ
ภาชนะก็ต้องเป็นภาชนะ ไข่ที่อยู่ในนั้นก็เป็นไข่ ไม่ใช่อันเดียวกัน
จิตก็เป็นจิตซึ่งอยู่ในภาชนะ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอันนี้
แต่ไม่ใช่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หากเป็นจิตล้วนๆ อยู่ภายในนั้น
นี่เวลาแยกชัดเจนแล้วระหว่างขันธ์กับจิตเป็นอย่างนั้น



ทีนี้เมื่อจิตได้เข้าใจในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อย่างชัดเจนหาที่สงสัยไม่ได้แล้ว
ก็จะมีแต่ความกระดิกพลิกแพลงความกระเพื่อมภายในจิตโดยเฉพาะๆ
ความกระเพื่อมนั้นก็คือสังขารอันละเอียดที่กระเพื่อมอยู่ภายในจิต
สุขอันละเอียดที่ปรากฏขึ้นภายในจิต ทุกข์อันละเอียดที่ปรากฏภายในจิต
สัญญาอันละเอียดที่ปรากฏขึ้นภายในจิตมีอยู่เพียงเท่านั้น
จิตจะพิจารณาแยกแยะกันอยู่ตลอดเวลาด้วยสติปัญญาอัตโนมัติ
คือจิตขั้นนี้เป็นจิตที่ละเอียดมาก ปล่อยวางสิ่งทั้งหลายหมดแล้ว
ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้าไม่มีเหลือเลย แต่ยังไม่ปล่อยวางตัวเองคือความรู้
แต่ความรู้นั้นยังเคลือบแฝงด้วยอวิชชา



นั่นแหละท่านว่าอวิชชารวมตัว รวมอยู่ที่จิต หาทางออกไม่ได้
ทางเดินของอวิชชาก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
เพื่อไปสู่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส
เมื่อสติปัญญาสามารถตัดขาดสิ่งเหล่านี้เข้าไปได้โดยลำดับๆ แล้ว
อวิชชาไม่มีทางเดิน ไม่มีบริษัทบริวาร จึงยุบๆ ยิบๆ หรือกระดุบกระดิบอยู่ภายในตัวเอง
โดยอาศัยจิตเป็นที่ยึดที่เกาะโดยเฉพาะ เพราะหาทางออกไม่ได้
แสดงออกเป็นสุขเวทนาอย่างละเอียดบ้าง ทุกขเวทนาอย่างละเอียดบ้าง
แสดงเป็นความผ่องใสซึ่งแปลกประหลาดอัศจรรย์อย่างยิ่ง
ในเมื่อปัญญายังไม่รอบและทำลายยังไม่ได้บ้าง จิตก็พิจารณาอยู่ที่ตรงนั้น



แม้จะเป็นความผ่องใสและสง่าผ่าเผยเพียงไรก็ตาม
ขึ้นชื่อว่าสมมุติจะละเอียดขนาดไหน ก็จะต้องแสดงอาการอันใดอันหนึ่งขึ้นมา
ให้เป็นที่สะดุดจิต พอจะให้คิดอ่าน หาทางแก้ไขจนได้
เพราะฉะนั้น สุขก็ดีทุกข์ก็ดีอันเป็นของละเอียดเกิดขึ้นภายในจิตโดยเฉพาะ
ตลอดความอัศจรรย์ ความสว่างไสวซึ่งมีอวิชชาเป็นตัวการ
แต่เพราะความไม่เคยรู้เคยเห็น เมื่อพิจารณาเข้าไปถึงจุดนั้นจึงหลงยึด
และจึงถูกอวิชชากล่อมเอาอย่างหลับสนิท
โดยหลงยึดถือความผ่องใสเป็นต้นนั้นว่าเป็นเรา
ความสุขนั้นก็เป็นเรา ความอัศจรรย์นั้นก็เป็นเรา
ความสง่าผ่าเผยที่เกิดขึ้นจากอวิชชาซึ่งฝังอยู่ภายในจิตนั้นก็เป็นเรา
เลยถือจิตทั้งอวิชชาเป็นเราโดยไม่รู้สึกตัวเสียทั้งดวง



แต่ก็ไม่นาน เพราะอำนาจของมหาสติมหาปัญญาอันเป็นธรรมไม่นอนใจอยู่แล้ว
คอยสอดคอยส่องคอยพินิจพิจารณาแยกแยะไปมาอยู่อย่างนั้น
ตามนิสัยของสติปัญญาขั้นนี้ กาลหนึ่งเวลาหนึ่งต้องทราบได้แน่นอน
โดยทราบถึงเรื่องสุขที่แสดงขึ้นเล็กๆ น้อยๆ อันเป็นเรื่องผิดปกติ
ทุกข์แสดงขึ้นนิดๆ หน่อยๆ อย่างละเอียด ตามขั้นของจิตก็ตาม
ก็พอเป็นเครื่องสะดุดจิตให้ทราบได้ว่า เอ๊ะ ทำไมจิตจึงมีอาการเป็นอย่างนี้ ไม่คงเส้นคงวา
ความสง่าผ่าเผยที่แสดงอยู่ภายในจิต ความอัศจรรย์ที่แสดงอยู่ภายในจิต
ก็แสดงความวิปริตผิดจากปกติขึ้นมาเล็กๆ น้อยๆ พอให้สติปัญญาขั้นนี้จับได้อยู่นั่นเอง



เมื่อจับได้ก็ไม่ไว้ใจและกลายเป็นจุดที่ควรพิจารณาขึ้นมาในขณะนั้น
จึงตั้งจิตคือความรู้ประเภทนี้เป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา
เมื่อสติปัญญาขั้นนี้ได้จ่อลงไปถึงจุดนี้ว่านี้คืออะไร
สิ่งทั้งหลายได้พิจารณามาแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง
จนสามารถถอดถอนมันได้เป็นขั้นๆ
แต่ธรรมชาติที่รู้ๆ ที่สว่างไสวที่อัศจรรย์นี้คืออะไร อันนี้มันคืออะไรกันแน่
สติปัญญาจ่อลงไปพิจารณาลงไป
จุดนี้จึงเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณาอย่างเต็มที่
และจุดนี้จึงกลายเป็นสนามรบของสติปัญญาอัตโนมัติขึ้นมาในขณะนั้น
ไม่นานนักก็สามารถทำลายจิตอวิชชาดวงประเสริฐ
ดวงอัศจรรย์สง่าผ่าเผยตามหลักอวิชชาให้แตกกระจายออกไปโดยสิ้นเชิง
ไม่มีสิ่งใดเหลือค้างอยู่ภายในใจแม้ปรมาณูอีกต่อไป



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/2LRLolp


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP